222
ทำยังไงถ้า "ลูกโกหก"

ทำยังไงถ้า "ลูกโกหก"

โพสต์เมื่อวันที่ : January 18, 2024

 

"การโกหก" คือ หนึ่งในพฤติกรรมของมนุษย์ที่พบได้บ่อยด้วยเหตุผลต่าง ๆ นานา

 

การโกหกนั้นมิได้จำกัดเฉพาะเด็ก ผู้ใหญ่อย่างเราก็โกหกเช่นกัน โดยเฉพาะพ่อแม่ เราอาจโกหกเพื่อตัดปัญหาในการสื่อสารกับลูก เช่น วันนี้ร้านไอติมปิดบ้าง พ่อแม่ไม่มีเงินบ้าง หรือวันนี้เพื่อนลูกที่อยู่บ้านข้าง ๆ ไม่อยู่บ้านบ้าง (ทั้งที่ยังไม่ได้ถามจริงว่าเพื่อนอยู่บ้านหรือไม่) เห็นหรือไม่ว่าคำโกหกนั้นอยู่รอบตัว แต่ในความเป็นจริงนั้น การโกหกอาจมิใช่เรื่องดี และพ่อแม่ก็ควรสอนลูกว่า ความจริงเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ และเราควรพูดความจริงต่อกัน 

 

เหตุผลที่เด็กคนหนึ่งโกหก อาจเพราะต้องการเลี่ยงปัญหา เลี่ยงการถูกลงโทษจากพ่อแม่ บางคนอาจโกหกเพื่อให้ได้มาในสิ่งที่เขาต้องการ แต่สำหรับในเด็กเล็ก ยังมีเหตุผลบางเหตุผลที่ทำให้เด็กไม่พูดความจริง 

 

 

เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่ของเด็กเล็กส่วนมากคงเคยเจอปัญหา ‘ลูกบิดเบือนความจริง’ โดยส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องเล็กน้อย ยกตัวอย่างตามประสบการณ์ของผู้เขียนเช่น การกิน ลูกมักจะพูดว่า "พ่อกินหมด" "ย่ากินหมด" ทั้งที่หลักฐานก็คาตา คาปาก และคาเสื้อให้เห็นจะจะ หรือพูดว่า “อาบน้ำแล้ว” ทั้งที่ยังไม่ได้อาบน้ำ หรือพูดว่า “นกบินมาคาบของไปแล้ว” ทั้งที่ของหายในบ้านชัดเจน เป็นต้น 

 

โดยการโกหกเพื่อให้ได้อะไรมาบางอย่าง หรือเลี่ยงการโดนลงโทษ ก็พอจะเข้าใจได้ แต่บางอย่างก็พูดไปเรื่อยไปเปื่อย จนพ่อแม่อย่างเราก็งงว่าจะเอาไงดี "ปล่อยผ่าน" หรือ "ไม่ปล่อยผ่านดี" นะ น่าคิด เพราะเรากำลังทำลายจินตนาการของเขาอยู่หรือเปล่า ? 

 

 

หากนับตามพัฒนาการแล้ว การที่เด็กเล็กพูดไปเรื่อยไปเปื่อย บิดความจริงบ้าง ก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร นั่นเพราะบ่อยครั้งที่เด็กเล็กมาก ๆ นั้นแยก 'เรื่องจริง' ออกจาก 'จินตนาการ' หรือ 'ความคิด' ไม่ได้ มีการศึกษาบอกว่า เด็กก่อนวัยเรียนที่มี IQ สูงมักโกหก และยิ่งเด็กโกหกได้เร็วและคล่องปากเท่าไร (early lying proficiency) ตอนเป็นวัยรุ่นจะมีทักษะในการเข้าสังคมได้สูง ฟังแล้วดูดี 

 

แล้วเอาไงต่อไปดี แบบนี้เริ่มงง...ดีหรือไม่ดี ?

 

ในเด็กเล็ก พ่อแม่ควรชัดเจนกับความเป็นจริง บอกให้เห็นความจริงว่ามันเกิดอะไรขึ้นและผลคืออะไร ไม่ต้องไปลงโทษอะไรในเด็กเล็กมาก เพราะยิ่งลงโทษมักยิ่งกระตุ้นให้โกหกขึ้นอีก ถ้าตีเพื่อนแล้วบอกว่าไม่ได้ตี เราก็บอกชัด ๆ ว่า "เล่นกันแรง ๆ เพื่อนน่าจะเจ็บนะเนี่ย" หรือหากทำของแตกแล้วบอกว่าคนอื่นทำ แทนที่จะบอกไปว่า "ก็หนูทำ !" หรือ "หนูทำของแตกใช่ไหม" ก็อาจจะบอกว่า "ดูสิ ของแตกหมดแล้ว" ทำหน้าเศร้า ๆ ใส่เขาหน่อยแล้วก็ให้เขาช่วยกันเก็บทำความสะอาด 

 

ให้เห็นความจริงว่า "ผลมันเป็นแบบนี้นะ ที่หนูทำ" ให้เขารู้สึกเองว่า "ความจริงแบบนี้ บอกพ่อแม่ได้นะ ไม่ต้องบิดความจริงก็ได้” เพราะ ความจริงก็คือความจริง เราควรสอนตั้งแต่เล็ก ๆ ให้ลูกเห็นว่าความจริงคือสิ่งที่ควรพูด มากกว่าไปลงโทษที่เขาพูดโกหก 

 

ในขณะที่เด็กโตหน่อยที่รู้เรื่องแล้ว หากโกหก พ่อแม่ต้องไปหาครับว่าอะไรทำให้เขาต้องโกหก และลองคิดในแง่มุมของลูกสักหน่อยว่าเราทำอะไรได้บ้างกับเหตุที่ทำให้เขาต้องหลอกเรา

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง