3104
ช่วยลูกเข้าใจและจัดการความรู้สึกตนเอง

ช่วยลูกเข้าใจและจัดการความรู้สึกตนเอง

โพสต์เมื่อวันที่ : May 6, 2020

 

ช่วง 3 ปีแรกของเด็กที่กำลังพัฒนาทักษะการสื่อสาร จากที่พูดคำเดี่ยวตอนอายุ 1 ขวบ เป็นวลีได้ตอน 2 ขวบ พอ 3 ขวบก็เล่าเรื่องสั้น ๆ ได้ พ่อแม่หลายคนจึงสงสัยว่า แล้วเด็กจะเล่าความรู้สึกตนเองได้เมื่ออายุเท่าไร ?

 

การอธิบายความรู้สึกเป็นสิ่งที่ยากกว่า การพูดสื่อสารเรื่องทั่วไป หากสังเกตการเรียนรู้ภาษาของลูก จะพบว่า ลูกรู้จัก คำนาม คำกิริยา คำคุณศัพท์จากสิ่งรอบตัวที่มองเห็นหรือรับรู้ในชีวิตประจำวัน เช่น...

 

เด็กวัย 1 ปี รู้จักคำว่า 'ลูกบอล' ก็เพราะพ่อแม่นำลูกบอลมาเล่นกับลูก พ่อแม่กลิ้งบอลไปทางลูก แล้วบอกว่า "จับบอลนะคะ" หรือชี้นิ้วบอกลูกให้ไปเก็บบอล หากบอลกลิ้งไปอีกทาง ในขณะที่เด็กมองตามลูกบอลก็ได้ยินเสียงพ่อแม่พูดคำนี้ซ้ำ ๆ ทำให้ลูกรู้ความหมายของคำว่า ลูกบอล และในเวลาใกล้ ๆ ลูกก็เข้าใจความหมายของคำสั่งที่มาในรูปประโยคด้วย

 

ส่วน 'ความรู้สึก' นั้น เป็นสิ่งที่ตามองไม่เห็น มันไม่ง่ายต่อเด็กที่จะเข้าใจหากไม่มีใครช่วยอธิบาย เด็กมองไม่เห็นความรู้สึกที่เรียกว่า เสียใจ ดีใจ โกรธ หงุดหงิด เศร้า ฯลฯ เหมือนลูกบอล ถ้าจะให้อธิบายเมื่อถูกถามว่ารู้สึกยังไง เด็กวัยอนุบาลบางคนตอบไม่ได้ แต่บางคนตอบได้ เป็นเพราะอะไร ?

 

 

งานวิจัยพบว่า พ่อแม่ที่พูดคุยกับลูกมาก เด็กจะมีปริมาณคำศัพท์มากกว่าเด็กที่พ่อแม่พูดคุยด้วยน้อย เฉกเช่นเดียวกันกับเรื่องนี้ เด็กจะอธิบายความรู้สึกของตนเองได้ดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่า พ่อแม่ช่วยอธิบายให้ลูกเข้าใจความรู้สึกตนเองบ่อยหรือเปล่า

 

หากพ่อแม่ไม่คุยเรื่องความรู้สึกของลูกแล้วหวังให้เด็กสื่อออกมาได้เองนั่นก็หมายความว่า เด็กต้องอาศัยคนอื่นในการเข้าใจวิธีพูดความรู้สึกต่าง ๆ ก่อน คนอื่นในที่นี้อาจเป็นคุณครูที่เคยปลอบลูกตอนทำขนมหกว่า "หนูเสียใจที่อดกินใช่มั้ยคะ ?" หรืออาจเป็นเพื่อนที่พูดคำว่าหงุดหงิดเมื่อโดนแหย่ หรืออาจเป็นเด็กข้างบ้านที่ตะโกนเสียงดังแล้วพูดคำว่ากลัวเมื่อโดนตี หรืออาจมาจากเรื่องราวในนิทานที่ตัวละครแสดงความรู้สึกต่าง ๆ

 

 

คนอื่น ๆ ที่อาจเป็นใครก็ได้ ที่ช่วยให้ลูกเข้าใจความรู้สึกและเหตุผลของความรู้สึกนั้น อย่างไรก็ตาม แม้จะเข้าใจแล้ว ลูกก็ยังต้องนำข้อมูลเหล่านี้ มาสังเกตความรู้สึกตนเอง รวมทั้งต้องหาเหตุผลของความรู้สึกนี้ด้วยตนเอง ซึ่งถือว่าไม่ง่ายเลย

 

จะดีกว่ามั้ย ? ถ้าพ่อแม่สามารถช่วยลูกให้เข้าใจเรื่องซับซ้อนเหล่านี้ โดยไม่ต้องรู้จากทางอื่นแล้วมาประยุกต์กับตนเอง เพราะอาจทำได้บ้าง-ไม่ได้บ้าง เช่น พ่อแม่สังเกตว่าลูกหงุดหงิดตอนไม่ให้ออกนอกบ้าน พ่อแม่อธิบายความรู้สึกและเหตุผลออกมา “ลูกคงรู้สึกหงุดหงิดเพราะอยากออกไปวิ่งเล่น แล้วไม่ได้ไป ใช่มั้ยคะ ?” เมื่อเด็กฟังพ่อแม่อธิบายความรู้สึกของตนเอง ก็ช่วยให้เข้าใจตนเองได้ทันที พอเข้าใจแล้ว ก็ย่อมอธิบายให้คนอื่นฟัง เมื่อถูกถามได้

 

เด็กส่วนใหญ่อธิบายว่าตนเองรู้สึกอย่างไร เพราะอะไร ในช่วงอายุประมาณ 3-4 ปีขึ้นไป แต่หมอก็พบเด็กอายุเพียง 2 ปีกว่า หลายคนทำได้ นั่นเป็นเพราะพ่อแม่เข้าใจความรู้สึกลูก และพูดออกมาให้ลูกเข้าใจตนเองบ่อย ๆ

 

วิธีการทำนั้นไม่ยาก ขอให้พ่อแม่คอยสังเกตอารมณ์และสาเหตุของอารมณ์ลูก แล้วพูดออกมาอย่างเข้าใจ (ไม่ใช่พูดเพื่อตำหนิ) เช่น เด็กวัยซนร้องไห้เสียงดังเพราะต่อจิ๊กซอว์ไม่ได้ใน ตอนที่ 1 พ่อแม่พูดว่า “จิ๊กซอว์ชิ้นนี้ต่อไม่ได้ ลูกก็เลยโกรธ ใช่มั้ยคะ ?”

 

ประโยคนี้ มีความรู้สึกพร้อมเหตุผลชัดเจน, ความรู้สึกคือเสียใจ, เหตุผลของความรู้สึกคือต่อจิ๊กซอว์ไม่ได้ เมื่อลูกฟังแล้ว ก็นึกภาพตัวเองออก ทำให้เข้าใจตนเองชัดเจนว่า ที่มาของเสียงร้องไห้นี้คืออะไร อ่านมาถึงตรงนี้ อาจรู้สึกไม่ยาก แต่ในชีวิตจริง พ่อแม่มักเผลอโฟกัสอย่างอื่นมากกว่าความรู้สึกของลูก ลองอ่าน ตอนที่ 1 ดูว่าเพราะอะไร

 

สุดท้ายนะคะ ในบทความที่ว่า ...“คนอื่น ๆ อาจเป็นคนช่วยให้ลูกเข้าใจความรู้สึกและเหตุผลของความรู้สึกนั้น”... แต่ถ้ามองอีกมุม หากไม่มีใครคนอื่น ๆ ที่จะช่วยลูกเข้าใจล่ะ และถ้าพ่อแม่ก็ไม่ช่วยเหมือนกัน ลูกก็อาจไม่มีทางเข้าใจตนเองเลย หมอคิดว่า ยังไงพ่อแม่ก็ควรช่วยลูกนะคะ ค่อย ๆ ฝึกทำไปเรื่อย ๆ ทำเท่าที่ได้ ก็ยังดีกว่าไม่ทำเลย

 

อ่านต่อ ตอนที่ 3 คนเรามี “หลายความรู้สึก” เกิดขึ้นพร้อมกันได้