236
"โกหก" =/= "ไม่พูดความจริง"

"โกหก" =/= "ไม่พูดความจริง"

โพสต์เมื่อวันที่ : May 25, 2023

 

คําว่า “โกหก” เป็นนิยามที่ผู้ใหญ่พูดกับเด็กที่ไม่ได้พูดความจริง ซึ่งในคําว่าโกหก ทำให้เข้าใจว่าเด็กมีความตั้งใจที่จะปกปิดข้อมูลแบบที่มีนัยยะซ่อนเร้น ให้ความรู้สึกไปในทางที่เป็นเชิงลบ แต่ว่าเด็กเล็ก ๆ วัย 2 - 4 ขวบ

 

ส่วนใหญ่แล้วเขาไม่ได้ตั้งใจจะปกปิดข้อมูลโดยมีเป้าหมายในทางเชิงลบ แต่เป็นไปตามพัฒนาการของเขามากกว่านั่นคือ พูดมาจากจินตนาการ เช่น บอกว่ามีเพื่อนให้ของเล่นมา แต่จริง ๆ แล้วเป็นเพื่อนในจินตนาการ ไม่ใช่เพื่อนจริง ๆ บางทีไม่ใช่จินตนาการ แต่ตอบไปเพราะสมองยังเชื่อมโยงข้อมูลไม่ได้ เช่น เราถามว่า “เอาขนมมาจากไหน” ลูกตอบว่า “หยิบมาจากโต๊ะ” แต่จริง ๆ แล้วคุณป้าให้มา

 

คําถาม “เอามาจากไหน” เป็นคําถามที่เด็กต้องมองย้อนกลับไปในอดีต เด็กต้องกลับไปค้นหาภาพในสมองซึ่งก็มีหลายภาพ เด็กบางคนก็ตอบเอาภาพ ๆ หนึ่งที่โผล่ขึ้นมา เช่น เคยหยิบจากบนโต๊ะ ก็ตอบไปว่า เอาจากโต๊ะ โดยไม่ได้เชื่อมโยงว่า แม่กำลังพูดถึงขนมชิ้นที่ป้าให้มา และบางครั้งก็เป็นเรื่องของ “ความเข้าใจภาษาที่เกี่ยวเนื่องกับเวลา” เช่น คุณพ่อคุณแม่ถามว่า “อาทิตย์ก่อน หนูไปเที่ยวที่ไหนมา” เด็กเล็ก ๆ ยังไม่เข้าใจกาลเวลาค่ะ เขาแยกไม่ได้ว่า 1 อาทิตย์ 1 เดือน เมื่อ 2 วันก่อน มันต่างกันยังไง เด็กจึงตอบภาพอะไรก็แล้วแต่ที่โผล่ขึ้นมาในสมองตอนนั้นพอดี ซึ่งอาจไม่ตรงก็ได้ 

 

ถ้าหากผู้ปกครองท่านไหนซีเรียสอาจคิดว่าลูกโกหก คิดว่า “เอ๊ะ ทําไมลูกไม่พูดความจริง โดยเฉพาะหากผู้ปกครองกำลังรู้สึกว่า "ลูกกำลังทำอะไรผิด" เช่น ลูกมีของเล่นใหม่มา ทําไมลูกบอกว่าเพื่อนให้มา หรือลูกไปหยิบมาจากเพื่อนหรือเปล่า ซึ่งหากผู้ปกครองไม่ค่อยมีเวลาปฏิสัมพันธ์กับลูก จะไม่ค่อยรู้จักลูก จึงมีแนวโน้มที่จะคิดว่าลูกโกหกสูงมาก แต่สำหรับหมอ หมอจะไม่เรียกว่าโกหก แต่จะบอกว่า “เป็นเรื่องพัฒนาการของเด็กที่ยังเชื่อมโยงข้อมูลไม่เก่ง และยังตอบคําถามที่เกี่ยวเนื่องกับกาลเวลาไม่ได้”

 

เพราะฉะนั้นหมอจะอึดอัดใจมากว่าจะใช้คําว่าโกหกดีไหมเพราะส่วนใหญ่ไม่ใช่ หากใช่ คือ ลูกปกปิดข้อมูลที่ตนเองทำผิดจริง หมอก็ยังไม่อยากใช้คําว่าโกหก เพราะการไม่บอกความจริงนั้น เกิดจากความกลัว หรือความไม่สามารถในการแก้ปัญหา ซึ่งเด็กควรได้รับการช่วยเหลือมากกว่าตีตราและลงโทษ เช่น ทำของแตก แล้วบอกว่าไม่ได้ทำ เด็กไม่บอกความจริง เพราะกลัวโดนลงโทษ กลัวโดนตี หรือ เด็กบอกว่า ยังไม่ได้กินขนม ทั้ง ๆ ที่กินแล้ว เด็กไม่บอกความจริง ก็เพราะไม่รู้จะแก้ปัญหาความอยากกินขนมยังไงดี

 

 

สิ่งเหล่านี้เป็นความอ่อนด้อยของศักยภาพเด็ก ที่ผู้ใหญ่ต้องช่วยพัฒนาให้เกิดขึ้น ไม่ใช่มุ่งลงโทษ โดยละเลยสาเหตุ ผู้ใหญ่ควรหันกลับมามองตนเองว่า เราจะเลี้ยงลูกยังไงที่ลูกจะไม่กลัวจนไม่กล้าบอก หรือจะเลี้ยงยังไงให้ลูกรู้จักตัดใจหรือแก้ปัญหาได้ดีกว่านี้ 

 

เมื่อพ่อแม่สาวกลับไปที่ต้นทาง และพยายามแก้ไขที่ต้นเหตุ บ่อยครั้งที่เด็กจะหยุดโกหก โดยไม่ต้องลงโทษ และหากต้องลงโทษจริง เราจะเป็นพ่อแม่ที่สามารถลงโทษได้เหมาะสม ไม่ใช้อารมณ์ด้วย (ใช้หลัก 3R related, respectful, reasonable) 

 

อีกเหตุผลที่หมอไม่ชอบใช้คำว่าโกหก ก็เพราะไม่ต้องการให้เด็กถูกตีตรา ผู้ใหญ่หลายคนติดปาก เวลาคุยกับเด็ก อาจเผลอพูดว่า “โกหกเหรอเปล่า” “โกหกใช่มั้ย” ซึ่งไม่ช่วยแก้ไขปัญหาอะไร แล้วยังสร้างความรู้สึกแย่ต่อตัวเด็กให้มากขึ้นไปอีก

 

 

แล้วพ่อแม่จะใช้คำว่าอะไรดี หากลูกไม่พูดความจริง

ในกรณีที่ลูกทำไม่บ่อยและยังเล็กอยู่ เราควรใช้คำว่าไม่พูดความจริงแทน เช่น “ลูกไม่พูดความจริงกับแม่” แทนคำว่า “ลูกโกหกแม่” และหากลูกไม่พูดความจริงบ่อย ๆ (ที่ไม่ใช่จินตนาการและไม่ใช่เรื่องพัฒนาการตามวัย) เราจะใช้คำว่า "โกหก" เพื่อให้ลูกรู้จักความหมายของคำนี้ เป็นในลักษณะให้ข้อมูล และสื่อให้รู้ว่า มันไม่ดีต้องการให้ลูกหยุดทำ “ที่ลูกไม่พูดความจริงกับแม่แบบนี้ เราเรียกว่าโกหกนะคะ โกหกเป็นสิ่งไม่ดี ไม่ควรทำ ที่ลูกไม่บอกก็เพราะกลัวโดนดุใช่มั้ย

 

แต่หากลูกไม่บอกแม่ก็ช่วยเหลือหนูไม่ได้ แก้ปัญหาไม่ได้ แม่อยากให้หนูพูดความจริงมากกว่า แล้วเรามาแก้ปัญหากัน” แล้วอย่าลืม หันกลับมาทบทวนตนเอง อย่าใช้อารมณ์เลี้ยงลูก แต่ใช้วิธีเชิงบวกที่ทำให้ลูกเคารพแทนนะคะ

 

 

โดยสรุปบ้านไหนลูกไม่พูดความจริง ลองหาสาเหตุก่อนว่าเป็นเพราะจินตนาการ, ภาษายังพัฒนาไม่ดี, ความคิดยังเชื่อมโยงไม่เก่ง กลัวโดนดุ ตัดใจไม่ได้ หรือแก้ปัญหาอย่างเหมาะสมไม่เป็น แล้วแก้ไขไปตามสาเหตุนั้น หากจะลงโทษควรใช้หลัก 3R และไม่ควรใช้คำว่า โกหกเพื่อตีตรา แต่ใช้ เพื่อให้ลูกรู้จักความหมาย, เป็นข้อมูลตอนสอนลูกได้ค่ะ