935
5 ขั้นตอน เข้าใจลูกให้เป็น

5 ขั้นตอน เข้าใจลูกให้เป็น

โพสต์เมื่อวันที่ : July 1, 2020

ต้นกล้า ตะโกนเสียงดังว่า ...“ไม่ !”... หลังจากที่แม่บอกให้ต้นกล้าปิดเกม แม่สวนกลับด้วยความไม่พอใจว่า ...“หยุดเดี๋ยวนี้นะ !!”... ต้นกล้าจึงกระแทกโต๊ะแล้วเดินออกไป แม่โมโหจัด ...“กลับมาเดี๋ยวนี้ ! อย่ามาทำนิสัยแย่ ๆ แบบนี้กับแม่ !”...

 

ลูกไม่ยอมปิดเกมก็เป็นปัญหายุ่งยากอยู่แล้ว หากต้องเถียงกับลูกอีก ก็เท่ากับสร้างปัญหาให้ซับซ้อนขึ้น สัมพันธภาพระหว่างเรากับลูกก็มีแต่แย่ลง จะดีกว่ามั้ย ถ้าเรื่องจะไม่แย่ลงไปอีก ลองไม่ทะเลาะกับลูก แล้วดูสิว่าเหตุการณ์จะดำเนินต่อไปอย่างไร ? หมอขอวางเป้าหมายที่ ...“พ่อแม่สั่งสอนลูกได้ แต่ต้องไม่เสียสัมพันธภาพ” ...

 

5 ขั้นตอน เข้าใจลูกให้เป็น

 

ขั้นที่ 1 มองและฟังลูกอย่างไม่ตัดสินตัวตนเขา

พ่อแม่เห็นลูกไม่ต้องการปิดเกม โดยไม่ตัดสินว่าลูกติดเกม หรือไร้ความรับผิดชอบ หรือขี้เกียจ (เพราะการตัดสิน จะทำให้เราตอบโต้กลับมากกว่าที่จะค้นเข้าไปในความรู้สึกลูก จะช่วยให้เราเข้าสู่ขั้น 2 ได้)

ขั้นที่ 2 มองหาความรู้สึกที่กำลังเกิดขึ้น

แขนขาเกร็งและเสียงที่ตะโกนว่า ไม่! รวมทั้งการกระแทกโต๊ะดังปัง! คือ ความโกรธมาก ๆ ไม่ใช่โกรธธรรมดา (การมองเห็นอารมณ์ลูก โดยไม่ตัดสิน จะทำให้พ่อแม่เปิดใจยอมรับลูก ทำให้ยอมพาตนเองไปสู่ขั้นที่ 3)

 

ขั้นที่ 3 เข้าไปอยู่ในความรู้สึกร่วมกับลูก

เมื่อพ่อแม่วางอารมณ์ตนเองลงแล้ว ขอให้อยู่ในความรู้สึกโกรธของลูกนานสักหน่อย ลองจิตนาการดูว่าเรากำลังเป็นลูก และพยายามค้นหา ...“เหตุผลที่ทำให้ต้องโกรธมาก ๆ”...

 

เริ่มเห็นไหมคะ มีหลายปัจจัยที่เกี่ยวพันกันที่ทำให้ลูกโกรธสุด ๆ ไม่ใช่แค่เพราะถูกห้ามแน่ ๆ ลูกสะสมความโกรธจากการถูกตีตราว่า ขี้เกียจ, ติดเกม, ถูกตำหนิซ้ำ ๆ ว่าไม่รับผิดชอบ ลูกรู้สึกเศร้าที่พ่อแม่โกรธบ่อย และไม่ช่วยเขาแก้ปัญหานี้อย่างใจเย็น ความเสียใจและน้อยใจแปรเปลี่ยนมาเป็นความโกรธสะสมได้ และยังรู้สึกโกรธตัวเองที่ทำตัวไม่ดี ทำตามที่รับปากไม่ได้ด้วย ฯ

 

ดังนั้นเมื่อถูกสั่งให้ปิดเกม เหตุการณ์คล้ายกันกระตุ้นให้ความรู้สึกที่สะสมอยู่โผล่อออกมาด้วย กลายเป็นความโกรธที่รุนแรง ขอให้พ่อแม่มาถึงข้อนี้ให้ได้นะคะ เข้าใจลูกลึก ๆ จนถึงระดับที่อ่านออกว่า ความโกรธนี้มาจากไหนบ้าง เพื่อจะได้ไปต่อขั้นที่ 4

ขั้นที่ 4 ยอมรับความรู้สึกของลูก แล้วพูดออกมาว่าพ่อแม่เข้าใจ

การแสดงออกว่าพ่อแม่เข้าใจความรู้สึกลูกทั้งหมด จะสามารถเชื่อมโยงใจกันและกัน ลูกจะมองพ่อแม่ในแง่ร้ายน้อยลง โอกาสเปิดอกคุยกันก็สูงขึ้น ดังนั้นพยายามนะคะ

 

ตัวอย่างคำพูด

...“ที่ต้นกล้าตะโกนเสียงดังมากก็เพราะโกรธแม่หลาย ๆ อย่าง ใช่ไหมลูก ต้นกล้าคงโกรธแม่ที่แม่ชอบบังคับทั้งเรื่องเรียน เรื่องอ่านหนังสือ แล้วก็เรื่องเกมด้วย”... น้ำเสียงของผู้ที่เข้าใจจะต้องอ่อนโยน ไม่ใช่เสียงตึง ๆ และมีท่าทีตั้งรับเพื่อแสดงถึงความพร้อมที่จะรับฟังลูก

 

...“ต้นกล้า โกรธที่แม่พูดไม่ดีด้วยใช่มั้ย..ที่ด่าลูกว่าขี้เกียจ เด็กติดเกม”... น้ำเสียงที่เข้าใจ และสายตาที่อ่อนโยนจะทำให้ลูกรู้สึกปลอดภัย จนกล้าระบายความอัดอั้นออกมา แต่ถ้าลูกไม่พูดต่อ ก็เป็นไปได้ว่าลูกยังไม่กล้า ลูกไม่มั่นใจว่าพ่อแม่จะรับฟังจริง ๆ

 

เมื่อไหร่ก็ตามที่พ่อแม่เข้าใจและยอมรับความรู้สึกลูกอย่างจริงใจ คำพูดที่เกิดขึ้นในขั้นที่ 4 จะทำให้ลูกรู้สึกดีต่อพ่อแม่มากขึ้น แม้วันนี้ เด็กบางคนอาจไม่พร้อมเปิดใจ แต่หมอเชื่อว่า ความรู้สึกดีเล็ก ๆ ได้เกิดขึ้นแล้ว พ่อแม่ต้องทำให้เกิดขึ้นบ่อย ๆ จนกว่าลูกจะมั่นใจว่าเข้าใจและรับฟังเขาจริง มีพื้นที่ปลอดภัยให้เขาได้ระบาย ความผูกพันที่ลึกซึ้งและไว้วางใจก็จะก่อตัวขึ้น

 

ขั้นที่ 5 ชวนลูกมาร่วมคิดแก้ปัญหาของตัวเอง

เมื่อผ่านมาถึงขั้น 4 แปลว่าพ่อแม่สามารถเปิดใจลูกได้แล้ว ลูกก็จะเปิดใจกับพ่อแม่ คราวนี้ก็ชวนลูกมาร่วมคิดแก้ไขปัญหา ให้เขารับรู้ถึงความเป็นเจ้าของเรื่อง อย่าคิดเองแล้วกำหนดให้ลูกปฏิบัติเท่านั้น ลองฟังลูกก่อน แล้วค่อย ๆ ขัดเกลาให้ได้ข้อสรุปที่เหมาะสมนะคะ

 

ใน 4 ขั้นตอนแรก คือการรับฟังอย่างเข้าใจของพ่อแม่ ซึ่งสามารถช่วยลูกจัดการอารมณ์และความคิดของตนเองด้วย โดยเด็กซึมซับจากท่าทีพ่อแม่และใช้วิธีพูดระบายออกมาแทนการระเบิดอย่างที่เห็นค่ะ ส่วนขั้นที่ 5 พ่อแม่ต้องมีทักษะในการชวนลูกคิด ไม่คิดแทนลูก ขอให้อ่านในบทความตอนต่อไปเรื่อง “วิธีชวนลูกร่วมคิดแก้ไขปัญหาความรับผิดชอบของตัวเอง”

 

 

 

อ่านต่อ วิธีชวนลูกร่วมคิดแก้ไขปัญหาความรับผิดชอบของตัวเอง