ข่าวประชาสัมพันธ์ : คิดคลับส์ ชวนเที่ยว Astro Night Family Camp
ชวนคู่พ่อลูก อายุ 6 - 12 ปี มาร่วมสร้างช่วงเวลาแห่งความประทับใจกับกิจกรรม Astro Night Family Camp
...“ลูกไม่เชื่อฟังพ่อแม่เลย ต่อต้านตลอด”...“ทำไมลูกถึงดื้ออย่างนี้ ดื้อตั้งแต่เล็กจนโต”...“อยากให้ลูกดื้อน้อยลง ไม่รู้จะทำอย่างไรดี”... คุณเป็นพ่อแม่ที่เคยมีอารมณ์ประมาณนี้หรือเปล่า ? คนเป็นพ่อแม่ร้อยทั้งร้อยมักจะชื่นชมและชื่นชอบลูกในเวลาที่ลูกเชื่อฟัง หรือปฏิบัติตามที่พ่อแม่ต้องการ แล้วก็จะบอกว่าลูกช่างเป็นเด็กดี เป็นเด็กว่าง่าย เลี้ยงง่าย
ตรงกันข้ามถ้าลูกไม่เชื่อฟัง ไม่ทำตาม หรือดื้อรั้น พูดอะไรมักจะเถียง หรือไม่ฟังพ่อแม่ ก็มักทำให้พ่อแม่หัวร้อนหรืออารมณ์เสีย และลงท้ายต่อว่าลูกว่าเป็นเด็กดื้อ เลี้ยงยาก ยิ่งถ้ามีลูก 2 คนขึ้นไปแล้วมีนิสัยตรงข้ามกันอย่างนี้ ลูกคนที่เชื่อฟังก็มักจะกลายเป็นลูกคนโปรด และความคิดทำนองนี้ก็ไม่ใช่เฉพาะกับคนที่เป็นพ่อแม่ลูกเท่านั้น แต่ผู้ใหญ่ในสังคมทุกระดับก็มักจะชื่นชอบเด็กในทุกระดับที่เชื่อฟังเช่นกัน เช่น ในโรงเรียน ในสถานที่ทำงาน ฯลฯ
เราต้องยอมรับว่าค่านิยม และทัศนคติในการเลี้ยงดูลูกในบ้านเรา ยังคงเป็นเรื่องที่ถูกอบรมบ่มเพาะกันรุ่นต่อรุ่นในการสอนให้ลูกเชื่อฟังพ่อแม่แล้วลูกจะเติบโตเจริญก้าวหน้า โดยให้ความคิดที่ว่าเพราะพ่อแม่รักลูก สิ่งที่ทำล้วนแล้วแต่ปรารถนาดีต่อลูกทั้งสิ้น
จะว่าไปแล้วเรื่องเด็กดื้อต้องถือเป็นเรื่องปกติและเป็นขั้นหนึ่งของการเจริญเติบโต และการแสดงพฤติกรรมที่ดื้อหรือไม่เชื่อฟังจะช่วยให้เด็กรับรู้ถึงขอบเขตกฎเกณฑ์ของพ่อแม่ และถ้าพ่อแม่สามารถรับมือได้ดี สุดท้ายมักจะนำไปสู่การทำให้เด็กรู้จักควบคุมอารมณ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการที่ช่วยให้เด็กได้เรียนรู้และค้นหาตัวเอง กล้าแสดงบุคลิกและลักษณะนิสัยเฉพาะตน
ทางที่ดี พ่อแม่ควรจะปรับเปลี่ยนวิธีคิดที่มองว่าลูกดื้อมาแปรเปลี่ยนให้กลายมาเป็นคนที่สามารถเห็นจุดอ่อนจุดแข็งของลูก และเสริมในสิ่งที่ขาดน่าจะทำให้เด็กเติบโตขึ้นไปอย่างมีคุณภาพ โดยเน้นส่งเสริมศักยภาพให้เหมาะสมกับตัวลูก เพราะถึงที่สุดแล้วพฤติกรรมต่าง ๆ ของลูกเราต่างก็มีทั้งข้อดีข้อเสีย อยู่ที่มุมมองของคนเป็นพ่อแม่ด้วย และจะว่าไปข้อดีของเด็กดื้อก็มีนะ
✚ มีแนวโน้มเป็นเด็กที่มีความคิดสร้างสรรค์ ✚
ลูกที่ไม่ค่อยเชื่อฟังหรือทำตามคำสั่งของพ่อแม่ ส่วนหนึ่งลูกอาจกำลังมีความคิดที่อยากจะทดลองทำอะไรบางอย่างด้วยตัวเอง ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้จะช่วยหล่อหลอมให้ลูกเป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์ เมื่อประสบปัญหาลูกก็มักจะหาทางแก้ด้วยตัวเอง เพราะธรรมชาติของเด็กคือชอบที่จะได้สำรวจและเรียนรู้ทุกสิ่งรอบตัว ความตื่นเต้นเมื่อได้พบเจอสิ่งใหม่ ๆ จึงทำให้ลูกสนใจกิจกรรมหรือสิ่งตรงหน้ามากกว่าคำพูดของพ่อแม่
✚ แนวโน้มเป็นเด็กที่มีความอดทนอดกลั้น ✚
เด็กดื้อมักจะเป็นเด็กที่มีความอดทนมากกว่าเด็กทั่วไป เพราะความดื้อจะทำให้เขาต้องทนกับการถูกตำหนิ ต่อว่า หรือถูกทำโทษ ซึ่งประสบการณ์เหล่านี้ จะเป็นเหมือนเกราะป้องกันให้ลูกเป็นเด็กที่มีจิตใจมั่นคงและมีความอดทนต่อแรงกดดันได้
✚ มีแนวโน้มเป็นเด็กรู้จักตัวเอง ✚
การที่ลูกมีอาการต่อต้านและไม่เชื่อฟังคำสั่งของพ่อแม่ บางครั้งอาจไม่ได้เกิดจากการที่ลูกเอาแต่ใจตัวเองอย่างไม่มีเหตุผลอย่างเดียว แต่อาจเกิดจากการที่เขาสามารถเข้าใจความรู้สึกของตัวเองได้ว่าต้องการหรือไม่ต้องการอะไร หากพ่อแม่ตอบสนองต่อสิ่งเหล่านี้อย่างถูกวิธีก็จะช่วยให้ลูกมีความมั่นใจในตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ลูกประสบความสำเร็จในชีวิตได้
✚ มีแนวโน้มเป็นเด็กที่มีความพยายามสูง ✚
เด็กที่มีความดื้อจะมีความพยายามสูง เพราะความมั่นใจในความคิดของตัวเอง ทำให้ไม่ยอมล้มเลิกความพยายามได้ง่าย ๆ เช่น พ่อแม่ห้ามไม่ให้ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เขาก็ยังคงหาโอกาสแอบทำสิ่งนั้นอยู่บ่อย ๆ ลองคิดดูว่าถ้าพ่อแม่เห็นคุณค่าของความพยายามทดลองทำอะไรของลูก จะทำให้ลูกเป็นเด็กที่มีความตั้งใจและมีความพยายามที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ให้สำเร็จ แต่หากพ่อแม่เข้มงวด ออกคำสั่ง และห้ามลูกมากเกินไป จะทำให้ลูกขาดความเชื่อมั่น และละทิ้งความพยายาม
✚ มีแนวโน้มเป็นเด็กกล้าเผชิญปัญหา ✚
เมื่อเด็กดื้อประสบปัญหาก็กล้าที่จะเผชิญ ไม่หลีกหนี มีเด็กจำนวนไม่น้อยที่ไม่กล้าปฏิเสธ ปฏิเสธไม่เป็น หรือเมื่อเกิดปัญหาก็ไม่กล้าเผชิญ เมื่อโตขึ้นไปอาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ได้ สิ่งที่พ่อแม่ควรทำ คือ ฝึกให้ลูกปฏิเสธให้เป็น เมื่อเจอสถานการณ์ที่ไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม แต่กล้าที่จะเผชิญปัญหาเมื่อคิดว่าสิ่งที่ทำนั้นถูกต้อง
เด็กยุคนี้มีสิ่งเร้าเยอะมาก นอกจากการเลี้ยงดูแล้ว สิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็กก็มีความสำคัญไม่น้อย ฉะนั้น การเลี้ยงดูโดยพยายามฝึกให้เขามีเหตุมีผลตั้งแต่เล็กจะช่วยได้ การเชื่อฟังพ่อแม่เป็นเรื่องดี แต่ก็สามารถที่จะแย้งได้เมื่อเห็นต่าง รวมไปถึงการฝึกให้เขาได้ช่วยเหลือตัวเอง ทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง ต้องฝึกตั้งแต่เล็ก ถ้าฝึกตอนโต มักได้ผลในทางตรงข้าม อย่ามัวแต่เพ่งจะหาวิธีแก้ปัญหาลูกดื้อหรือเชื่อฟังเกินไปเลย จะดื้อหรือไม่ดื้อต้องดูพฤติกรรมอื่นอย่างที่ยกตัวอย่างมาให้เห็นประกอบด้วยและต่อให้ “ดื้อ” ก็ถือว่าเป็นข้อ “เด่น” และ “ดี” ได้เช่นกัน