
เมื่อลูกเรียกร้องความสนใจ
เด็กเรียกร้องความสนใจแสดงว่า "เขาขาดความสนใจ"
บางที... เด็กน้อยตั้งคำถามขึ้นมา เพื่อให้เราตอบ แต่เบื้องหลังคำถามนั้น อาจเป็นเพียงเพราะเขาอยาก "สนับสนุนความคิดของตัวเอง"
เด็กน้อย: “ครูรู้ไหมตัวไหนเก่งสุด ?” (เขากำตุ๊กตาฉลามแน่น)
คุณครู: “หนูว่าตัวไหนเก่งสุดล่ะ ?”
เด็กน้อย: “ฉลามอยู่แล้ว!” (พร้อมจับตุ๊กตาฉลามไล่งับสิ่งมีชีวิตตัวอื่น ๆ)
หรือบางครั้ง อาจจะเจอคำถามที่... “ไม่อยากบอก แต่ก็อยากบอก”
เด็กน้อย: “ครูรู้ไหมว่า หนูเอาอะไรมาวันนี้ ?”
คุณครู: “หนูเอาอะไรมาคะ ?”
เด็กน้อย: “ไม่บอกคุณครูหรอก เป็นความลับ”
คุณครู: “ไม่เป็นไรค่ะ” (แอบยิ้มในใจ... เด็กหนอเด็ก)
เด็กน้อย: “ครูอยากรู้ใช่ไหม ? หนูยอมบอกก็ได้... หนูซื้อกระติกน้ำมาใหม่ !”
เด็กบางคน “รู้คำตอบอยู่แล้ว” แต่ถามเพราะอยากให้เราสนใจ เพราะเด็กต้องการ การสนับสนุน การยืนยันความคิด ความรู้สึกว่า “ไม่ได้คิดอยู่คนเดียว” และความรู้สึกว่า “ฉันสำคัญ” เราสามารถตอบสนองต่อคำถามของเด็กได้ตาม 3 สถานการณ์
ในสถานการณ์ปกติ ที่ไม่มีงานตรงหน้า เด็กไม่ได้ต้องการเลี่ยงกิจกรรม ผู้ใหญ่สามารถตอบกลับแบบ ถามกลับ เพื่อเปิดโอกาสให้เขาได้แสดงความคิด เช่น
เด็ก: “พ่อรู้ไหม รถมีกี่ล้อ ?”
พ่อ: “ลูกว่ามีกี่ล้อล่ะ ?”
เด็ก: “แม่ว่าชุดไหนสวย ?”
แม่: “หนูว่าชุดไหนสวยคะ ?”
เพราะเด็กมีคำตอบในใจอยู่แล้ว เขาต้องการเพียงการ “ยืนยัน” จากคนสำคัญ การตอบกลับด้วยคำถาม ทำให้เขา ได้ทบทวนความเชื่อมั่นในตัวเอง
เช่น โรงภาพยนตร์ ห้องสมุด หรือระหว่างคุณครูกำลังสอน เราไม่ได้ห้ามเขา "ถาม" แต่ควร “สอน” ว่าควรถามในเวลาใด สอนก่อนออกจากบ้าน: “ในโรงหนังเราจะไม่พูดเสียงดังนะลูก” ถ้าเขาลืมตัวก็พาออกมาข้างนอกแล้วค่อยสอน และสอนด้วยท่าทีสงบ เพื่อให้เขาเรียนรู้มารยาททางสังคมโดยไม่อับอาย
สอนเขาเรื่อง “มารยาททางสังคมพื้นฐาน” เป็นโอกาสที่ดีที่เขาจะได้เรียนรู้กติกาของสังคม และการควมคุมตัวเองด้วย จะยิ่งดีมากถ้าหากเราสอนเขาก่อนจะไปสถานที่ดังกล่าว เพื่อให้เขาทราบข้อปฏิบัติตั้งแต่ต้นว่า “สถานที่เหล่านี้ห้ามส่งเสียงรบกวนผู้อื่น” แต่เด็กน้อยยังเป็นเด็กวันยังค่ำ เขาอาจจะตื่นเต้นจนลืมตัวไปบ้าง เราก็มีหน้าที่สอนเขาต่อไป (โดยต้องไม่ไปรบกวนผู้อื่นด้วย)
เช่น ตอนกินข้าวหรือทำการบ้าน เขาอาจตั้งคำถามเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของเรา สิ่งที่ควรทำคือ “ย้ำหน้าที่ของเขา” ให้ชัดเจน เช่น “ตอนนี้ต้องทำการบ้านก่อนนะ เสร็จแล้วเราค่อยมาคุยกัน”
นอกจากนี้ เด็กวัย 3 - 6 ปีมักมีพฤติกรรม “ถามคำถามเดิมซ้ำ ๆ” เพราะเขาอยู่ในช่วงทดลอง (trial and error) อยากรู้ว่า... ถ้าเปลี่ยนเวลา เปลี่ยนน้ำเสียง พ่อแม่จะเปลี่ยนคำตอบหรือไม่ ?
แม่: “เมื่อกี้แม่ตอบว่ายังไงคะ ?” (พูดด้วยน้ำเสียงสงบ)
เด็ก: “กินไม่ได้”
แม่: “ใช่แล้วค่ะ”
การตอบกลับแบบนี้ เป็นการยืนยันคำตอบเดิม แต่ก็ช่วยให้เด็กได้ทบทวนคำตอบด้วยตัวเองอีกครั้ง
การที่เด็กถามคำถาม คือ หนึ่งในวิธีสื่อสารความรู้สึก ความคิด และความต้องการของเขา เบื้องหลังคำถาม อาจไม่ใช่แค่ “อยากรู้” แต่อาจเป็นการเรียกร้อง “ความสนใจ” และ “การยอมรับ” จากคนสำคัญในชีวิต
ถ้าเขาถามมาก อย่ารำคาญ อย่าห้ามไม่ให้ถาม เพราะนั่นอาจเป็นจุดเริ่มต้นของ “การห้ามสงสัย” และเราต่างรู้ว่า คำถามที่ดี สำคัญกว่าคำตอบ เพราะคำถามที่ดี คือจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ทุกอย่าง
..."การผจญภัย" สำหรับเด็กน้อย เริ่มต้นตั้งแต่ "เริ่มถามคำถาม"...
✱ ติดตามข่าวสารและกิจกรรม Thai PBS Kids ได้ทาง Website | Facebook | Youtube | LINE Official ✱