791
การตี ความรุนแรง และสิ่งที่ควรทำในวันที่เราเป็นพ่อแม่

การตี ความรุนแรง และสิ่งที่ควรทำในวันที่เราเป็นพ่อแม่

โพสต์เมื่อวันที่ : August 30, 2021

...“ไม้เรียวสร้างคน"...

...“รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี”...

..."ที่ได้ดีแบบทุกวันนี้ก็เพราะไม้เรียวนี่แหละ”...

 

ประโยคชินหูที่หลายคนคงเคยได้ยิน และหลายคน “เชื่อ” อย่างนั้นจริง ๆ ว่าการเลี้ยงลูกให้ได้ดี คือ การเลี้ยงลูกให้อยู่ในโอวาทด้วยคำสั่ง ด้วยการตี และด้วยความรุนแรงโดยเฉพาะเมื่อเด็กทำพฤติกรรมที่ไม่ดี เด็กต้องได้รับการลงโทษด้วยการตีเพื่อให้เกิด “ความหลาบจำ” ต้องเจ็บที่เนื้อจึงจะจดจำที่สมองและไม่ทำผิดแบบเดิม ๆ อีก หลายคนถูกเลี้ยงด้วยหลักการนี้และเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่มีอาชีพการงานที่ดีเลี้ยงตัวเองได้และสร้างครอบครัวใหม่ของตนเอง พวกเขาเหล่านี้หลายคนก็ส่งต่อชุดความคิด ระเบียบแบบแผนในการเลี้ยงลูกแบบที่ตัวเองเติบโตมาผ่านต่อไปยังรุ่นลูกและรุ่นหลานต่อไป 

 

...“อย่าชมมาก เดี๋ยวเหลิง”...

...“ทำผิดต้องตีถึงจะหลาบจำ” ...

จริง ๆ แล้วนั้นมันเป็นแบบนี้หรือไม่ ? เราได้ดีจากไม้เรียวจริงหรือ ? 

คำตอบจากการศึกษาวิจัยเชิงจิตวิทยาการแพทย์และสังคมพบว่า “ไม่จริง” มนุษย์ใช้วิธีผูกมัด กักขัง เฆี่ยนตี เพื่อควบคุมสัตว์ให้ "เชื่อง" ทำตามคำสั่ง เอาไปใช้งานได้ และมนุษย์ก็ใช้วิธีการเดียวกันนี้กับมนุษย์ด้วยกันเองเพื่อควบคุมให้ "เชื่อ(ฟั)ง" แต่หารู้ไม่ว่ามันอาจสร้างบาดแผลระยะยาวให้กับเด็กคนหนึ่งที่จะเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ไปตลอดกาล และมันอาจจะส่งผลต่อทัศนคติ การตัดสินใจ การใช้ชีวิต ความนับถือตัวเอง รวมถึงเพิ่มโอกาสการเกิดโรคทางอารมณ์และจิตใจอีกมากมาย 

"การตี"​ "การด่า" "การประจาน"

อาจหยุดพฤติกรรมที่ไม่ดีได้ในระยะสั้น แต่ไม่มีประสิทธิภาพอะไรเลยในระยะยาว และการทำโทษด้วยความรุนแรงโดยเฉพาะยิ่งด่าหรือตะคอกกับเด็กก่อนอายุ 13 ปี จะเพิ่มโอกาสที่จะทำให้ลูกซึมเศร้า หรือทำให้ลูกกลายเป็นเด็กมีปัญหาความรุนแรง (Conduct problems) ได้

 

การศึกษาล่าสุดจากประเทศแคนาดาที่ตีพิมพ์ลงวารสารทางการแพทย์ BMJ ได้รวบรวมข้อมูลเด็กวัยรุ่นกว่า 400,000 คนจาก 88 ประเทศทั่วโลกที่ประกอบด้วยประเทศหรือเขตการปกครองที่มีกฎหมาย “ห้ามการทำโทษด้วยกำลัง” (Bans on corporal punishment) หรือการตีเด็ก 30 ประเทศเช่น นิวซีแลนด์ ไอซ์แลนด์ โปรตุเกต และประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย เป็นต้น และประเทศที่ไม่มีกฎหมายห้าม พบว่า ประเทศที่มีการห้ามการลงโทษด้วยการตีเด็กอย่างเข้มงวดนั้นเป็นสังคมที่มีความปลอดภัยสำหรับการเติบโตของเด็กมากกว่า และพบว่าอุบัติการณ์ความรุนแรงในเด็กวัยรุ่นน้อยกว่าอีกด้วย โดยในประเทศที่มีการห้ามการลงโทษด้วยกำลังพบว่าปัญหาความรุนแรงการทะเลาะเบาะแว้งของวัยรุ่นชายน้อยกว่าประเทศที่ไม่ห้ามถึง 31% ในเพศหญิงลดลงมากกว่าครึ่ง (58%) เลยทีเดียว

 

นั่นหมายความว่า ประเทศที่ไม่ลงโทษเด็กด้วยการตีพบปัญหาความรุนแรงของวัยรุ่นน้อยกว่า ทั้งนี้นักวิจัยให้ข้อสรุปว่าการห้ามการทำโทษด้วยการตีนั้นเปลี่ยนวิธีของผู้ปกครองในการปรับพฤติกรรมและวิถีการเลี้ยงดูลูกตลอดจนสังคมที่มีความรุนแรงลดลงซึ่งอาจส่งผลให้เด็กเติบโตมาใช้ความรุนแรงลดลง 

 

ผู้ใหญ่หลายคนมักเลือกใช้การลงโทษด้วย “การตี” เป็นทางเลือกแรก ๆ ในการปรับพฤติกรรมเด็ก เนื่องจากเป็นวิธีการที่ง่ายที่สุดที่จะหยุดพฤติกรรมตรงหน้าของลูกหลานลงได้ เพียงแค่ยกมือขึ้นตี หยิบไม้เรียวขึ้นหวด หรือถอดเข็มขัดฟาดเท่านั้นเอง แต่ในแง่ของจิตวิทยาในผู้ถูกกระทำ อาจจดจำได้เพียงความรุนแรง อารมณ์โกรธไม่พอใจของพ่อแม่เท่านั้น เด็กหลายคนเลือกที่จะ “ถอยหนี” (Flight) เพียงเพราะความกลัวที่จะถูกทำโทษ ในขณะที่เด็กหลายคนเลือกที่จะ “สู้ตาย” (Fight) แสดงออกด้วยความก้าวร้าว สู้กลับ ตีพ่อตีแม่ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการตอบสนองแบบใดต่อการถูกตี การตีนั้นอาจไม่ได้สอนให้เด็กเข้าใจจริง ๆ ว่า “เหตุใด เขาจึงไม่ควรทำพฤติกรรมที่ไม่ดีนั้น” และ “เขาควรควบคุมตัวเองให้ทำในสิ่งที่ควรทำอย่างไร” 

 

 

การตีจึงอาจไม่แก้ไขปัญหาพฤติกรรมในระยะยาว ในขณะเดียวกัน มีคำถามที่หลายคนเคลือบแคลงใจว่า “ก็ที่เขาได้ดีอย่างทุกวันนี้ก็เพราะได้ไม้เรียวเป็นเครื่องมือในการสั่งสอนให้เป็นคนดี ทำไมเขาถึงจะใช้วิธีนี้สั่งสอนรุ่นลูกหรือหลานไม่ได้” ซึ่งแน่นอนว่าความจริง คือ มีคนที่ได้ดีจากไม้เรียว แต่คำถามที่น่าถามก็คือ "มีคนได้ดีจากไม้เรียวจริง ๆ กี่คนจากกี่คน" หากไปสืบข้อมูลของ "นักธุรกิจ" กับ "นักโทษในเรือนจำ" ใครที่ถูกเลี้ยงดูด้วยความรุนแรงในอัตราส่วนที่มากกว่ากัน ซึ่งเรื่องเหล่านี้มีปัจจัยอีกมากมายเข้ามารบกวนผลลัพธ์มาก เพราะเศรษฐานะและสังคมรอบตัวของทั้งสองกลุ่มนั้นมีความแตกต่างกัน แต่คงพอมองเห็นภาพอะไรมากขึ้นแน่ ๆ 

 

เรามาช่วยกันสร้างสังคมที่ปราศจากความรุนแรงตั้งแต่หน่วยของสังคมที่เล็กที่สุดที่เรียกว่า “ครอบครัว” เพียงจุดเล็ก ๆ เริ่มต้นจากที่บ้านของแต่ละคน อีกไม่ช้าสังคมเราจะค่อย ๆ ถูกขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงไปเป็นสังคมที่มีปัญหาความรุนแรงในสังคมลดลง แม้ว่าประเทศไทยของเราจะไม่ง่ายเลยที่จะผลักดันกฎหมายคุ้มครองเด็กจากการถูกทำโทษด้วยการตีที่มีการบังคับใช้อย่างจริงจัง 

 

อ่านงานวิจัยเพิ่มเติม