9741
คุณเป็นพ่อแม่ที่รู้จักลูกดีแล้วหรือ !

คุณเป็นพ่อแม่ที่รู้จักลูกดีแล้วหรือ !

โพสต์เมื่อวันที่ : August 7, 2020

เคยไหม ทำไมเราเป็นพ่อแม่ที่เลี้ยงลูกมาตั้งแต่เล็ก แต่เมื่อลูกเข้าสู่วัยรุ่น พ่อแม่กลับเกิดคำถามว่านี่ใช่ลูกที่เราเลี้ยงมาตั้งแต่เล็กจริงหรือ ?

 

ทำไมลูกเราไม่เชื่อฟังพ่อแม่เหมือนตอนที่ยังเล็ก ? ทำไมลูกยิ่งโต ยิ่งเหมือนเขาจะห่างพ่อแม่ออกไปทุกที ? เมื่อตอนลูกยังเล็ก เขาคุยกับเราทุกเรื่อง แต่พอเข้าสู่วัยรุ่นกลับไม่ค่อยเล่าอะไรให้พ่อแม่ฟัง ? คุณเป็นพ่อแม่ของลูกวัยรุ่นที่มีคำถามเหล่านี้หรือไม่ ?

 

วัยรุ่น (Adolescence)

เป็นวัยหัวเลี้ยวหัวต่อจากวัยเด็กไปสู่วัยผู้ใหญ่ นักจิตวิทยาพัฒนาการได้แบ่งวัยรุ่นออกเป็น 3 ระยะ คือ...

 

► วัยรุ่นตอนต้น (อายุประมาณ 11-14 ปี) เป็นระยะเริ่มแรกจากการเปลี่ยนแปลงจากเด็กไปสู่วัยรุ่น

► วัยรุ่นตอนกลาง (อายุประมาณ 15-18 ปี) ในระยะนี้พฤติกรรมแบบเด็กจะค่อย ๆ หายไปและมีการแสดงออกของความเป็นหญิงสาวหรือชายหนุ่มเข้ามาแทนที่ ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่จึงเป็นด้านจิตใจที่เกิดจากการพัฒนาทางร่างกาย

► วัยรุ่นตอนปลาย (อายุประมาณ 18-21 ปี) ระยะนี้วัยรุ่นกำลังเข้าสู่วัยผู้ใหญ่จะมีการเรียนรู้ทั้งเรื่องสภาพร่างกาย อารมณ์ สังคม การรู้คิด และจริยธรรม

 

ในขณะที่ทฤษฎีจิตสังคมของอิริคสัน เรียกว่า “วัฏจักรชีวิต 8 ขั้นของอิริคสัน” แบ่งพัฒนาการทางบุคลิกภาพออกเป็น 8 ขั้น

 

วัฏจักรชีวิต 8 ขั้นของอิริคสัน

ขั้นที่ 1 อายุ 1-2 ปี ไว้ใจ หรือไม่ไว้ใจ (Trust vs Mistrust)

ความอบอุ่นที่เกิดจากครอบครัว ทำให้เด็กเชื่อถือไว้ใจต่อโลก ไว้ใจคนอื่น ทำให้กล้าที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่


ขั้นที่ 2 อายุ 2-3 ปี เป็นอิสระหรือละอายสงสัย (Autonomous vs Shame and Doubt)

ระยะที่เด็กพยายามใช้คำพูดของตัวเอง และสำรวจโลกรอบ ๆ ตัว ถ้าพ่อแม่สนับสนุนจะทำให้เด็กรู้จักช่วยตนเองและมีอิสระ ส่งเสริมความสามารถของเด็ก


ขั้นที่ 3 อายุ 4-5 ปี คิดริเริ่ม หรือรู้จักผิด (Initiative vs Guilt)

เด็กจะชอบเล่นและเรียนรู้บทบาทของสังคม ริเริ่มทางความคิดจากการเล่น เด็กที่ถูกห้ามไม่ให้ทำอะไรในสิ่งที่เขาอยากทำ เป็นเหตุให้เด็กรู้สึกผิด ตลอดเวลา พ่อแม่ควรพิจารณาร่วมกันว่ากิจกรรมใดที่ปล่อยให้เด็กทำได้ ก็ให้เด็กทำ จะได้เกิดคุณค่าในตัวเองลดความรู้สึกผิดลงได้


ขั้นที่ 4 อายุ 6-11 ปี ขยันหรือมีปมด้อย (Industry vs Inferiority)

เด็กจะเริ่มมีทักษะทางด้านร่างกายและสังคมมากขึ้น โดยไม่ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่เด็กเริ่มมีการแข่งขันกันในการทำงาน เด็กวัยนี้จะชอบให้คนชม ถ้าขาดการสนับสนุนอาจทำให้เกิดความรู้สึกมีปมด้อย


ขั้นที่ 5 อายุ 11-18 ปี เข้าใจบทบาทของตัวเอง หรือ สับสนในบทบาทของตัวเอง (Ego Identity vs Role Confusion)

ระยะมีเอกลักษณ์ของตนเองกับความไม่เข้าใจตนเอง : เป็นระยะที่เด็กเริ่มสนใจเพศตรงข้ามรู้จักตนเอง ว่าเป็นใคร ถนัดด้านใด สนใจอะไร และถ้าเด็กมีความรู้สึกไม่เข้าใจตนเองก็จะเกิดความสับสน ในตนเอง และล้มเหลวในชีวิตได้


ขั้นที่ 6 อายุ 20-35 ปี ผูกพัน หรือตีตัวออกห่าง (Intimacy vs Isolation)

เป็นวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ใช้ชีวิตแบบผู้ใหญ่ทำงาน เพื่อประกอบอาชีพ สร้างหลักฐาน มีความรัก ความผูกพัน


ขั้นที่ 7 อายุ 36-45 ปี ให้กำเนิด หรือหมกมุ่นในตัวเอง (Generativity vs Stagnation)

ระยะให้กำเนิดและเลี้ยงดูบุตร วัยผู้ใหญ่ถึงวัยกลางคน มีครอบครัวมีบุตร ได้ทำหน้าที่ของพ่อแม่


ขั้นที่ 8 อายุ 45 ขึ้นไป มีศักดิ์ศรี หรือหมดหวัง (Ego Integrity vs Despair)

วัยที่ต้องยอมรับความจริงของชีวิต ระลึกถึงความทรงจำในอดีตถ้าอดีตที่ผ่านมาแล้วประสบความสำเร็จจะทำให้มีความมั่นคงทางจิตใจ

 

เป็นเรื่องที่คนเป็นพ่อแม่ควรรู้และเข้าใจพัฒนาการของวัยรุ่นด้วย เพราะจะช่วยให้เราทำความเข้าใจในแต่ละช่วงวัย ซึ่งพ่อแม่ทุกคนก็ล้วนเคยผ่านช่วงวัยรุ่นกันมาแล้ว น่าจะต้องฉุกคิดถึงช่วงเวลานั้นที่เราอาจทำอะไรที่คึกคะนองตามวัย มีความหุนหันพลันแล่น หรือมีความท้าทายผู้ใหญ่อย่างไร ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นที่เราจะได้เข้าใจลูกวัยรุ่นและรู้จักลูกของเราได้ดีขึ้น

 

สิ่งสำคัญสุดในการสื่อสารกับลูกวัยรุ่นคือ ท่าทีของพ่อแม่ผู้ปกครองจะต้องเปลี่ยนแปลงไป จากความเป็นพ่อแม่ไปสู่ความเป็นเพื่อน เพราะวัยรุ่นจะรู้สึกว่าการแสดงออกของพ่อแม่ที่ให้ลูกรู้สึกว่าพ่อแม่รักเขาแตกต่างจากช่วงวัยเด็กเล็ก และวัยประถม คือวัยเด็กเล็ก (ฐานกาย) จะรู้สึกว่าพ่อแม่รักเขาก็ต้องมีโอบกอดสัมผัส ส่วนวัยประถม (ฐานใจ) จะต้องใช้เวลาทำกิจกรรมร่วมกันกับลูก ส่วนวัยรุ่นจะต้องให้เวลาในการรับฟังสิ่งที่ลูกพูดลูกคิด (ฐานคิด)

 

บทบาทของพ่อแม่ต้องปรับเปลี่ยนจากผู้พูดมาเป็นผู้ฟัง โดยเฉพาะกับลูกวัยรุ่นที่ต้องการให้คนเข้าใจและยอมรับฟังความคิด ความรู้สึกของพวกเขาบ้าง แล้วบทบาทของพ่อแม่ควรทำอย่างไรเพื่อนำไปสู่การรู้จักลูกของเราดี

 

☺︎ 1. สนับสนุนให้ลูกรู้จักตัวเอง ☺︎

การรู้จักตนเอง (Self awareness) เป็นสิ่งสำคัญในการสร้างพื้นฐานชีวิตตั้งแต่วัยเด็ก เพราะการรู้จักตัวเองจะนำไปสู่การมีเป้าหมายที่ชัดเจนในชีวิต รู้ว่าตนมีความถนัด ความชอบ และความสามารถในด้านใด รู้วิธีเฉพาะตัวที่ถนัดในการเรียนรู้ของตนเองว่าทำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ หรือรู้จุดอ่อนของตัวเองทำให้สามารถหาทางแก้ไขได้อย่างทันท่วงที

 

เช่น เมื่อรู้ว่าตัวเองเป็นคนใจร้อน ก็พยายามหาทางแก้ไขหรือหลีกเลี่ยงสถานการณ์ไม่ให้เกิดอารมณ์นั้น ๆ หรือรู้ว่าจะจัดการอารมณ์ตัวเองขณะนั้นได้อย่างไร

 

คนเป็นพ่อแม่สามารถทำหน้าที่เป็นกระจกเงาสะท้อนให้ลูกได้เห็นตนเองในมุมต่าง ๆ ทั้งจุดอ่อน จุดแข็ง จุดดี จุดด้อย ฯลฯ การสะท้อนภาพด้วยวัยและประสบการณ์ของลูกอาจทำให้เขามองเห็นภาพของตัวเองได้หลากหลาย เหมาะสม หรือบิดเบี้ยวผิดจากความเป็นจริง หรือฟังจากคนรอบข้างมาอย่างผิด ๆ พ่อแม่ต้องปรับความเข้าใจของลูกที่มีต่อตัวเองให้ถูกต้องเป็นจริงให้มากที่สุด นั่นหมายความว่าพ่อแม่ต้องมองลูกด้วย สายตาความเป็นจริง มิใช่อคติหรือลำเอียง

☺︎ 2. เปิดโอกาสและให้อิสระ ☺︎

เด็กควรได้รับ “โอกาส” จากผู้ใหญ่ที่ควรทำหน้าที่ “ให้โอกาส” กับเด็กให้มากที่สุด ในที่นี้พ่อแม่ควรให้อิสระแก่ลูกในการคิดอ่านหรือทำสิ่งใด ไม่ควรเป็นผู้บงการชีวิตลูกว่าจะให้ลูกทำอะไร หรือฝากความหวังไว้กับลูกมากจนเกินไป บางคนให้ลูกสานฝันของตัวพ่อแม่เองที่ไม่สามารถทำได้สำเร็จ โดยไม่คำนึงว่าลูกจะชอบหรือถนัดในด้านนั้นหรือไม่

 

พ่อแม่ควรทำหน้าที่คอยสังเกตและสนับสนุนในสิ่งที่ลูกถนัดและทำได้ดี จะทำให้ลูกเกิดความมั่นใจ และมีความพยายามที่จะทำสิ่งที่ตัวเองชอบและทำได้ดี อย่าพยายามคิดและตัดสินใจแทนลูก แต่เปลี่ยนมาสร้างบทบาทการฟังลูกให้มาก ฟังอย่างตั้งใจ เพื่อจะได้รู้ว่าลูกคิดอย่างไร อยากทำอะไร โดยพ่อแม่ทำหน้าที่เป็นโค้ชหรือผู้แนะนำ

 

☺︎ 3. ปล่อยให้ลงมือทำ ☺︎

การเปิดโอกาสให้ลูกลองผิดลองถูก คือ ขั้นของการพัฒนาตัวเองที่เขาต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่เปิดโอกาสอย่างเดียว การเปิดโอกาสต้องปล่อยให้ลูกได้ลงมือทำด้วย เพราะการได้ลงมือทำคือการได้เรียนรู้ ได้ลองค้นหาด้วยตัวเอง ทำให้ได้มีโอกาสคิด วิเคราะห์ ฯลฯ

 

และการลงมือทำแม้อาจจะผิดพลาด แต่คนเรามีสิทธิทำผิดพลาดได้ทุกคน อยู่ที่ว่าสามารถจัดการมันได้หรือไม่อย่างไร ที่สำคัญถ้าเป็นเด็กทำผิดพลาดแล้ว พ่อแม่ได้เปิดโอกาสให้เขาได้แก้ไขข้อผิดพลาดหรือไม่ รวมถึงการเข้าใจธรรมชาติของเด็กที่พ่อแม่ควรรู้ว่าลูกของเราเป็นอย่างไร ยิ่งว่าเหมือนยิ่งยุ หรือพื้นฐานเอาแต่ใจตัวเองหรือไม่ ถ้าพ่อแม่เข้าใจธรรมชาติของเด็ก การจัดการหรือการให้โอกาสเขา จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับลูกด้วย

☺︎ 4. เคารพความคิดของลูก ☺︎

เมื่อลูกของเราค้นหาและค้นพบว่าตัวเองถนัดอะไร ชอบอะไร ซึ่งไม่ว่าสิ่งนั้นจะตรงใจพ่อแม่หรือไม่ก็ตาม ต้องเข้าใจ ยอมรับและเคารพในตัวลูกด้วย ที่สำคัญควรสร้างทัศนคติว่าพ่อแม่ลูกสามารถคุยกันได้ มีความเคารพในความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกัน

 

☺︎ 5. ไว้ใจบนความรับผิดชอบ ☺︎

พ่อแม่ไม่สามารถปกป้องดูแลลูกได้ตลอดเวลา ลูกต้องโตและช่วยเหลือตัวเอง พ่อแม่จึงควรมอบหมายความรับผิดชอบให้ลูกตั้งแต่เล็ก ๆ เช่น ในวัยเด็กเล็กอาจให้ฝึกกินข้าว ใส่เสื้อผ้าเอง พอโตขึ้นก็เพิ่มความรับผิดชอบมากขึ้นตามวัย ถ้าเข้าสู่วัยรุ่นก็เพิ่มความรับผิดชอบที่ซับซ้อนขึ้น ที่สำคัญต้องไว้ใจปล่อยให้เขาเผชิญชีวิตบนความรับผิดชอบของตัวเองด้วย

 

☺︎ 6. มีเวลาคุณภาพร่วมกัน ☺︎

พ่อแม่ควรหาโอกาสทำกิจกรรมร่วมกันหรือใช้เวลาคุณภาพที่อยู่พร้อมหน้ากัน อย่าบอกว่าพ่อแม่งานเยอะไม่มีเวลา บ้านเรามักไม่ค่อยลงทุนกับเรื่องเวลาคุณภาพ มักบอกว่าเหนื่อยกับงาน เหนื่อยกับลูก จนทำให้ต่างคนต่างอยู่ แต่ถ้าเรามีกติกาเวลาคุณภาพร่วมกัน ทุกคนก็จะพยายามจัดสรรเวลาจนได้

 

การจัดลำดับความสำคัญมีความจำเป็นมาก การมีเวลามาก ๆ แต่ไม่ใช่เวลาคุณภาพก็เป็นปัญหาเช่นกัน ถ้าเรามีเวลาน้อยแต่เป็นเวลาที่มีคุณภาพ และพร้อมจะให้เวลาทุกครั้งที่ลูกต้องการ จะเป็นภูมิต้านทานชีวิตที่ดีให้กับลูกของเรา

☺︎ 7. ยอมรับในสิ่งที่เขาเป็น ☺︎

ไม่ว่าลูกของเราจะเลือกหนทางชีวิตอย่างไร บางคนอาจเลือกเส้นทางชีวิตที่ขัดใจพ่อแม่ เป็นเรื่องที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรทำความเข้าใจ ยอมรับและพูดคุยกับลูก ใช้ความรัก ความเข้าใจและการสื่อสารทางบวก เพื่อทำให้สัมพันธภาพระหว่างกันเป็นไปด้วยดี

 

เพราะวัยรุ่นต้องการเป็นที่ยอมรับ ชื่นชม ต้องการความเข้าใจ กำลังใจ และความเห็นใจจากพ่อแม่ ครู และผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิด ความรัก ความเข้าใจ และความรู้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของพ่อแม่ในการรู้จักลูกของเราดีค่ะ

 

 

คอลัมน์ Teen Around the Mom