ข่าวประชาสัมพันธ์ : คิดคลับส์ ชวนเที่ยว Astro Night Family Camp
ชวนคู่พ่อลูก อายุ 6 - 12 ปี มาร่วมสร้างช่วงเวลาแห่งความประทับใจกับกิจกรรม Astro Night Family Camp
...“วัน ๆ ลูกเอาแต่ก้มหน้าอยู่กับจอมือถือ”...“บางวันพ่อแม่แทบไม่ได้คุยกับลูกเลย แม้จะอยู่บ้านด้วยกัน”...“เป็นห่วงลูกจะสุขภาพแย่ เพราะเอาแต่ก้มหน้าก้มตาอยู่กับมือถือ” คุณเป็นพ่อแม่ที่กำลังหนักใจเรื่องเหล่านี้อยู่หรือเปล่า ?
โทรศัพท์มือถือกลายเป็นส่วนหนึ่งของเด็กรุ่นใหม่ไปแล้ว ยุคนี้แทบจะไม่มีเด็กคนไหนที่เข้าสู่วัยรุ่นแล้วไม่มีโทรศัพท์มือถือเป็นของตนเอง ที่สำคัญบางคนเห็นว่ามันคือสิ่งที่มีคุณค่าทางจิตใจ และขาดไม่ได้ !
ช่วงระยะเวลาไม่กี่ปี โทรศัพท์มือถือเข้ามามีบทบาทในชีวิตของคนเรามากมายเหลือเกิน โดยเฉพาะเจ้า “สมาร์ทโฟน” ที่เข้าไปละลายพฤติกรรมเดิม ๆ และสร้างค่านิยมใหม่ให้กับผู้คน
ในอดีตคนเป็นพ่อแม่ที่มีลูกอยู่ในช่วงวัยรุ่นมักวิตกกังวลกลัวลูกคุยโทรศัพท์ทั้งวัน ติดโทรศัพท์ ไม่เป็นอันทำอะไร แต่เดี๋ยวนี้ลูกไม่ค่อยได้คุยโทรศัพท์แล้ว แต่ก็ยังคงติดมือถือเหมือนเดิม หรืออาจจะมากกว่าเดิมด้วย เพราะใช้วิธีคุยผ่าน Chat
งานวิจัยหลายชิ้นที่สะท้อนให้เห็นว่าเด็กรุ่นใหม่ติดโทรศัพท์มือถืออย่างหนัก กลุ่มวัยรุ่นไทยมีความรู้สึกที่ดีต่อเทคโนโลยีในแง่ของความรู้สึกปลอดภัย มั่นใจ ได้เข้าสังคม และทันสมัย ทั้งยังพบว่า มือถือมีความสำคัญเป็นอันดับ 1 ในชีวิตของพวกเขา บางคนบอกว่าถ้าขาดมือถือจะมีอาการเหมือนคนติดยา !
ผลดีอาจสร้างความสะดวกในการสื่อสารโดยเฉพาะในสถานที่งดการใช้เสียง รวดเร็วทั้งภาพและเสียง ประหยัดไม่ต้องเสียค่าโทรศัพท์ ส่วนเรื่องผลกระทบที่เป็นห่วง โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ยังมีวุฒิภาวะน้อยหากผู้ปกครองไม่ชี้แนะ ดูแล ควบคุมการใช้อย่างจริงจัง อาจจะเกิดผลกระทบทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต
ที่น่าห่วงก็คือการเกิดพฤติกรรม “ก้มหน้า” ทำให้การสื่อสารแบบเผชิญหน้าลดน้อยลง และอาจติดเป็นนิสัย จนแยกตัวจากสังคมโดยไม่รู้ตัว ไม่สนใจสิ่งรอบข้าง และนำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ ตามมาอีกมากมาย เรียกว่าเป็นอาการน่าเป็นห่วงอย่างยิ่งสำหรับเด็กยุคนี้
ในความเป็นจริงการสื่อสารต้องการมากกว่าแค่การ Chat กัน รูปแบบการปฏิสัมพันธ์ที่ควรจะมีการสื่อสารผ่านความรู้สึก สีหน้า ท่าทางและแววตา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ที่นับวันค่อย ๆ หายไป ข้อมูลจากสำนักสถิติแห่งชาติ ในปี 2561 รายงานว่า คนไทยใช้โทรศัพท์มือถือถึง 89.6 % โดยเป็นการใช้โทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟนถึง 69.6 % และอุปกรณ์ที่ใช้ในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากที่สุดก็คือ เจ้าสมาร์ทโฟนนี่แหละ สูงสุดถึง 94.7 %
โดยกลุ่มที่ใช้มือถือมากที่สุดก็คือกลุ่มวัยรุ่น สอดคล้องกับงานวิจัยในออสเตรเลีย ที่พบว่าการใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีการสื่อสารมากที่สุด คือ สมาร์ทโฟน โดยพบว่าการมีสมาร์ทโฟนเป็นของส่วนตัวของเด็กและวัยรุ่นมีสัดส่วนสูงมาก และในสหรัฐอเมริกามีสูงถึง 75 % ของจำนวนนักเรียนทั้งหมด และในสหราชอาณาจักรมีสูงถึง 90 % ของจำนวนนักเรียนทั้งหมด
ทั้งนี้ มีงานวิจัยจากโครงการ The World Unplugged Project โดยทีมนักวิจัยได้ศึกษานักเรียนกว่า 1,000 คน ใน 10 ประเทศที่เข้าร่วม ให้เด็กนักเรียนอยู่โดยปราศจากมือถือ 1 วัน ผลวิจัยชี้ให้เห็นว่ามีเด็กมากกว่า 50 % ที่ไม่สามารถทนอยู่ได้โดยไม่มีเครื่องมือสื่อสารใด ๆ และกลุ่มตัวอย่างทุกคนก็รู้สึกทรมานมาก หลายคนยอมรับว่าติดโทรศัพท์เหมือนติดยาเสพติด ถ้าไม่มีมันก็อยู่ไม่ได้ พวกเขาบรรยายความรู้สึกเมื่อไม่มีโทรศัพท์ว่า สับสน กระวนกระวาย โกรธ โดดเดี่ยว ไม่มั่นคง ไม่ปลอดภัย ตกใจ หงุดหงิด ฯลฯ
สำหรับคนเป็นพ่อแม่ก็คงไม่อยากให้ลูกมีพฤติกรรมดังกล่าว เพราะจะมีผลกระทบที่ตามมามากมาย ทั้งยังทำให้ลูกวัยรุ่นต้องขาดทักษะชีวิตหลายประการ เรามาดูกันซิว่ามีอะไรบ้าง ?
7 ทักษะของเด็กที่กำลังจะหายไป
❍ 1. ปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันลดลง พูดน้อยลง เพราะเปลี่ยนไป Chat ผ่านมือถือมากขึ้น
❍ 2. การใช้ภาษาแย่ลง เพราะด้วยรูปแบบในโลกออนไลน์ทำให้เขียนคำสั้น ๆ บางคนก็ย่อคำหรือใช้คำแสลงเฉพาะกลุ่ม
❍ 3. ปรับตัวบนโลกจริงกับผู้อื่นได้ยาก แยกตัวออกจากสังคม แต่มีโลกส่วนตัวบนออนไลน์มากกว่า
❍ 4. เคลื่อนไหวร่างกายลดลง เพราะไม่ได้ทำกิจกรรมอื่น ๆ ทำให้อ้วนง่าย
❍ 5. อยู่กับตัวเองไม่เป็น แต่ต้องไปพึ่งพิงโลกเสมือนในออนไลน์
❍ 6. ขาดโอกาสเรียนรู้สิ่งรอบตัว ทักษะเรื่องสังเกตจะน้อย
❍ 7. ห่างไกลการสัมผัสธรรมชาติ
ทั้ง 7 ข้อ เป็นเพียงทักษะที่หยิบยกมาเป็นตัวอย่างที่เห็นเป็นรูปธรรม แต่ยังมีอีกหลายทักษะที่หายไปอย่างน่าเสียดาย และกลายเป็นพฤติกรรมใหม่ที่ไม่เหมาะสมมาแทนที่
บางทีก็น่าขันเมื่อคิดว่าโลกยุคดิจิทัลที่ผู้คนมุ่งไปข้างหน้า มีการลงทุนด้วยเงินมหาศาลเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีให้ล้ำแล้วล้ำอีก แต่อีกด้านหนึ่งก็ต้องใช้งบมหาศาลเพื่อหาทางรักษาเด็กที่เข้าข่ายเป็นโรค “โนโมโฟเบีย” หรือ Nomophobia ที่มาจากคำว่า "No Mobile Phone Phobia" อันเป็นอาการที่เกิดจากความหวาดกลัว วิตกกังวล เมื่อขาดโทรศัพท์มือถือเพื่อติดต่อสื่อสาร และอาการนี้กำลังถูกเสนอจัดเป็นโรคจิตเวชประเภทหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มวิตกกังวล แล้วลูกของคุณเข้าข่ายนี้ด้วยหรือเปล่า ?