314
รับมือความโกรธด้วยความรัก

รับมือความโกรธด้วยความรัก

โพสต์เมื่อวันที่ : November 13, 2020

ทำไมผู้คนยุคนี้โกรธกันง่ายขึ้น ? ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ดูเหมือนความอดทนลดต่ำลง ความอดกลั้นต่ออารมณ์ความรู้สึกก็จะกระทบกันง่ายขึ้น ประมาณพูดจาไม่ถูกหูก็พร้อมจะมีเรื่องได้ทันที ! อย่าว่าแต่นอกบ้านเลย แม้แต่ในบ้านก็ดูเหมือนจะมีอารมณ์ขุ่นมัวโกรธเคืองในครอบครัวกันบ่อย ๆ  

 

ความโกรธ (Anger)

เป็นอารมณ์ทางลบที่เกิดขึ้นจากความไม่พอใจ ไม่ได้ในสิ่งที่ตนเองต้องการและคาดหวัง เมื่อถูกขัดขวางความตั้งใจในการกระทำบางอย่างจึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจไปพร้อมกัน อาจแสดงออกมาทางความคิดและพฤติกรรม

 

ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นกับร่างกายมนุษย์สามารถสังเกตได้ เมื่อบุคคลมีความโกรธเกิดขึ้น อาจมีอาการหน้าแดง ใช้เสียงดัง มองด้วยสายตาที่ไม่เป็นมิตร ฯลฯ นอกจากนั้นอาจแสดงปฏิกิริยาเกรี้ยวกราดต่อบุคคลอื่น หรืออาจเก็บเงียบและหลบหลีกการเผชิญหน้า ซึ่งลักษณะดังกล่าวขึ้นอยู่กับบุคลิกภาพของบุคคลนั้น และแน่นอนไม่มีใครเกิดมาแล้วไม่เคยโกรธ แต่ประเด็นคือเมื่อโกรธแล้วจัดการความโกรธนั้นอย่างไร

 

 

โดยเฉพาะผู้ที่เป็นพ่อแม่ ที่ต้องเผชิญความโกรธกับลูกวัยรุ่น ดูเหมือนโจทย์จะยากยิ่งขึ้นไปอีก เพราะความเปลี่ยนแปลงของวัยรุ่นก็มีความเสี่ยงที่จะทะเลาะกับพ่อแม่ได้ง่ายกว่าเดิมอยู่แล้ว ยิ่งเมื่อเผชิญกับความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน ทั้งเรื่องของวัย เรื่องของยุคสมัย เรื่องของวิธีคิด ฯลฯ ก็ยิ่งทำให้มีโอกาสกระทบกระทั่งกันได้ง่ายขึ้นไปอีก 

 

รู้อย่างนี้แล้ว พ่อแม่ก็ต้องตั้งหลักก่อน พยายามไม่เครียดเมื่อต้องเผชิญอารมณ์โกรธกับลูก เพราะอาการโกรธ โมโห จัดเป็นอารมณ์ชนิดหนึ่งของมนุษย์ ไม่ใช่เป็นสิ่งไม่ดี หรือเป็นความผิด แต่เป็นอารมณ์ที่ลูกต้องการส่งสัญญาณบางประการให้พ่อแม่ผู้ปกครองได้รับรู้ว่าเกิดความไม่พอใจต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

 

ประเด็นสำคัญคือ เมื่อลูกมีอาการโกรธ หรือโมโหแล้ว เขาสามารถจัดการกับอารมณ์ของตัวเองได้หรือเปล่าต่างหาก ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของคนเป็นพ่อแม่ที่ต้องตระหนัก และหาทางช่วยให้ลูกจัดการอารมณ์ของตัวเองให้ได้ และถ้าสามารถทำตั้งแต่ลูกยังเล็ก ก็จะยิ่งสามารถรับมือได้ดี มิเช่นนั้นแล้วพฤติกรรมโกรธ อาจขยายวงเป็นโมโหร้าย หรือเจ้าอารมณ์ไปจนโตก็ได้

วิธีบริหารจัดการความโกรธ (Anger Management)

ให้กับลูกคือสิ่งสำคัญที่พ่อแม่ผู้ปกครองควรใส่ใจเพื่อให้เด็กเติบโตอย่างมีคุณภาพและสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข โดยเฉพาะการรับมือกับความโกรธของลูกวัยรุ่น 

 

✚ สำรวจตัวเองก่อน ✚

ถ้าคุณเป็นพ่อแม่ที่มักตามใจลูกอยู่แล้ว โดยไม่ได้สนใจว่าเหมาะสมหรือไม่ แต่ไม่อยากขัดใจลูก ถ้าใช่แล้วล่ะก็ ต้องปรับตัวเองด้วย มิเช่นนั้น แค่ขัดใจลูกก็โกรธแล้ว สิ่งสำคัญพ่อแม่ต้องไม่ตกเป็นทาสความเจ้าอารมณ์ของตัวเองด้วย เพราะถ้าพ่อแม่ไม่สามารถจัดการอารมณ์ของตัวเองได้ ก็อย่าได้หวังที่จะสอนให้ลูกจัดการอารมณ์ได้ด้วยเช่นกัน 

 

พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูกได้ เมื่อมีความโกรธให้นิ่งหรือปลีกตัวออกมาจนรู้สึกผ่อนคลายเสียก่อนแล้วค่อย ๆ พูดคุยกับคนรอบข้างด้วยความนุ่มนวล ทำให้ลูกเห็นเป็นประจำเพื่อให้ซึมซับตัวอย่างที่ดีในการจัดการอารมณ์โกรธ

 

✚ ฝึกให้เข้าใจอารมณ์โกรธของตัวเอง ✚

ควรฝึกให้ลูกสังเกตอารมณ์ของตัวเอง เช่น อึดอัด หายใจแรง กล้ามเนื้อเกร็งตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย มือเย็น เหงื่อแตก ฯลฯ และเมื่อพบว่ามีอาการเหล่านี้ ก็ควรอธิบายให้ลูกเข้าใจว่า ถ้าหากมีพฤติกรรมเหล่านี้ ให้พยายามหายใจเข้าลึก ๆ และฝึกให้ผ่อนอารมณ์ เช่น นับหนึ่งถึงร้อย หรือให้นึกถึงเรื่องที่ลูกคิดถึงแล้วสบายใจ เพื่อที่จะให้ลูกเข้าใจความโกรธของตัวเอง บอกให้เขารู้และเข้าใจว่าความโกรธถือเป็นเรื่องปกติ ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะโกรธได้ แต่เมื่อโกรธแล้วจะต้องรู้จักวิธีที่จะสงบสติอารมณ์ของตนเองให้ได้ 

 

✚ ระบายความรู้สึกให้เป็น ✚

การระบายความรู้สึกเมื่อเกิดอารมณ์โกรธหรือไม่พอใจเป็นวิธีการจัดการที่ได้ผลอย่างหนึ่ง ให้เขาเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ซึ่งหมายความว่า พ่อแม่ต้องพร้อมทุกเมื่อที่จะรับฟังลูกเมื่อลูกต้องการเรา จากนั้นก็ต้องสอบถามอารมณ์ความรู้สึกว่ารู้สึกอย่างไร แล้วค่อย ๆ ให้คำแนะนำเพื่อให้อารมณ์ของลูกกลับเข้าสู่สภาวะปกติให้ได้ก่อน

 

✚ เบี่ยงเบนสถานการณ์ ✚

การเบี่ยงเบนความสนใจเป็นวิธีหนึ่งที่มีความเหมาะสม ต้องพาลูกออกไปจากบรรยากาศที่ทำให้เขาเกิดสภาวะอารมณ์โกรธ หรือไม่พอใจ เพื่อเบี่ยงเบนสถานการณ์ ถ้าเป็นเด็กเล็กก็สามารถเบี่ยงเบนความสนใจได้ง่าย แต่ถ้าลูกโตก็ต้องใช้เวลาและเทคนิคของพ่อแม่มากหน่อย หรือชวนทำกิจกรรมอื่น ๆ เมื่อเขาอารมณ์นิ่งขึ้นจึงให้เขาเลือกวิธีที่จะจัดการกับความโกรธของเขาที่ยังเหลืออยู่อย่างเหมาะสมโดยเปิดโอกาสให้เขาได้หัดคิดและเรียนรู้ 

✚ อย่าโพสต์ลงโซเชี่ยลมีเดีย ✚

ควรจะมีข้อตกลงร่วมกันในสภาวะปกติว่า ถ้ามีอารมณ์โกรธขออย่าโพสต์ลงโซเชี่ยลมีเดีย พยายามสะกดกลั้นอารมณ์ ถ้าเป็นไปได้ก็ควรจะพยายามหาทางออกในการพูดคุยกัน และไม่เลือกที่จะโพสต์ระบายบนโลกออนไลน์ ถ้าอีกฝ่ายโกรธ ก็จะทำให้ปัญหาบานปลาย จากเรื่องหนึ่งอาจกลายเป็นชนวนที่นำไปสู่เรื่องอื่น ๆ

 

สิ่งที่ควรทำตอนที่อารมณ์กำลังคุกรุ่นหรือโกรธคือ อยู่เฉย ๆ พยายามจัดการอารมณ์ของตัวเองให้หายโกรธก่อน เชื่อเถอะว่าเวลาที่ผ่านไปช่วยได้จริง ๆ รอให้ใจเย็นลงและหาวิธีที่แก้ปัญหาอย่างมีสติ

 

Brad Bushman จาก Ohio State University แนะนำว่าเมื่อโกรธอยู่ ทางที่ดีคือตอบโต้ช้าลงไม่ต้องทันทีทันใด พยายามผ่อนคลายหาอย่างอื่นทำ หรือคิดด้วยกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวเลยกับความรุนแรง

 

...“แม้ความคิดที่ว่า หากไม่ระบายออกมา เราจะเป็นบ้าและระเบิดในวันใดวันหนึ่ง ฟังดูเป็นคอมมอนเซนส์มาก ๆ แต่การปล่อยให้ความโกรธอันร้อนระอุ ได้เย็นลงตามลำดับน่าจะดีกว่าระบายออกไป เพราะยิ่งระบายก็ยิ่งโกรธเป็นวงจรไม่จบสิ้น แม้จะรู้สึกดีตอนทำก็ตาม”... ทั้งหมดนี้เป็นวิธีรับมือยามลูกโกรธที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องพยายามปรับตัวเองด้วย

 

แต่ขณะเดียวกันก็ต้องใช้ความรักในการเยียวยาความโกรธด้วย โดยเฉพาะอ้อมกอดของพ่อแม่ มีส่วนสำคัญยิ่งที่จะทำให้ท่าทีที่โกรธขึ้งของลูกลดลง และเปิดใจมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง และความคิดเห็นไม่ตรงกันระหว่างพ่อแม่ลูก ต่อให้เรื่องยากและหนักขนาดไหน ความรักยังสามารถเยียวยาได้ทุกสิ่งอย่าง