พัฒนาทักษะ STEAM ผ่านงานบ้าน
แต่ละครอบครัวมีงานบ้านอะไรบ้างที่มอบหมายให้เด็ก ๆ ช่วยทำ ?
พ่อแม่ต้องมองให้ออกว่า เด็กจะรับผิดชอบตัวเองได้นั้น ทักษะสมอง EF ของลูกต้องทำงานหนัก แปลว่า ลูกต้องเป็นคนตัดสินใจเอง ตัดสินใจถูกก็ภูมิใจ ตัดสินใจผิดก็ผิดหวัง จะโกรธหรือร้องไห้เสียใจก็ต้องจัดการอารมณ์ตัวเอง พ่อแม่ไม่มีหน้าที่คิดแทน ตัดสินใจแทนแล้วบอกลูกหรือบังคับลูกทำ ไม่มีหน้าที่ปลอบลูกและยอมปล่อยผ่าน
เพราะสมองลูกจะไม่ได้ฝึกทำงาน และลูกจะต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ทำพลาดไปแล้วด้วย โดยพ่อแม่มีหน้าที่ชี้แนะ ชวนลูกร่วมคิด ร่วมกำหนดเป้าหมาย, กติกาและบทลงโทษ และให้กำลังใจลูกในยามที่ลูกผิดหวัง โกรธและเสียใจแทน
ยกตัวอย่าง
เราอยากให้ลูกใช้เวลาหน้าจอให้น้อยที่สุด พ่อแม่ควรกำหนดเป้าหมายเป็นตัวเลข แทนคำพูดว่าดูให้น้อย ๆ บอกลูกว่า “วันธรรมดาอนุญาตให้ดูจอไม่เกินครึ่งชั่วโมง ส่วนวันหยุดได้ยาวถึง 1 ชั่วโมง” ลูกจะกำหนดตัวเองง่ายกว่าคำว่าดูน้อย ๆ อย่าดูเยอะเกินไป นอกจากนี้ พ่อแม่ก็ควรกำหนดให้ลูกรับผิดชอบตัวเองก่อนไปอยู่หน้าจอ ควรระบุให้ชัดเจน เช่น กลับจากโรงเรียน แล้วต้องทำการบ้านเสร็จก่อน ต่อด้วยอาบน้ำ แล้วถึงใช้จอได้... ลำดับแบบนี้ เด็กมากมายคิดเองไม่เป็น พ่อแม่ต้องชวนคิด
เมื่อสิ่งที่คาดหวังชัดเจน เด็กจะกำกับตนเองง่ายขึ้น แต่พ่อแม่ต้องมีเหตุผลและชวนลูกคิดด้วยนะคะ เช่น ...“พ่อแม่ต้องการฝึกลูกให้อดทน รู้จักลำบากก่อนสบาย ลูกจะเก่งได้เพราะความอดทนแบบนี้แหละ”... รวมทั้งต้องให้ลูกตกลงร่วมก่อน โดยยืดหยุ่นได้ถ้าลูกมีเหตุผลดีพอ
..."ระวัง ! อย่ากำหนดเป้าหมายแล้วบังคับใช้โดยไม่อธิบายเหตุผล และไม่ฟังลูกนะคะ"...
(วิธีคุยกับลูก อ่านรายละเอียดใน 5 ขั้นตอนเข้าใจลูกให้เป็น)
กรณีที่ลูกทำไม่ได้ตามตกลง พ่อแม่ควรถามไอเดียลูกก่อน ...“ถ้าลูกดูเกิน ครึ่งชั่วโมงล่ะ จะให้มีบทลงโทษยังไง”... ต้องให้ลูกมีบทบาทในเรื่องเขาเองนะคะ บทลงโทษในที่นี่ต้องไม่มีการตี ไม่มีการใช้อารมณ์ เป็นการลงโทษเพื่อเรียนรู้ ดังนั้นจึงควรสัมพันธ์กับเรื่องและต้องเหมาะสมด้วย เช่น ...“ดูเกินเท่าไรก็หักเวลาของโควตาในวันถัดไป”... อย่าลงโทษเกินกว่าเหตุ เช่น อดดู 1 เดือน เพราะความเจ็บปวดจะทำให้ลูกโกรธมากกว่าอยากเรียนรู้
เมื่อถึงเวลาลูกดูเกินเวลา พ่อแม่ต้องหนักแน่น อาจเตือนลูกก่อน ...“ลูกกำลังดูเกินเวลา พรุ่งนี้จะถูกตัดเวลานะ”... ถ้าลูกยอมปิด ให้ชื่นชมทันที แต่หากลูกไม่สนใจ ให้เราจับเวลาและบอกลูกว่า ...“แม่กำลังจับเวลาที่ดูเกิน อยากให้ลูกเปลี่ยนใจปิดตอนนี้”... พ่อแม่เตือนและให้โอกาสลูกถึงสองครั้ง ถ้าลูกยังไม่สนใจอีก ให้เราเด็ดขาดด้วยคำสั่งหนักแน่นว่า ...“ปิดการ์ตูนตามกติกา และหักเวลาที่เกินของพรุ่งนี้”... ครั้งนี้ถือว่า ลูกตัดสินใจผิดที่ดูเกินเวลาและไม่สนใจคำเตือนของพ่อแม่ บทลงโทษจะเป็นบทเรียนให้ลูกแก้ไขตัวเองใหม่ ครั้งหน้าลูกจะคิดรอบคอบและยั้งใจตัวเองได้ดีขึ้น
เมื่อต้องช่วยลูกจัดการอารมณ์ พ่อแม่ต้องมีสติที่ดี และแสดงความเข้าใจลูกได้ เช่น พูดสะท้อนความรู้สึก ...“แม่รู้ว่ามันยากที่จะตัดใจจากการ์ตูนสนุก ๆ”... ให้สังเกตอารมณ์ของลูกต่อ สามารถแสดงความเข้าใจลูกได้อีก แต่หากลูกไม่สนใจฟังเลย และโมโหไปเรื่อย ๆ ให้เราเพิกเฉยโดยบอกลูกก่อนว่า ...“เราคุยกันไม่รู้เรื่องแล้ว แม่จะรอลูกสงบอารมณ์ แล้วค่อยคุยกันนะ พร้อมเมื่อไรมาคุย แม่อยู่ตรงนี้”... การเพิกเฉยเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกจัดการอารมณ์ตนเอง โดยพ่อแม่ไม่ทอดทิ้ง
..."หากพ่อแม่ควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ได้ ให้พาตัวเองออกไปก่อน เมื่อสงบแล้ว ถึงมาคุยกับลูก อย่าคุยตอนโกรธเพราะมีแต่พังกับพัง สมองลูกจะไม่เรียนรู้"...
เด็กไม่ทำตามกฎ พ่อแม่ต้องมองว่าปกติและยอมรับได้ อย่าตำหนิซ้ำลูกจะต่อต้านได้ ควรชวนลูกย้อนคิดเพื่อเอาบทเรียนมาทำให้ชีวิตดีขึ้น เช่น ...“เรื่องเมื่อกี้ผ่านไปแล้ว ก็ผ่านไป เรามาเรียนรู้เพื่อไม่ให้ทำผิดอีกดีกว่า ลูกคิดว่า ลูกได้เรียนรู้อะไรบ้าง”... พยายามกระตุ้นสมองEF ลูกให้ทำงานเองนะคะ ให้ลูกค่อยๆคิดทบทวน วิเคราะห์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งการแก้ไขในอนาคต ตรงนี้ต้องให้เวลาลูกเยอะ ๆ หากลูกคิดไม่ออก พ่อแม่ค่อย ๆ ช่วยให้คิดออก อย่าเผลอสอนเป็นฉาก ๆ โดยลูกฟังอย่างเดียวเด็ดขาด เพราะถ้าสมองไม่ได้คิดเอง สมองEF ทำงานน้อย ลูกอาจรู้แบบไม่ยั่งยืน
การสอนให้ลูกคิดเป็น คิดได้ ย่อมยากกว่าการสอนแบบบอกให้ทำ หรือแบบเทศนา พ่อแม่ต้องหมั่นฝึกบ่อย ๆ ตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ ความคล่องแคล่วถึงจะเกิดขึ้นในตัวพ่อแม่นะคะ
..."ความรับผิดชอบและปัญหาของลูก ลูกต้องใช้สมองEFตัวเอง โดยมีพ่อแม่นำทาง"...