พัฒนาทักษะ STEAM ผ่านงานบ้าน
แต่ละครอบครัวมีงานบ้านอะไรบ้างที่มอบหมายให้เด็ก ๆ ช่วยทำ ?
...“สมัยนี้ไม่เหมือนเมื่อก่อน”...
คงเป็นคำกล่าวที่ถูกต้องในทุกแง่มุมของชีวิตของคนปัจจุบันไม่เว้นแม้แต่ ‘การเลี้ยงลูก’ สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ชีวิตมีแต่ความรีบเร่งบนตารางเวลาที่ชัดเจนตั้งแต่ตื่นนอนตอนเช้าจนถึงเวลาเข้านอน เพราะสังคมเมืองและการจราจรไม่เคยปรานีใคร ในขณะเดียวกันเราก็พยายามที่จะจัดตารางชีวิตให้กับลูกเช่นกัน เพื่อให้แน่ใจว่าลูกจะได้รับการศึกษา กิจกรรม และโอกาสที่ดีที่จะกระตุ้นพัฒนาการได้อย่างรอบด้าน
ณ ปัจุบันจึงเกิด ‘เด็กกิจกรรม’ ขึ้นมากมาย การเริ่มให้ลูกเข้าสู่ระบบการเรียนเร็วขึ้นตั้งแต่ชั้นเตรียมอนุบาล และคลาสกิจกรรมเสริมต่าง ๆ ก็เริ่มมีตั้งแต่เด็กเล็กจนเด็กโตมากมายจนเกินจะพรรณนาไหว ตั้งแต่เตะบอล กีตาร์ เปียโน ตีขิม ว่ายน้ำ ขี่ม้า บัลเล่ต์ หมากรุก ฯลฯ ยังไม่นับเรียนภาษาและวิชาการเพิ่มเติมอีก ซึ่งก็มีตั้งแต่ให้ลูกเรียนเพราะ "ลูกชอบ" จนถึงเรียนเพราะ "คนอื่นเขาเรียนกัน" เราเองก็อดคิดไม่ได้ว่า “จะให้ลูกเรียนดีไหม คนอื่นเขาก็เรียนกัน” เกิดความกดดันจากกลุ่มเพื่อนได้อีก ซึ่งหลายคนทนไม่ได้ก็แพ้ไป จ่ายค่าเรียนรัว ๆ โดยกิจกรรมเหล่านี้ทำให้ ‘เวลา’ ของลูก และเวลาของครอบครัวลดลง
หากกล่าวในเชิงของพัฒนาการของเด็กช่วงปฐมวัย พบว่า เด็กเรียนรู้ผ่านการเล่น เพราะเล่นจึงสนุก สนุกจึงอยากทำซ้ำอีก เรียนรู้ผ่านวงจรของการลงมือทำ-ล้มเหลว-สำเร็จ และการเรียนรู้ที่ดีที่สุดก็คือการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่ไม่มีกรอบ (Unstructured Play) ไร้เงื่อนไขในพื้นที่อิสระ (Free Space) และเวลาว่าง (Free Time) ที่ไร้การบังคับควบคุมว่าต้องเรียนหรือเล่นอย่างไรเพื่อให้เอื้อต่อการเรียนรู้มากที่สุด เด็กทุกคนควรมีชั่วโมงสงบ ว่าง และรู้สึกเบื่อบ้าง
ประโยชน์ของเวลาว่าง มีอะไรบ้าง ?
✚ 1. ประโยชน์ต่อการเรียนรู้ ✚
การพัฒนาทักษะและความชำนาญ เพราะวงจรของ “เล่น พัก ทำซ้ำ” เป็นสิ่งจำเป็นเพราะทุกคนต้องการชั่วโมงสงบและว่างเพื่อพัก คิด และทบทวนสิ่งที่ได้ผ่านเข้ามาในแต่ละวัน เมื่อได้พัก ได้คิด สมองจะได้พัก ได้ย่อย และสรุปประสบการณ์สิ่งทีได้เล่น ได้พบเจอในแต่ละวัน
✚ 2. ประโยชน์ต่ออารมณ์ความรู้สึก ✚
โดยเฉพาะความรู้สึกผ่อนคลายและเป็นสุข เพราะเวลาว่างเป็นเวลาแห่งการพักผ่อน แม้แต่ผู้ใหญ่อย่างเราก็สามารถหาความสุขง่ายๆ ด้วย "การอยู่เฉยๆ" หายใจทิ้งซึ่งแม้จะดูเกียจคร้านแต่ก็เป็นความสุขเล็ก ๆ ที่หาได้ไม่ยาก บางคนแค่อยู่เฉยๆ นั่งมองดินมองฟ้า ก็มีความสุขแล้ว บางคนได้ใช้เวลาว่างอยู่กับคนในครอบครัว ได้พูดคุย ได้ใช้ ‘เวลาคุณภาพ’ ร่วมกัน ได้นอนหนุนตักกัน ได้ฟังแม่บ่น พ่อเล่าเรื่อง แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว
✚ 3. ประโยชน์ต่อการเรียนรู้ตัวตนของลูก ✚
สิ่งที่ชอบ สิ่งที่รัก สิ่งที่ลูกทำได้ และทำได้ดี เพราะเวลาว่างที่แสนน่าเบื่อจะเป็นตัวขับเคลื่อนให้ลูกหยิบในทำในสิ่งที่เขาชอบ หลงใหล ทำได้ ทำได้ดีออกมาทำเพื่อผ่อนคลาย เพื่อพัฒนาทักษะของตัวเองให้ดีขึ้น
...หลายคนหยิบหนังสือเล่มโปรดขึ้นมาอ่าน (ทั้งที่ยังอ่านไม่ได้เอง)...
...หลายคนหยิบดินสอสีกับกระดาษขึ้นมาวาด...
...หลายคนนั่งสนใจและสังเกตดิน-ฟ้า-อากาศ-ธรรมชาติรอบตัว...
...หลายคนร้องเพลง หลายคนกระโดดเต้นไปมา...
...หลายคนเดินเข้าหาคนอื่นแล้วเริ่มพูดคุย...
นี่คือบุคลิก ลักษณะ และสิ่งที่เป็นลูกที่คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตได้ในช่วงเวลาว่าง เวลาที่ปล่อยให้ลูกเบื่อได้โดยที่ไม่ต้องไปเสียเงินจากโฆษณาของสถาบันสแกนนิ้วมือหรือตรวจดีเอ็นเอหาพรสวรรค์ซึ่งมักยกสถิติขึ้นมาว่าถ้าลายมือแบบนี้จะเป็นคนอย่างนั้นอย่างนี้ ทั้งที่ลูกตัวเป็น ๆ ก็ยืนอยู่ตรงหน้าของเราให้เราได้สังเกตคุณลักษณะและพรสวรรค์ของเขาอยู่ว่าเขาเป็นคนอย่างไร ชอบอะไร ทำอะไรได้ดี และมีพรสวรรค์อะไร
การที่เด็กคนหนึ่งจะเติบโตและมีพัฒนาการที่สมวัยนั้น ไม่มีความจำเป็นต้องกิจกรรมแน่น ไม่ต้องไปเปิดโลกใหม่ ทำในสิ่งใหม่ๆ กันตลอดเวลา ไม่ต้องไปใช้ชีวิตให้สุดหรือนอกกรอบจนเกินไป เพียงแค่ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย เล่นให้เต็มที่กับทุกอย่างที่อยู่รอบตัว ใช้เวลาคุณภาพร่วมกันกับคนในครอบครัว มีเวลาเรียน มีเวลาเล่น มีเวลาพัก แค่นี้ก็พอแล้ว