ข่าวประชาสัมพันธ์ : คิดคลับส์ ชวนเที่ยว Astro Night Family Camp
ชวนคู่พ่อลูก อายุ 6 - 12 ปี มาร่วมสร้างช่วงเวลาแห่งความประทับใจกับกิจกรรม Astro Night Family Camp
พ่อแม่ควรให้โอกาสพูดความจริง แต่อย่าเค้น และต้องเด็ดขาดในการลงโทษ
วันนี้หมอขอยกตัวอย่างเคสเด็กโกหก ซึ่งโดยทั่วไปพ่อแม่มักรู้ความจริงมาก่อน พ่อแม่จึงไม่ควรผลีผลามตำหนิว่า “ลูกโกหก !” เราควรให้โอกาสลูกพูดความจริงก่อน ตรงนี้สำคัญนะคะ เพราะเด็กหลายคนไม่ได้ตั้งใจโกหก เขาจะได้โอกาสกลับตัว แต่หากลูกยังดึงดัน ไม่ยอมพูดความจริง
พ่อแม่สามารถคาดโทษลูกหรือลงโทษลูก (ขึ้นอยู่กับว่าเรื่องนั้นรุนแรงแค่ไหน) แต่ควรลงโทษเพื่อให้ลูกเรียนรู้ ไม่ใช่ลงโทษให้หวาดกลัวด้วยการตี ประจานหรือขู่ให้ตำรวจจับ เพราะครั้งหน้าเด็กจะโกหกให้เนียนขึ้น เพื่อไม่ให้ถูกจับได้
ต้น เด็กชายวัย 9 ขวบเล่นแท็บเล็ตอยู่ที่ห้องนั่งเล่น ขณะที่แม่เดินเข้าไปใกล้ สังเกตเห็นว่าต้นสลับหน้าจอทันที เป็นรายการการ์ตูนที่ดูประจำ แต่แม่เห็นหน้าจอก่อนนี้แว๊บ ๆ รู้ว่าเมื่อกี้ไม่ใช่การ์ตูนแต่เป็นเกมส์ และเป็นเกมส์ที่ไม่เคยเห็นมาก่อนด้วย
แม่ : “ต้นทำอะไรอยู่ ?” (แม่ให้โอกาสลูกพูดความจริง ซึ่งดีกว่าจับโกหกทันทีว่า เมื่อกี้นี้แม่เห็นว่าไม่ใช่การ์ตูนนะ ! เด็กที่ลังเลหลายคน อยากพูดความจริงก็มี เขาจะได้โอกาสตรงนี้ แต่หากแม่จับโกหกลูกไปเลย เขาจะรู้สึกแย่ต่อตนเองและรู้สึกแย่ต่อแม่ด้วย)
ต้น : “ดูการ์ตูนอยู่” (เด็กส่วนใหญ่ไม่รู้ว่า ผู้ใหญ่รู้ความจริงแล้วเวลาที่มาถาม ดังนั้น พ่อแม่ควรให้ลูกรู้ว่า เรารู้สึกบางอย่างผิดปกติไป)
แม่ : “แม่คิดว่าลูกน่าจะมีอะไรบอกแม่ ที่เป็นความจริงนะ” น้ำเสียงและสายตาต้องจริงจัง เพื่อให้ลูกรู้ตัว และเรื่องโกหกก็เป็นเรื่องซีเรียส
ต้น : “เมื่อกี้ต้นเล่นเกมส์อยู่” แล้วก็เปิดไปหน้าเกมส์ที่เล่นบ่อยๆให้แม่ดู ต้นเริ่มพูดความจริง แต่ว่าพูดจริงไม่หมด ในใจแม่รู้ว่าไม่ใช่เกมส์นี้
แม่ : “แม่เสียใจนะที่ต้นไม่บอกความจริงทั้งหมด” (แม่บอกความรู้สึกของตนเอง ยังไม่ได้ต่อว่าลูก.. และยังให้โอกาสลูกพูดอีกครั้ง)
ต้น : “เกมส์นี้แหละ” ต้นยังยืนยันว่าเล่นเกมส์นี้อยู่จริงๆ แม่จึงต้องพูดว่าเห็นอะไร
แม่ : “จริงๆแม่เห็นเกมส์อะไรแว๊บๆ ก่อนที่ลูกจะเปลี่ยนเป็นการ์ตูน แต่ไม่ใช่เกมส์นี้” สีหน้าแม่ซีเรียส
ต้นเริ่มนิ่ง เริ่มรู้ว่า แม่รู้
แม่ : “แม่ขอแท็บเล็ตมาดู หรือลูกจะบอกแม่ความจริง” (แม่ยังให้โอกาสจนนาทีสุดท้าย)
ต้นตัดสินใจ เปิดเกมส์ที่โหลดใหม่ให้แม่ดู แม่กวาดสายตาไปที่เกมส์ใหม่ ไม่ใช่เกมส์รุนแรง แม่โล่งใจ ดูแล้วเป็นเกมส์ที่โอเค แม่สงสัยจึงถามลูกว่า
แม่ : “ทำไมลูกไม่พูดความจริงกับแม่ตั้งแต่แรกว่าเล่นเกมส์ที่โหลดใหม่มา”
ต้น : “ผมกลัวแม่ไม่ให้โหลดเกมใหม่
แม่ : “อะไรทำให้ลูกกลัวว่า แม่จะไม่โหลดเกมส์ใหม่ เกมส์ล่าสุดที่ลูกเล่น แม่ก็เพิ่งโหลดให้ ไม่นานนี้เอง”
แม่ตั้งคำถามเพื่อให้ลูกทบทวนความเข้าใจของเขาเอง และแม่ก็อยากรู้ด้วยว่าลูกคิดอะไร
ต้น : “ผมกลัวแม่ไม่ให้เล่น”
แม่ค่อนข้างงงกับคำตอบ เพราะต้นก็มีเวลาเล่นอยู่ในโควต้าอยู่แล้ว แม่คิดว่าลูกคงจะเข้าใจอะไรผิด (ความใจเย็นของพ่อแม่ ร่วมกับการตั้งคำถามปลายเปิด จะช่วยให้พ่อแม่เข้าใจลูกมากขึ้น ดังนั้น อย่าจ้องแต่ลงโทษ เพราะบ่อยครั้ง เด็กโกหกเพราะไม่รู้วิธีจัดการกับปัญหา หรือไม่รู้จะรับมือกับเหตุการณ์ยั่วยุยังไง ไม่ใช่เป็นเด็กไม่ดี และพ่อแม่จะได้อธิบายในสิ่งที่ลูกเข้าใจผิด หรือสอนวิธีรับมือได้)
แม่ : “ต้นรู้ไหมทำไมแม่ถึงต้องคอยดูเวลาลูกจะโหลดเกมส์ใหม่”
ต้น : “แม่กลัวเสียตังค์”
แม่ : “ลูกเข้าใจผิดแล้ว มันไม่ได้เกี่ยวกับการเสียเงินเลย เกมที่แม่โหลดให้ลูก แม่ก็จ่ายเงินให้และเต็มใจด้วยจำได้ไหม ที่ต้องคอยดูเวลาลูกโหลดเกมใหม่ ก็เพราะว่า หลาย ๆเกมไม่เหมาะกับเด็ก บางทีมีความรุนแรง บางเกมส์ก็ดูไม่มีประโยชน์ เสียสายตาลูกฟรี ๆ เรื่องเงินแม่ไม่กลัวเสียตังค์นะ แม่โอเค ถ้าเกมส์นั้นเหมาะกับเด็ก มีประโยชน์และไม่รุนแรง”
ต้นฟังแม่ แบบลุกลี้ลุกลน
ต้น : “ผมจะโดนลงโทษมั้ย”
แม่ : “ลูกคิดว่ายังไงล่ะ”
ต้น : “โดนลงโทษ” (เสียงอ่อยลง)
แม่ : “ใช่.. “ แม่เด็ดขาด
แม่ : “ต้นบอกความจริงแม่หมดหรือยัง”
ต้น : “มีโหลดมา 3 เกมส์ครับ” แล้วก็เปิดให้แม่ดู
แม่ : “ลูกอยากให้ลงโทษยังไง”
ต้น : “อดกินขนม 1 วัน”
แม่ : “อดขนม 1 วัน.. บทลงโทษนี้ไม่ช่วยให้ต้นเรียนรู้หรอก แม่จะลงโทษต้นด้วยการเก็บแท็บเล็ตเป็นเวลา 1 อาทิตย์”
ต้น : “โห… 1 อาทิตย์!”
แม่ : “ใช่ 1 อาทิตย์เลย นานใช่มั้ย”
ต้น : “ขอ 1 วันได้มั้ย”
แม่ : “ต้นครับ. 1 อาทิตย์คือ 1 อาทิตย์” แม่พูดอย่างเด็ดขาด
ต้นเริ่มน้ำตาคลอ แม่ตั้งคำถามกับต้น
แม่ : “ลูกรู้สึกว่านานใช่มั้ย”
ต้น : “...” (ต้นพยักหน้า)
แม่ “เอาล่ะ บอกแม่ซิลูกได้เรียนรู้อะไร”
ต้น “ไม่โหลดเกมเอง ถ้าจะโหลดต้องให้แม่ดูด้วย”
แม่ “ดีมากครับลูก แม่อยากบอกลูกอีกครั้งว่า แม่เสียใจที่ลูกไม่พูดความจริง ครั้งหน้ามีอะไรลูกบอกแม่ได้ เรามาแก้ปัญหาด้วยกัน อย่าโกหกและปกปิดแม่นะ”
ต้นพยักหน้า และเข้ามากอดแม่แน่น ๆ
ต้น : “ต้นขอโทษครับแม่”
นี่เป็นตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริง มีการดัดแปลงชื่อคน แต่เนื้อหาที่คุย ไม่หนีจากที่เล่าเท่าไรนัก หมออยากบอกว่า การเลี้ยงลูกเชิงบวก ไม่ได้แปลว่า ลูกจะไม่โกหกและเป็นเด็กดีตลอดเวลา เพียงแต่ต้นทุนความสัมพันธ์เชิงบวกกับลูก จะทำให้ลูกรับฟัง และเรียนรู้ไปกับเรา ลูกจะกลับมาเป็นเด็กดี โดยไม่เสียคุณค่าในตัวเอง ลูกจะเข้าใจโลกและเติบโตขึ้นอย่างมีความสุข ส่วนพ่อแม่ก็สามารถรับมือได้อย่างใจเย็น เพราะเราฝึกใจเย็นมาตลอดอยู่แล้วไงคะ เมื่อเราเลี้ยงลูกเชิงบวก จะรับมือลูกทำผิดได้ง่ายขึ้น
...”ลูกโกหก ไม่เค้นให้พูดความจริง ด้วยความโกรธ แต่ให้โอกาสพูดความจริง ด้วยความใจเย็น และอย่าลงโทษให้กลัว แต่ให้ลงโทษเพื่อเรียนรู้นะคะ”...