1905
“ตีลูก” ได้ไหม

“ตีลูก” ได้ไหม

โพสต์เมื่อวันที่ : June 1, 2020

ผมพยายามคิดหาคำตอบให้กับคำถามสำคัญนี้อยู่นานพอสมควร ทั้งอ่านหนังสือหรือถามผู้เชี่ยวชาญ จนมาจบที่คำถาม ซึ่งนำพาไปสู่คำตอบได้ว่า “จุดประสงค์ของการทำโทษลูก คืออะไร”

 

คำตอบจากคุณพ่อคุณแม่เกือบร้อยทั้งร้อย คงจะเป็นไปในทางเดียวกันว่า “เพราะต้องการให้จำ จะได้ไม่ทำผิดซ้ำอีก” ดังนั้นประเด็นหลักของการทำโทษ จึงอยู่ที่การสื่อสารให้ลูกเข้าใจและจดจำ ไม่ใช่เรื่องการทำให้ลูกเจ็บตัว

 

ย้อนกลับมาที่คำถามว่า “การสั่งสอนด้วยการตียังจำเป็นไหม” ส่วนตัวมนุษย์พ่อมองว่า “การตี” ก็เหมือนการก่อสงครามเล็ก ๆ เพียงแต่คู่ต่อสู้ของเราคือ “ลูก” ที่ไม่ค่อยมีอำนาจต่อรองสักเท่าไหร่ แต่สิ่งสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ต้องจำไว้คือ “ทุกสงครามย่อมมีการสูญเสีย”

“การตี” จึงควรจะเป็นทางเลือกสุดท้าย ที่ไม่สามารถหาทางแก้ปัญหานั้นได้จริง ๆ เท่านั้น หรือใช้ในกรณีที่มีการทำผิดที่ปล่อยไว้ไม่ได้ ใช้เพื่อหยุดพฤติกรรมนั้นทันที การตีจึงควรจะเน้นให้ “จำ” ไม่เน้นให้ “เจ็บ” ใช้มือตี และไม่ใช้อารมณ์ เป็นการทำโทษเชิงสัญลักษณ์ว่า พ่อแม่จริงจังกับเรื่องนี้ ลูกต้องจำไว้และห้ามทำผิดแบบเดิมอีกเด็ดขาด และตอนจบอย่าลืมที่จะตามมาด้วยการพูดคุยสื่อสารอย่างหนักแน่นและนุ่มนวลทันที เน้นย้ำให้เข้าใจเหตุและผล แต่ไม่ใช่ “การโอ๋” นะครับ

 

สิ่งที่ควรจะระวังให้มากหากต้องมีการทำโทษด้วยการตีก็คือ อารมณ์ของคุณพ่อคุณแม่เอง เพราะหากลูกเข้าใจว่า การตีคือการระบายอารมณ์โกรธของพ่อแม่แล้ว นอกจากจะเป็นสร้างความกระทบกระเทือนจิตใจของลูก กลายเป็นคนไม่มีความมั่นคงทางอารมณ์ มองโลกในแง่ลบและมีปัญหาการเข้าสังคมแล้ว ยังจะกลายเป็นแบบอย่างของการใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาอีกด้วย ดังนั้นจึงต้องจำไว้ว่า...

  • ❐ “การตี” ควรจะเป็นทางเลือกสุดท้าย
  • ไม่ควรทำโทษด้วยการตีบ่อยจนเกินไป
  • ห้ามใช้อารมณ์ในการตีโดยเด็ดขาด
  • พูดคุยกับลูกให้เข้าใจเหตุและผลหลังจากการทำโทษทุกครั้ง

 

สุดท้าย คงต้องฝากให้คุณพ่อคุณแม่รวมไปถึงคุณครูและผู้ใหญ่ทุกท่านที่มีส่วนในการ “สร้างคน” ให้มีทัศนคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับการทำโทษว่า เด็ก ๆ ทุกคนเรียนรู้ผ่านข้อผิดพลาด ดังนั้น “พลาด” และ “ผิด” จึงไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่เราจะต้องไปโมโห โกรธ หรือมีอารมณ์ ซึ่งจะทำให้ผลของการสั่งสอนด้วยเจตนาที่ดีของเราผิดเพี้ยนไปจากที่ควรจะเป็นครับ