ข่าวประชาสัมพันธ์ : คิดคลับส์ ชวนเที่ยว Astro Night Family Camp
ชวนคู่พ่อลูก อายุ 6 - 12 ปี มาร่วมสร้างช่วงเวลาแห่งความประทับใจกับกิจกรรม Astro Night Family Camp
การโกหก เป็นเรื่องปกติตามวัยที่พบได้ตั้งแต่อายุ 2-3 ขวบเป็นต้นไป และเป็นหนึ่งในสัญญาณแห่งความเฉลียวฉลาดของเด็ก
มีเหตุผลมากมายที่ทำให้เด็กรู้จักที่จะพูดเกินจริง ไม่ตรงความจริง อาจเป็นเพียงจินตนาการ อาจเป็นหนึ่งในวิธีการเล่นกับพ่อแม่ หรืออาจมีนัยยะที่ชัดเจนอย่างการปกปิดความผิดเพราะกลัวการถูกลงโทษหรือโกหกเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ อย่างที่ผู้เขียนเคยเขียนไว้ในบทความก่อนหน้านี้แล้ว แต่การโกหกจะติดตัวไปยาว ๆ กลายเป็นความเคยชินก็คงไม่ดี ดังนั้นพ่อแม่จึงต้องรับมือกับคำพูดที่เกินจริงหรือไม่ตรงกับความจริงเหล่านี้อย่างเหมาะสม
☁️ 1. "พูดเกินจริงหรือไม่ตรงกับความจริง" เกิดจาก ‘จินตนาการ’ ☁️
และเป็นหนึ่งในการเล่น เช่น มีลาวาบนพื้นบ้าน การเหาะเหินเดินอากาศ หรือกระทั่งการมีเพื่อนในจินตนาการ (Imaginary Friends) ขอให้คุณพ่อคุณแม่คลายความวิตกกังวลได้ เกือบทั้งหมดไม่ใช่ปัญหา คุณพ่อคุณแม่อาจรับฟังเฉย ๆ หรือสามารถพูดคุยต่อบทสนทนาและเล่นร่วมจากสิ่งที่ลูกพูดได้เลย เช่น “แล้วเจ้าช้างที่เดินอยู่นอกบ้านเราเขาตัวสีอะไร กินอะไรเป็นอาหาร” เป็นต้น
🚫 ไม่ควรดุว่าลูกว่าเป็นเด็กเหลวไหล เพ้อเจ้อ หรือบอกว่าลูกเป็นเด็กไม่ดี ขี้โกหก แต่หาก ‘จินตนาการ’ นั้นเริ่มก่อปัญหาพฤติกรรม เช่น ลูกบอกว่าเพื่อนในจินตนาการสั่งให้ทำอะไรแผลง ๆ อาจจริงหรือพูดโกหกเพื่อกลบเกลื่อนความผิดที่ตัวเองได้ทำไว้ หรือผีในบ้าน ทำให้ลูกกลัว นอนไม่หลับและร้องไห้มากขึ้น ฯลฯ ก่อนจะไปเรียกพ่อมดหมอผีมาทำพิธีกรรมไล่ผี (เพราะบางที่พ่อแม่ก็กลัวไปด้วย) เน้นย้ำ ‘ความจริง’ กับลูกให้มั่นคงว่าความจริงคืออะไรเช่นเดียวกับคำแนะนำอันดับถัด ๆ ไป
☁️ 2. วิเคราะห์คำโกหกของลูกถึงนัยยะที่แอบแฝงเสมอ ☁️
โดยอย่าเพิ่งโกรธหรือกล่าวโทษ โดยเฉพาะในเด็กโตที่การโกหกจะถูกเด็กนำมาใช้เพื่อปกปิดความผิดบางอย่าง หรือเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ คุณพ่อคุณแม่ควรหาให้เจอเพื่อวางแผนจัดการกับการโกหกได้อย่างเหมาะสม
ยกตัวอย่างเช่น 🫧 ลูกบอกว่าอาบน้ำแล้ว หรือแปรงฟันแล้วทั้งที่ยังไม่ได้อาบน้ำแปรงฟัน คุณพ่อคุณแม่ต้องคิดก่อนว่าคำพูดเหล่านี้เกิดเพราะต้องการทดสอบว่าพ่อแม่รู้ไหมว่าเขาพูดไม่จริงซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีการเล่นและการมีปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่ หรือจริง ๆ แล้วพูดโกหกไปเพราะไม่อยากไปอาบน้ำ 🛁 ยังอยากเล่นของเล่นหรือทำสิ่งที่เขาชอบอยู่ เพราะถ้าเป็นอย่างหลัง คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องสะท้อนสิ่งที่ลูกคิดออกมาให้ชัดผ่านความจริงที่เกิดขึ้นจริง ๆ โดยอาจบอกตามตรงว่า 👩🏻 ...“หนูยังไม่ได้อาบน้ำแปรงฟันนะลูก ที่บอกว่าอาบแล้วนี่เพราะยังอยากเล่นอยู่ใช่ไหมคะ แม่โอเคนะ แต่ถึงเวลาอาบน้ำแปรงฟันแล้วค่ะ ทำเสร็จแล้วกลับมาเล่นต่อก็ได้นะคะ แม่ให้เวลาอีก 5 นาทีนะคะ แล้วแม่มารับไปอาบน้ำกัน”... เป็นต้น
..."หยุดสั่งสอนและเลคเชอร์เกี่ยวกับความไม่ดีของการโกหกก่อน แล้วพูดกันตรง ๆ"...
🗣 ในกรณีที่โกหกเพื่อปกปิดความผิดแล้วเราจับได้ ก็ต้องว่ากันไปตามปกติของการรับผลของการกระทำนั้น โดยไม่ทำให้เป็นเรื่องราวที่ใหญ่โตหรือทำโทษจนเกินกว่าเหตุ เพราะยิ่งพ่อแม่ดุด่าว่ากล่าวมากเกินไป หรือทำโทษรุนแรงจนเกินไป เด็กจะยิ่งปกปิดความผิดด้วยการโกหกหรือกล่าวโทษสิ่งอื่นมากขึ้น เช่น ทำจานแตก แล้วโกหกว่าลมพัด หรือคนอื่นทำก็บอกไปตามตรงว่า 👩🏻 ...“แม่เห็นว่าหนูเป็นคนทำจานแตกเพราะวิ่งเล่นแล้วไม่ได้ระวัง ไม่ใช่จากลมพัดหรือเจ้าออมสิน (หมา) ทำให้ตกนะคะ ไปเอาผ้ามาเช็ดทำความสะอาดกัน เดี๋ยวแม่จะเก็บเศษจานที่แหลม ๆ ออกก่อน วันหลังวิ่งต้องระวังกว่านี้นะคะ เพราะถ้ามันแตกใส่เท้า หนูจะเป็นแผลเลือดออกได้นะ”... เป็นต้น
ดังนั้นพ่อแม่ต้องนิ่งให้เป็น เย็นให้ได้ พูดคุยกันดี ๆ กับลูกแม้จะจับได้ว่าลูกพูดโกหกก็ตาม ยิ่งเริ่มเร็วเท่าไร ยิ่งดี เพราะจะทำให้เด็กสามารถพูดความจริงกับเราได้ง่ายขึ้น เด็กจะได้ไม่ต้องโกหก ยิ่งพ่อแม่ดุมากเท่าไร เด็กยิ่งต้องโกหกเมื่อทำผิดเท่านั้น และเมื่อโตขึ้นเรื่องราวการโกหกจะยิ่งใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ เรื่องราวที่ปกปิดพ่อแม่ก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นั่นเอง
☁️ 3. เมื่อ (สงสัยว่า) ลูกโกหกในเรื่องใหญ่หรือรุนแรง ☁️
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความรุนแรง การลักเล็กขโมยน้อย การถูกกลั่นแกล้งหรือกระทั่งการถูกล่วงละเมิดทางเพศจากคนอื่น (ที่เด็กมักโกหกด้วยความอาย ด้วยการถูกขู่ หรือเพื่อปกป้องผู้กระทำจะถูกลงโทษ เพราะผู้กระทำส่วนหนึ่งมักเป็นคนใกล้ชิดกับเด็ก)
พ่อแม่ควรสร้าง ‘ความปลอดภัย’ ให้ลูกรู้สึกว่าเขาจะสามารถบอก ‘ความจริง’ กับพ่อแม่ได้อย่างปลอดภัย โดยพร้อมเป็นที่ปรึกษาและช่วยกันทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นดีขึ้นได้ และเราเป็นพวกเดียวกับลูกเสมอ โดยความผิดที่เกิดขึ้นแล้วก็คือ “สิ่งที่ไม่ถูกต้อง” ที่เราอาจต้องรับผลของมัน โดยเราควรเรียนรู้จากมันและไม่ทำให้มันเกิดขึ้นอีกในอนาคต (หากทำได้)
ซึ่งหากแน่ใจว่าลูกโกหก อาจพูดบอกกันตามตรงด้วยอารมณ์ปกติว่า “พ่อมีเรื่องจะคุยด้วย พ่อเห็นเราแอบหยิบเงินจากกระเป๋าเงินของพ่อไป ที่ถามวันก่อนแล้วเราบอกว่าไม่รู้เรื่อง มีอะไรจะบอกพ่อไหม มีความจำเป็นต้องใช้เงินไปทำอะไรหรือเปล่า คุยกันได้”
แต่หากปัญหาการโกหกนั้นตึงมือ ใหญ่โตที่กระทบต่อความปลอดภัย พฤติกรรม และการเข้าสังคมของลูก หรือมากเกินกว่าที่พ่อแม่จะดูแลได้แล้ว แนะนำให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญอย่างกุมารแพทย์พัฒนาการเด็กและวัยรุ่น หรือจิตแพทย์ได้เลยนะครับ