1530
กฎของการสื่อสารกับลูกวัยรุ่น !

กฎของการสื่อสารกับลูกวัยรุ่น !

โพสต์เมื่อวันที่ : October 16, 2020

..."Actions speak louder than words – การกระทำเสียงดังกว่าคำพูด !"...

 

เป็นประโยคคุ้นหูที่ได้ยินบ่อย ๆ แต่เชื่อไหมว่าพ่อแม่ส่วนใหญ่มักใช้คำพูดนำการกระทำเสมอ ไม่ว่าจะเพราะชั่ววูบ ลืมตัว หรือเพราะคิดว่าตัวเองเป็นพ่อแม่ ฯลฯ ผลที่ตามมาจึงมักกลายเป็นปัญหาเรื่องสัมพันธภาพในครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อลูกเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น 

 

ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการสื่อสารในครอบครัวที่ไม่มีประสิทธิภาพอยู่แล้ว หรือไม่ก็เพราะมีการสื่อสารกันน้อยเพราะคิดว่าคนในครอบครัวรักกัน รู้ใจกัน ไม่จำเป็นต้องพูดคุยกันมากก็ได้ 

 

แต่ความจริงการพูดคุยสื่อสารในครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญมาก ต้องมีการสื่อสารที่ดี เพราะถึงแม้ว่าคนในครอบครัวจะอยู่ด้วยกันมานานก็อาจไม่ได้รู้ใจกันในทุกเรื่อง การพูดคุยสื่อสารกันจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้คนในครอบครัวเกิดความเข้าใจที่ตรงกัน และลดช่องว่างระหว่างวัยลงด้วย 

 

การสื่อสารภายในครอบครัวเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสัมพันธภาพที่ดีให้เกิดขึ้นกับสมาชิกในครอบครัว ไม่ว่าจะบทบาทสามีภรรยา ปู่ย่าตายาย พ่อแม่ลูก ฯลฯ ล้วนแล้วอยู่ในสายตาของเด็ก ถ้าเด็กได้เห็นแบบอย่างที่ดี การสื่อสารที่ดี ก็เท่ากับเป็นการสอนลูกทางตรงตั้งแต่เขายังเล็ก ตรงกันข้ามถ้าเขาเติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่ใช้การสื่อสารร้าย ๆ ลบ ๆ เขาก็จะนำเอาคำเหล่านั้นติดตัวไป

 

ฉะนั้นการสร้างภูมิต้านทานในครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง การสื่อสารภายในครอบครัว สื่อสารกับลูกมีความสำคัญ แต่ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น คือ “การกระทำ” ที่มีต่อลูก

 

..."คำพูดของพ่อแม่เป็นร้อยเป็นพันคำ อาจไม่เท่าการกระทำที่มีต่อลูกเพียงครั้งเดียว !"...

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อลูกเข้าสู่วัยรุ่น การสื่อสารกับลูกก็ต้องให้เหมาะสมกับวัย เข้าใจพัฒนาการตามวัยของเขา เรียนรู้จักพื้นนิสัยของลูก ก็จะทำให้การสื่อสารของพ่อแม่สามารถรับมือได้อย่างเหมาะสม

 

ต้องยอมรับว่า การแสดงความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูกของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ฉะนั้น เรื่องท่าทีหรือการกระทำจึงมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าคำพูด เพราะพ่อแม่บางคนอาจไม่ได้บอกรัก แต่ด้วยการกระทำก็เป็นการแสดงออกที่ลูกสัมผัสได้ ตรงกันข้ามกับพ่อแม่ที่แม้จะบอกรักลูกทุกวัน แต่ดูเหมือนลูกกลับสัมผัสไม่ได้

 

ท่ามกลางสังคมที่เปราะบาง การแสดงความรัก ท่าทีที่เป็นมิตร การกระทำที่เป็นแบบอย่างจะเป็นเกราะกำบังให้เด็กเติบโตขึ้นไปอย่างมั่นใจและมั่นคงทางอารมณ์ ลองทบทวนดูว่าคุณเป็นพ่อแม่ที่มีการสื่อสารและการกระทำกับลูกที่ไปในทิศทางเดียวกันหรือเปล่า ?

 

❤︎ 1. สื่อสารสองทาง (Two-way Communication) ❤︎

คุณได้เปิดโอกาสให้มีการถามและรับฟังความคิดเห็นของลูก เป็นการสื่อสาร 2 ทางหรือเปล่า หรือคุณเป็นพ่อแม่ที่มักจะสื่อสารทางเดียว ได้มีการเปิดให้ลูกโต้ตอบหรือแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งจะทำให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกันได้มากขึ้น

 

❤︎ 2. ใช้ปิยวาจา ❤︎

การใช้ปิยวาจาสื่อสารในครอบครัว ไม่ว่าจะชอบใจหรือไม่ชอบใจเป็นจุดเริ่มต้นของการแสดงท่าทีของความรัก ความห่วงใย คำพูดที่ให้กำลังใจในยามท้อแท้ หรือการพูดปลอบใจอีกฝ่ายมีความจำเป็นเสมอ ไม่ว่าในยามอารมณ์ขุ่นมัวหรือโกรธโมโห ก็ต้องมีกฎไม่ใช้คำหยาบ ดุด่า ต่อว่า ฯลฯ ควรตั้งสติให้ได้ก่อนที่จะพูดจาสิ่งใดออกไป โดยเฉพาะในห้วงอารมณ์ทีไม่ปกติ

 

❤︎ 3. การกระทำและคำพูดสอดคล้องกัน ❤︎

หลายสถานการณ์คำพูดกับท่าทีของคนเราไม่ได้ไปด้วยกัน คนที่รับฟังจะรับรู้ได้ว่าไม่จริงใจ เช่น การใช้คำพูดว่าขอโทษ แต่คนพูดอาจพูดเพียงเพื่อให้เรื่องจบ ๆ แต่ไม่ได้ขอโทษเพราะคิดว่าสิ่งที่ตนทำนั้นผิดจริง สุดท้ายก็อาจทำให้สถานการณ์แย่ลงด้วย

 

ฉะนั้น จำเป็นต้องให้ลูกเรียนรู้ว่าการสื่อสารที่ดี คำพูดดี ๆ มากมายที่ควรพูดและผู้คนอยากได้ยิน ก็ต้องมาพร้อมกับท่าทีที่จริงใจ มิใช่เสแสร้ง ยิ่งยุคนี้ผู้คนใช้โลกออนไลน์กันมากขึ้น การแสดงท่าทีที่จริงใจของผู้คนก็จะลดน้อยลง เพราะเห็นกันผ่านออนไลน์ แต่ไม่เห็นหน้ากัน ไม่เห็นอารมณ์ความรู้สึกของกันและกัน 

❤︎ 4. ภาษาทางกาย ❤︎

ท่าทางการแสดงออกของพ่อแม่ขณะสื่อสารกับลูกจะอยู่ในสายตาเขาตลอดว่าสนใจรับฟังสิ่งที่ลูกพูดหรือไม่ หรือเพียงแค่การมองหน้าเท่านั้น การโน้มตัวเข้าหา การสัมผัสจะช่วยให้เกิดความรู้สึกทางใจถึงความรักใคร่ อบอุ่น และสนิทสนม เช่น การจับมือ โอบกอดด้วยท่าทีที่เป็นมิตร สีหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใส แสดงอาการใส่ใจ เพราะมันคือการแสดงออกว่าเราสนใจ ตั้งใจรับฟัง และเห็นความสำคัญของเขาอย่างจริงใจ ซึ่งจะทำให้การพูดจาง่ายขึ้น และบางสถานการณ์อาจช่วยระงับอารมณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างการพูดคุยได้ รวมถึงการรับฟังความคิดเห็นของลูกด้วย

 

❤︎ 5. ใช้ I-Message ❤︎

การใช้ I-Message เป็นเทคนิคการสื่อสารทางบวก โดยเฉพาะกับเด็กและวัยรุ่น เป็นการสื่อสารที่โน้มน้าวทำให้อีกฝ่ายเต็มใจที่จะปฏิบัติตาม เช่น แม่พูดว่า “แม่คิดว่าตอนนี้ดึกแล้วถึงเวลานอน แม่กลัวลูกตื่นไปโรงเรียนพรุ่งนี้ไม่ไหวนะจ๊ะ” แทนที่จะพูดโดยใช้ You-Message ว่า "ดึกป่านนี้แล้วลูกยังไม่ไปนอนอีก ทำไมไม่รู้จักเวล่ำเวลาเลย”

 

รวมไปถึงการสื่อสารเชิงบวกที่มีการแสดงความชื่นชมและขอบคุณกันในโอกาสที่เหมาะสม เช่น การชมลูกเมื่อลูกช่วยทำงานบ้าน หรือรับผิดชอบงานที่ได้รับมอบหมาย เป็นต้น รวมทั้งให้กำลังใจกัน เมื่อสมาชิกในครอบครัวประสบปัญหาบางอย่างในชีวิต

 

หลีกเลี่ยงการสื่อสารทางลบ ได้แก่ การใช้สีหน้าบึ้งตึง เฉยเมย เย็นชา การใช้วิธีเงียบไม่พูดเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง การพูดที่คลุมเครือไม่ชัดเจนซึ่งอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ และการพูดที่มีลักษณะสั่งสอน ติเตียน ประชดประชัน ก็จะยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลง

 

..."5 ข้อนี้เป็นปฐมบทพื้นฐานที่อาจจะเรียกว่า “ศีลห้าของการสื่อสารกับลูก” ก็ได้ ลองทำให้เป็นกิจวัตรนะคะ"...