98
“5 วิธีสอนลูก” ป้องกันตัวเองให้ปลอดภัย !!

“5 วิธีสอนลูก” ป้องกันตัวเองให้ปลอดภัย !!

โพสต์เมื่อวันที่ : September 9, 2024

วันนี้เรามีทริคมาแนะนำให้คุณพ่อ-เเม่ นำไปสอนลูก ๆ กับ “5 วิธีปกป้องตัวเองให้ปลอดภัย” จากมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก ที่มีคำแนะนำดี ๆ ให้กับคุณพ่อ-แม่ เเละเด็ก ๆ ได้รู้จักการประเมินสถานการณ์และปกป้องตนเองจากสถานการณ์อันตรายต่าง ๆ เพื่อดูแลปกป้องตนเองให้ปลอดภัย โดยเฉพาะภัยที่มาจากบุคคล ที่เกิดขึ้นได้ทั้งจากคนใกล้ตัว และคนแปลกหน้า ดังนี้

1. สัมผัสที่ดี /สัมผัสไม่ดี (Safe Touch / Unsafe Touch)

  • สัมผัสที่ดีและปลอดภัย คือ สัมผัสที่ทำให้เรารู้สึกดี รู้สึกชอบ อบอุ่นและปลอดภัย เช่น พ่อแม่โอบกอด ผู้ใหญ่จูงมือข้ามถนน ลูบหัวปลอบเวลาเศร้า คุณหมอจับตัวตรวจรักษาเวลาเจ็บป่วย
  • สัมผัสที่ไม่ดีและไม่ปลอดภัย คือ สัมผัสในพื้นที่ร่างกายส่วนตัวของเรา เช่น บริเวณก้น อวัยวะเพศ หน้าอก ริมฝีปาก ใบหน้า เป็นพื้นที่ที่ห้ามใครมาสัมผัส หรือขอดู และการสัมผัสที่ทำให้เรารู้สึกไม่ดี รุนแรง ทำให้เรารู้สึกกลัว รู้สึกแปลก ๆ ไม่อบอุ่น และไม่ปลอดภัย
  • ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม คนในครอบครัว ญาติพี่น้อง เพื่อน เพื่อนผู้ปกครอง เพื่อนบ้าน ฯลฯ ไม่ควรมาจับหรือสัมผัสในพื้นที่ร่างกายส่วนตัวของเราเป็นอันขาด
  • หากเราได้รับการสัมผัสที่ไม่ดีและไม่ปลอดภัยจากใครก็ตาม ไม่ควรปกปิด เป็นความลับ ควรบอกกับพ่อแม่ผู้ปกครอง หรือผู้ใหญ่ที่ไว้ใจได้รู้และช่วยเหลือทันที

 

2. คนแปลกหน้าไม่ใช่มิตร

  • ไม่พูดคุยกับคนแปลกหน้า ถ้าพ่อแม่ไม่อยู่ด้วย
  • ไม่รับสิ่งของใด ๆ จากคนแปลกหน้า
  • ไม่ไปไหนกับคนแปลกหน้า
  • ไม่กระทำตามที่คนแปลกหน้าร้องขอ

 

3. คำถาม 3 ข้อก่อนตัดสินใจ

เมื่อมีคนที่เรารู้จัก คนใกล้ตัว หรือคนแปลกหน้า มาชวนให้เราไปไหน หรือไปทำอะไร เด็ก ๆ ควรตัดสินใจโดยใช้คำถาม 3 ข้อ ถามตัวเอง ได้แก่

  • หนูรู้สึกดีหรือไม่ดี
  • ถ้าหนูทำตามที่คน ๆ นั้นขอหรือชวน ผู้ปกครองจะรู้หรือไม่ว่าเราทำสิ่งนั้นหรือไปไหน
  • ถ้าหนูทำตามที่คน ๆ นั้นขอหรือชวน แน่ใจมั๊ยว่าถ้าเกิดอะไรขึ้น จะมีคนมาช่วยเราในทันที

 

หากมีคำตอบข้อใดข้อหนึ่งตอบว่า 'ไม่' ให้ปฏิเสธคำชวนนั้นทันที และมาเล่าให้ผู้ปกครองฟัง

4. ร้องตะโกน / วิ่งหนี / บอกเล่า

  • ตะโกนดังๆ : เมื่อมีคนมาปฏิสัมพันธ์กับเรา มาพูดคุย หรือกระทำอะไรบางอย่าง แล้วทำให้เรารู้สึกไม่ดี หรือไม่ปลอดภัย ให้ร้องตะโกนดัง ๆ อย่างชัดเจน ว่า 'ไม่' 'หยุดนะ' หรือ 'ช่วยด้วย' เพื่อหยุดการกระทำของผู้กระทำ
  • วิ่งหนี : หลังจากตะโกนดัง ๆ แล้วให้รีบหนีออกจากสถานการณ์เสี่ยง หรือ หนีออกจากคน ๆ นั้นโดยเร็ว
  • บอกเล่า : ให้รีบมาบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้ผู้ใหญ่หรือคนที่คิดว่าจะช่วยเราได้ทันที

 

5. เล่าเรื่องราว

เมื่อใดก็ตามที่เกิดเหตุการณ์ไม่ดีขึ้นกับเรา เราจะต้องรีบบอกให้ผู้ใหญ่ที่เราไว้ใจรับรู้ โดยให้เล่าเหตุการณ์ว่ามีใคร มาทำอะไรเรา เหตุการณ์เกิดขึ้นที่ไหน และเมื่อไหร่ เรารู้สึกอย่างไร สิ่งสำคัญ คือ เราต้องสังเกตว่าคนที่เราเล่าให้ฟังนั้นเขาเชื่อ และจะช่วยเหลือเราหรือไม่ 

 

หากไม่ ให้เราหาผู้ใหญ่คนอื่นแล้วเล่าให้เขาฟังจนกว่าจะมั่นใจว่าจะมีผู้ใหญ่มาช่วยเหลือ หรือโทรศัพท์ขอรับความช่วยเหลือจากหน่วยงาน เช่น ศูนย์ช่วยเหลือสังคม โทร. 1300

 

ขอบคุณที่มา : มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก