7178
ข้อห้ามเมื่อพ่อแม่ลูกทะเลาะกัน

ข้อห้ามเมื่อพ่อแม่ลูกทะเลาะกัน

โพสต์เมื่อวันที่ : September 25, 2020

..."เคยไหมเมื่อคุณทะเลาะกับลูกหลุดด่าว่าลูกด้วยถ้อยคำรุนแรง"..."เคยไหมทวงบุญคุณลูกเมื่อครั้งที่โกรธจัด"..."เคยไหมโกรธมากถึงกับประจานลูกผ่านโซเชี่ยลมีเดีย"...

 

ถ้าคุณเคยมีพฤติกรรมในท่วงทำนองนี้ แล้วผลที่ตามมาเป็นอย่างไร กว่าจะทำให้บรรยากาศกลับมาเป็นเหมือนเดิมใช้เวลานานขนาดไหน บางคนถึงกับยังเป็นบาดแผลใจจนถึงอยู่ทุกวันนี้

 

ปัญหาเรื่องพ่อแม่ลูกทะเลาะกันเกิดขึ้นทุกบ้าน อยู่ที่ว่าจะมากหรือน้อย จะบานปลายหรือจัดการได้ และการทะเลาะกันก็มีได้หลากหลายวัย การจัดการก็มีความแตกต่างกัน แต่ในที่นี้จะขอมุ่งเน้นกลุ่มพ่อแม่ที่มีลูกวัยรุ่น

 

การจัดการก็จะมีความละเอียดอ่อนและซับซ้อนมากขึ้น พ่อแม่อย่าได้คิดว่าจะใช้วิธีรับมือกับลูกวัยรุ่นด้วยวิธีการเหมือนตอนที่เขายังเล็กอยู่เชียว จริง ๆ แล้วการทะเลาะกันในครอบครัวเป็นเรื่องธรรมดา สภาวะความโกรธก็เป็นเรื่องธรรมดา เพียงแต่เรื่องธรรมดาที่ว่านี้ ถ้ารับมือไม่ได้หรือไม่ดีก็อาจนำไปสู่เรื่อง ”ไม่ธรรมดา” ได้ 

 

“ไม่ธรรมดา” ก็เนื่องจากผู้ที่มีภาวะโกรธจำนวนไม่น้อยจะแสดงความโกรธออกมาด้วยขั้นพฤติกรรมที่ก้าวร้าว หรือการกระทำที่รุนแรง

 

✚ ความโกรธ (Anger) เป็นความรู้สึกหรืออารมณ์ขุ่นเคือง ไม่พอใจ ที่เกิดจากความผิดหวัง ความล้มเหลว ความกลัว หรือความไม่มั่นคง 

 

✚ ความก้าวร้าว (Aggression) เป็นปฏิกิริยาทางคำพูดหรือการกระทำที่โต้ตอบความรู้สึกโกรธหรือผิดหวังอย่างรุนแรง มุ่งที่จะให้เกิดผลต่อบุคคลและสิ่งอื่น ๆ รอบตัว หรือหันเข้าหาตัวเอง 

 

✚ ความไม่เป็นมิตร (Hostility) เป็นภาวะของความเป็นปรปักษ์ และมีความประสงค์ร้ายเกิดขึ้นเมื่อรู้สึกว่าตนเองถูกคุกคามหรือขาดพลังอำนาจ ซึ่งอาจแสดงออกอย่างตรงไปตรงมาหรือซ่อนเร้น เช่น ใช้ถ้อยคำรุนแรง พูดให้เจ็บใจ ล้อให้ได้อาย หรือไม่พูดด้วยเลย

 

✚ การกระทำที่รุนแรง (Violence) เป็นปฏิกิริยาของพฤติกรรมก้าวร้าวที่แสดงออกด้วยการทำร้าย หรือทำลายโดยตรง ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อร่างกายหรือทรัพย์สินได้ เช่น การทำลายข้าวของ การทำร้ายร่างกายผู้อื่นหรือตนเอง

 

ข้อห้ามสำหรับพ่อแม่เมื่อทะเลาะกับลูก

✖︎ ไม่ใช้ภาษาหรือถ้อยคำรุนแรง

✖︎ ไม่ทวงบุญคุณ

✖︎ ไม่กดทับให้รู้สึกด้อยค่า

✖︎ ไม่โพสต์ลงโซเชี่ยลมีเดีย

 

โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการโพสต์ลงโซเชี่ยล เป็นเรื่องสำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็นการระบายความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ ตำหนิ ต่อว่า ดุด่า ประชดประชัน หรือ ฯลฯ เพราะนั่นหมายถึงการยกระดับการทะเลาะระหว่างกัน ไปสู่สาธารณะ

เมื่ออีกฝ่ายมาพบข้อความดังกล่าว ย่อมเกิดความรู้สึกไม่ดี โกรธ และอาจบานปลายกลายเป็นเรื่องเป็นราว ความคิดที่ว่าพื้นที่บนโลกออนไลน์ที่ใช้ชื่อของตัวเองเป็นพื้นที่ส่วนตัว อยากจะทำอะไรก็ได้ ทั้งที่จริงแล้วบนโลกออนไลน์ไม่มีคำว่าพื้นที่ส่วนตัว 

 

ยกตัวอย่าง ถ้าเป็นฝ่ายแม่ที่โพสต์ต่อว่าลูก ลูกก็จะโกรธมาก เพราะเหมือนถูกประณาม เพื่อนลูกก็รับรู้ ก็ทำให้รู้สึกว่าแม่ไม่ไว้หน้า กลายเป็นว่าจากเรื่องเล็ก ๆ ที่สามารถจะเคลียร์ได้เมื่อพูดคุยกัน แต่เมื่อมีเรื่องการประจานกันออกสื่อก็เลยทำให้เกิดอาการเคือง โกรธ และไม่พูดกัน ประมาณว่าประเด็นบานปลายไปซะแล้ว

..."ยิ่งกรณีของเด็กวัยรุ่นก็อาจจะมากหน่อย เพราะเป็นเรื่องของช่วงวัยด้วย"...

ประเด็นคือเมื่อคนเราขาดสติ ขาดความยับยั้งชั่งใจ ก็จะขาดการคิดวิเคราะห์ ไตร่ตรอง อาจทำให้เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้ในทันที ฉะนั้น โปรดคิดสักนิดก่อนโพสต์เรื่องแย่ ๆ ประเภทต่อว่าคนที่เรารักบทโลกออนไลน์ เพราะไม่ว่าจะเป็นเพราะอารมณ์ชั่ววูบ แต่วูบนั้นอาจนำพาให้ชีวิตของเราพังได้เช่นกัน

 

 

ฉะนั้นเมื่อเกิดปัญหาทะเลาะกับคนที่เรารัก ให้พยายามหาทางทำให้อารมณ์สงบให้เร็วที่สุด พยายามเรียกสติและควบคุมตัวเองให้ได้ หรือหากิจกรรมอื่น ๆ เพื่อให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้นก่อน แต่ถ้าคุณเป็นคนที่ควบคุมตัวเองไม่ได้ดีนัก ก็ขอว่าอย่าเพิ่งใช้โซเชี่ยลมีเดีย เพราะอาจเก็บอารมณ์ไม่อยู่ ระบายความรู้สึกผ่านโลกออนไลน์ ซึ่งอาจทำให้คุณรู้สึกดีขึ้นที่ได้ระบายความรู้สึกในขณะนั้น แต่หารู้ไม่ว่า เมื่อผู้คนเข้ามาอ่านก็อาจกลายเป็นประเด็นขยาย และเมื่อลูกได้อ่าน เขาจะรู้สึกอย่างไร ลองคิดถึงใจเขาใจเราด้วย

 

สิ่งที่ควรทำตอนที่อารมณ์กำลังคุกรุ่น หรือโกรธคือ อยู่เฉย ๆ อย่าเพิ่งทำอะไร จัดการอารมณ์ของตัวเองให้หายโกรธก่อนค่อยคิดอีกที เชื่อเถอะว่าเวลาที่ผ่านไปช่วยได้จริง ๆ รอให้ใจเย็นลงและหาวิธีที่แก้ปัญหาอย่างมีสติ

คนเรามักตกหลุมพรางว่าอะไรที่ทำให้รู้สึกดีมันย่อมดีกับชีวิตและสุขภาพ แม้เราจะรู้สึกดีหลังระบายออกไป แต่ความรู้สึกดีนั้นอาจทวีความรุนแรงและความโกรธได้ การได้ระบายความรุนแรงออกมา อาจเผลอไปทำร้ายคนอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย และเมื่ออารมณ์พุ่งพล่านสงบเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว อย่าลืมที่จะชวนอีกฝ่ายพูดคุยว่า ต้นตอของความโกรธเกิดจากอะไร และลูกคิดอย่างไรกับสถานการณ์นั้น ๆ แล้วร่วมกันหาทางออกหรือแก้ปัญหา

 

ภาวะโกรธเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน ถ้ามีการปรับตัวและอารมณ์ต่อความโกรธอย่างเหมาะสมและสร้างสรรค์จะเป็นประโยชน์ต่อการแก้ปัญหา การตัดสินใจ และเกิดพลังในการดำเนินชีวิต ดังนั้นการรู้เท่าทันอารมณ์และความรู้สึกโกรธของตนเองมีความสำคัญและจำเป็นมาก แต่เหนือสิ่งอื่นใด การกระทำของพ่อแม่ การจัดการอารมณ์ของพ่อแม่ ล้วนแล้วอยู่ในสายตาของลูก และเป็นแบบอย่างให้กับลูกอย่างแน่นอน 

 

..."โกรธคือโง่ โมโหคือบ้า ท่องคำพระนี้ไว้ให้ขึ้นใจก็ดี"...