11658
เมื่อลูกไม่สวัสดี

เมื่อลูกไม่สวัสดี

โพสต์เมื่อวันที่ : November 2, 2020

คนไทยทักทายกันด้วยคำว่า “สวัสดี” พร้อมกับยกมือสองข้างขึ้นประนมและไหว้ในระดับต่าง ๆ เพราะการไปลา-มาไหว้นั้นเป็นมารยาทตามวัฒนธรรมไทยแสดงถึงสัมมาคารวะ การให้เกียรติซึ่งกันและกันโดยเฉพาะต่อผู้ใหญ่ที่เราเคารพ

 

แต่ปัญหาหนักอกในฐานะของพ่อแม่ก็คือ ลูกไม่ค่อยยกมือไหว้ตามที่เราสอนหรือบอกกล่าว โดยผู้ใหญ่บางท่านอาจเข้าใจว่าลูกเป็นเด็กที่ไม่มีมารยาทหรือพ่อแม่ไม่สั่งสอนให้ต้อง ‘ไหว้’ ทักทายผู้หลักผู้ใหญ่ และหลายครั้งต้องลงเอยที่การบังคับให้ลูกสวัสดีผู้ใหญ่แบบไม่เต็มใจไป

 

ทั้งที่ในความจริงแล้วการยกมือไหว้ สวัสดี ขอโทษ เป็น “สิทธิ” ที่พึงมีของลูกที่จะทำหรือไม่ทำครับ เหมือนพฤติกรรมทุกพฤติกรรม ลูกจะเลือกเองว่าจะทำเอง หรือไม่ทำ เพราะการแค่ "บังคับทำ" คงไม่ใช้คำตอบของการสอนที่ดีให้ได้ผลดีในระยะยาว สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่สามารถทำเพื่อให้ลูกร่วมมือในการยกมือขึ้นทักทายและพูดคำว่า “สวัสดี”

 

✚ การเป็นตัวอย่างที่ดี ✚

ทักทายและไหว้คนอื่นให้เป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องที่ดีที่พึงกระทำ โดยเริ่มจากคนในครอบครัว ตื่นเช้าเจอหน้ากันพูด “อรุณสวัสดิ์” หรือ “สวัสดีตอนเช้าครับ/ค่ะ”​ พบหน้าผู้ใหญ่หรือบุคคลที่ 3 คุณพ่อคุณแม่ก็ทักทายพูดคำว่า “สวัสดี” และยกมือไหว้ทักทายกันให้เป็นกิจวัตร โดยลูกจะค่อย ๆ ซึมซับกิจวัตรเหล่านี้จนกลายเป็นเรื่องที่ทำกันเป็นปกติของครอบครัวไปโดยที่ไม่ต้องบังคับให้ทำ

 

✚ เตรียมการและบอกกล่าวก่อนเมื่อต้องไปพบบุคคลอื่น ✚

เพื่อให้ลูกรับรู้ว่ากำลังจะไปเจอใครและควรทักทายอย่างไรโดยคุณพ่อคุณแม่อาจให้คำง่าย ๆ เช่น “อยากจากบ้านวันนี้ เดี๋ยวพ่อจะไปคุยงานกับน้าเอแป๊บนึงนะลูก อย่าลืมสวัสดีน้าเอด้วยนะครับ” หรือ “เดี๋ยวคุณยายมาหาที่บ้าน เราจะทักทายคุณยายยังไงดีนะ ?” เป็นต้น

 

✚ ไม่กดดันหรือสั่งเพื่อให้ทำตาม ✚

เพราะเมื่อเราสั่งหรือบังคับ ลูกจะมีแนวโน้มที่จะต่อต้านอยู่แล้วไม่มากก็น้อย บางครั้งการไม่สวัสดี ไม่ไหว้ อาจไม่ได้เกิดจากการไม่อยากสวัสดี ไม่อยากไหว้ แต่อาจเกิดจากการต่อต้าน ‘คำสั่ง’ หรือ ‘การบังคับ’ จากคุณพ่อคุณแม่ก็ได้ครับ ปรับพฤติกรรมเชิงบวก ไม่ว่ากล่าวไม่เมื่อทำ แต่ชมเมื่อทำตาม

 

✚ พฤติกรรมที่ดี ✚

อย่างการสวัสดี เป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการเลี้ยงลูกเชิงบวกที่จะปลุกพลังบวกในตัวเราให้แผ่ซ่านไปยังลูกว่า "สิ่งนี้ดี ควรทำนะคะ" ซึ่งแน่นอนบางคนทำตามเลย บางคนต้องใช้เวลา และบางเวลาก็ไม่ใช่เวลาที่พร้อมจะทำตามครับ อย่าถือเป็นเรื่องใหญ่แต่ให้ค่อย ๆ สอนกันไปครับ ยังมีพฤติกรรมดีอีกมากมายที่รออยู่ให้เขายอมทำครับ

 

...เพราะการไม่ไหว้ ไม่ใช่อาชญากรรม...

...เพราะการไม่ไหว้ ไม่เท่ากับ การเป็นเด็กไม่ดี...

✚ หลีกเลี่ยงการใช้คำพูดเชิงลบเมื่อลูกไม่สวัสดี ✚

เช่น ไม่น่ารักเลย หรือเป็นเด็กไม่ดี เป็นต้น ไม่ต้องไปว่าเขา แต่สอนเขาว่าการไหว้ การทักทาย เป็นมารยาททางสังคมที่ดี ที่เราควรสอนให้ลูกรู้ว่า "ควรทำ" และ "น่าทำ" แล้วก็ไม่ต้องไปว่าลูกของคนอื่นด้วยนะครับ

 

✚ สร้างความเข้าใจว่าสิ่งใด ‘ควรทำ’ และ ‘ไม่ควรทำ’ ✚

บอกสั้น ๆ ง่าย ๆ ตรงไปตรงมาไม่ว่าจะเป็นการสอนให้ “สวัสดี” หรือ “ขอบคุณ” ผ่านกิจวัตร เงื่อนไข กฎเกณฑ์ที่เหมาะสมตามวัยผ่านวินัยเชิงบวกที่ชัดเจน และสม่ำเสมอ ชมเชยเมื่อทำ หลีกเลี่ยงการลงโทษด้วยวาจาหรือร่างกายเมื่อไม่ทำ

 

สำหรับเรื่องการสวัสดี ปัญหานี้สำหรับคุณแม่หลายคนนี่กุมขมับเลยครับ บางคนไม่ยอมสวัสดีใครทั้งนั้นก็มีครับ บางคนก็มีท้าทายเล็กน้อยแบบน่ารักเหมือนลูกเพื่อนหมอที่ยกมือค้างไม่ยอมเอามือสองข้างมาชิดกัน แล้วหันมาถามว่า "แค่นี้พอหรือยัง" เอากับเขาสิ