ข่าวประชาสัมพันธ์ : คิดคลับส์ ชวนเที่ยว Astro Night Family Camp
ชวนคู่พ่อลูก อายุ 6 - 12 ปี มาร่วมสร้างช่วงเวลาแห่งความประทับใจกับกิจกรรม Astro Night Family Camp
...“ใช่ลูกเราหรือนี่ เขาไม่เคยใช้คำหยาบคายขนาดนี้”...
...“มีคนบอกให้เข้าไปดูคอมเม้นท์บนออนไลน์ เพราะเห็นลูกเราใช้ภาษารุนแรงมาก”...
..."ทำไมอยู่บ้านเขาพูดปกติ แต่หยาบคายมากบนโลกออนไลน์”...
ถ้าเราเป็นพ่อแม่ที่กำลังเผชิญปัญหาเหล่านี้ คงเครียดไม่น้อย และคงอดคิดไม่ได้ว่าลูกของเราต้องเติบโตขึ้นมาท่ามกลางสภาพสังคมไทยที่มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย แบ่งขั้วกันชัดเจน และมีการใช้ภาษาที่แสดงออกถึงความขัดแย้ง จนไปถึงการใช้ความรุนแรงทางภาษา หรือที่เรียกว่า Hate Speech นั่นแหละ
คำว่า Hate Speech หรือพากย์ไทยว่า “ประทุษวาจา”
มีหมายความอย่างกว้างว่าการพูดหรือการสื่อความหมายที่สร้างความเกลียดชังระหว่างกลุ่มคนในสังคมคือ การแสดงออกด้วย “คำพูด” หรือ “วิธีการอื่นใด” ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อโจมตีกลุ่มบุคคลหรือปัจเจกบุคคล โดยมุ่งไปที่ฐานของอัตลักษณ์ซึ่งอาจจะติดตัวมาแต่ดั้งเดิมหรือเกิดขึ้นภายหลังก็ได้ เช่น เชื้อชาติ ศาสนา สีผิว สถานที่เกิด/ที่อยู่อาศัย อุดมการณ์ทางการเมือง อาชีพ หรือลักษณะอื่นที่สามารถทำให้ถูกแบ่งแยกได้ การแสดงความเกลียดชังที่ปรากฏอาจเป็นการเหยียดหยามศักดิ์ศรี หรือลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ หรือยุยงส่งเสริมให้เกิดความเกลียดชัง ตลอดจนการส่งเสริมให้เกิดความรุนแรงด้วยก็ได้
อย่าว่าแต่เด็กและเยาวชนเลยที่กำลังตกอยู่ท่ามกลาง Hate Speech มากมาย แม้แต่ผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ ก็กำลังเผชิญกันอยู่มิใช่หรือ ? ที่อยากจะเน้นเรื่องนี้ก็เนื่องเพราะเป็นห่วงเด็กและเยาวชนไทยที่ต้องเสพรับสื่อต่าง ๆ เหล่านี้รอบตัวอยู่ทุกวี่วัน ทั้งจากโลกออนไลน์ ออนแอร์ หรือแม้แต่ในบ้าน ประเภทพ่อแม่หรือครอบครัวที่มีอารมณ์ร่วมในการชอบหรือไม่ชอบทางการเมือง ชอบหรือไม่ชอบบุคคล ที่อาจมีการวิพากษ์วิจารณ์โดยขาดความระมัดระวัง หรือใช้ถ้อยคำหยาบคายก็มีไม่น้อย
แม้แต่สื่อในทุกช่องทางเองก็มีการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่เน้นประเด็นเรื่องความขัดแย้งมากกว่าเนื้อหา หรือประเด็นที่แสดงถึงผลกระทบต่อข่าวสารชิ้นนั้น ๆ และผลที่ตามมาคือไม่ได้นึกถึงผลกระทบที่เกิดกับลูกหลานของเรา หรือเด็กและเยาวชนที่ต้องเสพรับอารมณ์ร่วมเหล่านั้นไปด้วย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกออนไลน์ที่เต็มไปด้วยภาวะของความตึงเครียด การโต้ตอบแบบรุนแรง หยาบคาย เกลียดชัง ก้าวร้าว ฯลฯ สรุปก็คือเป็นภาวะของการใช้ Hate Speech กันอย่างเต็มที่แบบไร้ขีดจำกัดกลายเป็นความเกลียดชังบนโลกออนไลน์ เรียกว่าถ้าใครใจไม่ถึง บางเพจถึงกับเข้าไปอ่านไม่ได้เลยทีเดียว
ประเด็น Hate Speech จําเป็นต้องได้รับความสนใจ เพราะส่งผลกระทบในวงกว้างต่อสังคม อาจเป็นการยั่วยุให้เกิดผลร้ายต่อผู้ใดผู้หนึ่งได้เลยทันที หรือนําไปสู่ความรุนแรง เช่น การปลุกระดมให้เกลียดใคร ให้ทําร้ายร่างกาย หรือข่มขู่
นอกจากนี้หากปล่อยให้มี Hate Speech เกิดขึ้นจนชาชิน คําพูดเหล่านี้ก็จะถูกส่งต่อไปยังคนรุ่นหลัง ทําให้คนรุ่นหลังถูกปลูกฝังมาแบบผิด ๆ จนทำให้ความเคารพซึ่งกันและกันน้อยลง เกิดความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ และเกิดอคติขึ้นในสังคม
ที่ผ่านมาโทรศัพท์มือถือเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการสร้างปฏิสัมพันธ์ทางสังคมของวัยรุ่น พวกเขานำเอาเทคโนโลยีเข้ามาผสมผสานกับวิถีชีวิต พฤติกรรม วิธีคิด และตัวตนมาหลอมหลวมเข้าด้วยกันจนโลกออนไลน์กลายเป็นวัฒนธรรมที่มีอิทธิพลยิ่งต่อเด็กและเยาวชน และเมื่อวัยรุ่นมีการเสพเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือติดต่อสื่อสารกันอยู่ตลอดเวลา โอกาสที่จะเข้าไปสู่การลอกเลียนแบบพฤติกรรมก็เป็นไปได้สูง
สอดคล้องกับนักวิทยาศาสตร์ชาวอิตาลี โดย Dr.VittorioGallese, Dr.LeonardoFogassi และ Dr.Giacomo Rizzolatti จากมหาวิทยาลัยพาร์มา ประเทศอิตาลี ได้ศึกษาวิจัยเรื่อง “ทฤษฎีเซลล์กระจกเงา” (Mirror Neuron) คือ การเชื่อมโยงทฤษฎีทางสมองกับการเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กไทย โดยอธิบายไว้ว่าเซลล์กระจกเงาเป็นเซลล์ชนิดหนึ่งในสมองของมนุษย์ที่ทำหน้าที่เลียนแบบพฤติกรรมต่าง ๆ ของผู้อื่นมาเป็นพฤติกรรมของตนเอง เช่น พฤติกรรมของเด็กและเยาวชนเป็นผลมาจากเซลล์กระจกเงาไปลอกเลียนแบบพฤติกรรมตัวอย่างที่ได้พบเห็นในสังคม พัฒนาการทางด้านภาษาของเด็กเล็ก ๆ เป็นผลมาจากการทำงานของเซลล์กระจกเงา ทำให้เด็กสามารถเข้าใจเจตนาที่ซ่อนอยู่ภายใต้คำพูดของผู้พูดได้ เป็นต้น
หน้าที่ของเซลล์ชนิดนี้ ก็คือ “การลอกเลียนแบบ” เมื่อเราเห็นการกระทำของใครก็ตามที่แสดงให้เห็นถึงเป้าหมายหรือเจตนาของการกระทำของคนนั้น จะกระตุ้นให้เซลล์ชนิดนี้เกิดการลอกเลียนแบบ หรือทำตามทั้งภายในสมองและพฤติกรรมการแสดงออกภายนอก
อยากจะเตือนพ่อแม่ผู้ปกครอง รวมถึงคนที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนจึงควรระมัดระวังในการใช้คำพูด หรือการสื่อสารในทุกช่องทางที่อย่าแค่เอามันส์ สะใจ คึกคะนอง หยาบคาย รุนแรง ฯลฯ เพราะผลกระทบก็ตกไปที่ลูกหลานของเราอยู่ดี
ยิ่งถ้าเป็นช่วงวัยรุ่น สภาพร่างกายและจิตใจของกลุ่มวัยรุ่นมีความเปลี่ยนแปลงทางด้านฮอร์โมน ทางกายวิภาคของสมอง และนั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเด็กวัยรุ่นจึงมักหุนหันพลันแล่น และขาดความยับยั้งชั่งใจ เพราะสมองส่วนหน้าจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาที่ดี ที่ต้องอาศัยการเรียนรู้ ประสบการณ์ จนกว่าจะบรรลุวุฒิภาวะ
ชวนสร้างกฎลด Hate Speech ในบ้าน
❤︎ บ้านต้องเป็นเขตปลอด Hate Speech ❤︎
พ่อแม่ผู้ปกครองอยากให้ลูกเป็นอย่างไร ก็ต้องทำตัวแบบนั้น ต้องปรับตัวปรับใจตัวเองให้ได้ก่อน แม้จะไม่เห็นด้วยกับบางสถานการณ์ ก็ไม่จำเป็นต้องแสดงออกด้วยความรุนแรงทั้งโลกจริงและโลกเสมือน
❤︎ ไม่ตอบโต้ความรุนแรงด้วยความรุนแรง ❤︎
ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจาก Hate Speech จะนำไปสู่ความรุนแรงที่มากขึ้น อาจยกตัวอย่างบางสถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้ลูกได้รับรู้ และชวนพูดคุยก็ได้ สิ่งที่ควรชี้ให้ลูกเห็นคือ การแสดงความคิดเห็นสามารถทำได้ เพียงแต่เราต้องไม่ใช้วิธีตอบโต้ด้วยความรุนแรงทุกรูปแบบ
❤︎ ใช้สื่ออย่างรู้เท่าทัน ❤︎
การใช้สื่อบนโลกออนไลน์ต้องเพิ่มความระมัดระวัง เพราะมีข้อมูลทั้งจริงและเท็จมากมาย ฉะนั้น ควรจะต้องรับข้อมูลแบบมีสติ ไม่แชร์ข้อมูลใด ๆ ที่ไม่แน่ใจหรือไม่มีที่มา เพียงแค่ไม่แน่ใจ ก็ไม่ควรส่งต่อข้อมูล เพราะอาจตกเป็นเครื่องมือของการส่งข่าวลวง หรืออาจเป็นการส่งต่อความรุนแรง อีกทั้งอาจผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ก็ได้
❤︎ คิดก่อนโพสต์ ❤︎
ทุกครั้งที่คิดจะโพสต์อะไรบนโลกออนไลน์ ต้องตระหนักด้วยว่าจะไปกระทบผู้อื่นหรือไม่ อย่าโพสต์โดยใช้อารมณ์ ความรู้สึก หรือความคึกคะนอง แต่ต้องคำนึงถึงสิ่งที่จะตามมาจากการโพสต์ข้อความด้วยว่าเราจะเป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่ม Hate Speech หรือไม่
ทุกวันนี้เรากำลังเผชิญกับสังคมที่เต็มไปด้วย Hate Speech แล้วเราคำนึงกันไหมว่ากำลังสร้างเด็กในยุคต่อไปแบบไหน เด็กที่โตขึ้นมาท่ามกลางความเกลียดชังชนิดแบ่งขั้วแบ่งข้างมาเกินทศวรรษจะเป็นผู้ใหญ่ในลักษณะไหน ความจริงคนเราขัดแย้งกันได้ เห็นต่างกันได้ แต่ไม่จำเป็นต้องใช้ Hate Speech เข้าหากันมิใช่หรือ ! อยู่กันแบบ “แตกต่าง ไม่แตกแยก” ไม่ได้หรืออย่างไร ?
..."เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว เจ้า Hate Speech ก็คือแหล่งเพาะเชื้อความรุนแรงดี ๆ นี่เอง"...