345
"เรื่องโกหกของลูก" ปกติหรือเป็นเด็กมีปัญหา

"เรื่องโกหกของลูก" ปกติหรือเป็นเด็กมีปัญหา

โพสต์เมื่อวันที่ : November 9, 2022

การโกหก คือ การกล่าวเรื่องที่ไม่เป็นความจริงอาจจะทั้งหมดหรือบางส่วน อาจจะพูดเรื่องที่ไม่จริงว่าเป็นเรื่องจริง หรืออาจพูดเรื่องที่จริงว่าเป็นเองที่ไม่จริง สำหรับหลายคน

 

‘การโกหก’ เป็นหนึ่งในรูปแบบของการหลอกลวงที่บางครั้งอาจถูกมองว่าเป็น ‘ความผิด’ ทั้งด้านศีลธรรม เผลอ ๆ อาจจะถือเป็นความผิดทางกฎหมายเสียด้วยซ้ำ ดังนั้นเราในฐานะพ่อแม่จึงพยายามปลูกฝัง ‘การพูดความจริง’ ให้กับลูกตั้งแต่เด็ก ด้วยเหตุผลง่าย ๆ ที่ว่า “การโกหก คือ เรื่องที่ไม่ดี”

มีนิทานและเรื่องเล่ามากมายพูดถึงข้อไม่ดีของการโกหกเพื่อสอนใจเด็ก ๆ เกี่ยวกับการโกหก ที่คุ้นเคยกันดีก็คือเรื่อง “เด็กเลี้ยงแกะ” เพื่อสอนไม่ให้เด็กพูดโกหก ทั้งที่ผู้ใหญ่ก็โกหกกันเป็นเรื่องปกติมิใช่หรือ และจริงหรือที่การโกหกถือเป็นสิ่งที่ผิดเสียทั้งหมด

 

‘การโกหก’ หรือ ‘การพูดไม่ตรงกับความเป็นจริง’ หากมองในแง่ของพฤติกรรมพัฒนาการ เราจะพบว่า การโกหกนั้นเป็น ‘สิ่งปกติ’ ตามพัฒนาการตามวัย และส่วนหนึ่งของ ‘ความเฉลียวฉลาด’ เสียด้วยซ้ำ

 

 

💙 "เด็กเล็ก (2-6 ปี)" เริ่มมีทักษะทางภาษามากขึ้น จะเริ่มพูดไม่จริงได้ 💙

เพราะเด็กในวัยนี้มีจินตนาการมากขึ้นและยังแยกระหว่าง ‘ความเป็นจริง’ กับ ‘จินตนาการ’ ไม่ได้ดีนัก ดังนั้นเด็กเล็กจึงอาจพูดเกินจริงหรือไม่ตรงกับความจริงได้บ่อย (ในบางคนอาจจะพูดแทบตลอดเวลาก็ได้) โดยอาจมีนัยยะบางอย่างต่อความเป็นจริงก็ได้แต่มักไม่ได้ตั้งใจจะโกหก (แบบนิยามของการโกหกแบบที่ผู้ใหญ่เข้าใจ)

 

⚠️ บ้างเพื่อให้เล่นหรือเล่าเรื่องราวได้สนุกสนานขึ้น ⚠️ บ้างเกิดจากจินตนาการสิ่งที่ทำให้เขาสามารถก้าวข้ามสิ่งที่คุกคามหรือทำให้เด็กกลัว อย่างการเหาะเหินเดินอากาศได้หรือมีพลังวิเศษมหาศาล ⚠️ บ้างเกิดจาก ‘การทดสอบ’ พ่อแม่ว่ารู้หรือไม่ว่าสิ่งที่เขาพูดนั้นจริงหรือไม่จริง (ทั้งที่ส่วนใหญ่ก็รู้ว่าพ่อแม่รู้) หรือเพียงอยากดูปฏิกิริยาของพ่อแม่ต่อคำพูดที่ไม่จริงของเขา เป็นรูปแบบหนึ่งในการเล่นของเด็กวัยนี้ เช่น หิวจัง (ทั้งที่เพิ่งกินไปเมื่อกี้) หรือ ผมหนูสีชมพู เป็นต้น ดังนั้นสำหรับการไม่ตรงหรือเกินจริงในเด็กช่วงปฐมวัยนั้นเป็นสิ่งปกติที่เกิดได้ พ่อแม่ไม่ต้องวิตกกังวลหรือไปตำหนิลูกมากเกินไป ‼️

 

สำหรับ ‘เด็กโต’ ที่มีอายุตั้งแต่ 7 ขวบขึ้นไป เด็กวัยนี้จะแยกแยะ ‘ความจริง’ กับ ‘จินตนาการ’ ได้ชัดเจนแล้ว ดังนั้นจึงมักมีสาเหตุที่ทำให้เด็กคนหนึ่งพูดไม่จริง เช่น ⚠️ การโกหกเพื่อกลบเกลื่อนความผิด กลัวการโดนทำโทษ หรือหลีกหนีจากสิ่งที่เด็กไม่ต้องการ ⚠️ การโกหกเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ เช่น บอกพ่อว่า “ปกติแม่ให้กินขนมก่อนข้าวเย็นนะ”

การโกหกเพื่อทำให้พ่อแม่สบายใจหรือเพื่อไม่ต้องทำให้คนอื่นเสียใจ

ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า White Lie โดยสำหรับประเด็นนี้อาจต้องให้ความสำคัญต่อการปกปิดความผิดเพราะกลัวว่าคนอื่นจะได้รับโทษ โดยเฉพาะคดีล่วงละเมิดทางเพศ ที่เด็กถูกกระทำด้วยคนใกล้ชิดและเด็กไม่ยอมบอกว่าถูกกระทำ ส่วนหนึ่งอาจเพราะถูกขู่ แต่อีกส่วนหนึ่งก็อาจเพราะไม่อยากให้คนใกล้ชิดแสนชั่วคนนั้นได้รับโทษ ติดคุกก็ได้

 

 

แม้การโกหกจะเป็นเรื่องที่พบได้ปกติตามวัย 🧸 เด็กเล็ก ๆ อาจพูดเรื่องที่ไม่จริงได้ตลอดวัน แต่ถ้าเด็กโตยังพูดโกหกตลอดเวลา อันนี้อาจเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ และอาจเป็น ‘อาการ’ หนึ่งของโรคที่พบในเด็กที่พัฒนาการทางภาษาล่าช้า เด็กที่เป็นโรคซึมเศร้า เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นที่ไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม เป็นต้น 🗣 ซึ่งอาการของโรคจะแสดงออกมาในรูปแบบของปัญหาพฤติกรรม เช่น ความรุนแรง การไม่ไปโรงเรียน การติดเกม และการโกหก เป็นต้น

 

ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่มีส่วนสำคัญที่จะต้องประเมินและรับมือกับการโกหกของลูกอย่างเหมาะสมเพื่อสอนให้รู้ว่าการพูดความจริงเป็นเรื่องดีที่ควรทำนั่นเอง บทความต่อไปจะมากล่าวถึงการรับมือกับ ‘การโกหก’ ของลูกอย่างเหมาะสมกันครับ