190
"ตะโกน-โยน-ยื่น" หลักสูตรสำคัญ เล่นน้ำแบบหายห่วง !

"ตะโกน-โยน-ยื่น" หลักสูตรสำคัญ เล่นน้ำแบบหายห่วง !

โพสต์เมื่อวันที่ : February 26, 2024

 

ภัยเงียบช่วงปิดเทอมและเป็นอีกหนึ่งสาเหตุการเสียชีวิตของเด็กไทย พบมากในช่วงปิดเทอมเดือนเมษายน ซึ่งเป็นเดือนที่มีความเสี่ยงและอัตราการเสียชีวิตของเด็กจากการจมน้ำมากที่สุด

 

กรมควบคุมโรค เผยสถิติเด็กจมน้ำเสียชีวิตช่วงปิดเทอม ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2561 - 2565) มีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จมน้ำเสียชีวิตในช่วงฤดูร้อน ซึ่งตรงกับช่วงปิดเทอม (เดือน มี.ค. - พ.ค.) จำนวน 953 คน เฉลี่ยวันละ 2 คน เดือน เม.ย. พบเหตุการณ์จมน้ำมากที่สุด 65 คน รองลงมาคือ เดือน มี.ค. 64 คน และเดือน พ.ค. 63 คน แหล่งน้ำที่พบว่าเด็กจมน้ำมากที่สุด คือ

 

  • แหล่งน้ำตามธรรมชาติ ร้อยละ 76.5
  • เขื่อน อ่างเก็บน้ำ ฝาย ร้อยละ11.1
  • ทะเลร้อยละ 5.3
  • ภาชนะภายในบ้านร้อยละ 3.5
  • สระว่ายน้ำ สวนน้ำร้อยละ 1.8

 

โดยสาเหตุหลักเกิดจากการเล่นน้ำมากที่สุด ร้อยละ 59.4 รองลงมาคือพลัดตกลื่น ร้อยละ 21.5 ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ ขาดการดูแลจากผู้ปกครอง และขาดความรู้เรื่องแหล่งน้ำเสี่ยง กรมควบคุมโรคแนะนำให้ผู้ปกครองพาเด็ก ๆ ไปเรียนรู้เรื่องน้ำ โดยแนะนำเป็นช่วงอายุ

 

  1. อายุ 6 ปีขึ้นไป ควรได้เรียนว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด
  2. เด็กเล็กต้องอยู่ในระยะที่แขน เอื้อมถึงหรือคว้าถึงผู้ปกครองควรดูแลอย่างใกล้ชิด

 

แนะนำให้ประชาชนทุกคนสวมเสื้อชูชีพหรือใช้อุปกรณ์ลอยน้ำได้อย่างง่าย เช่น ถังแกลลอนพลาสติกเปล่า ขวดน้ำพลาสติกเปล่า ทุกครั้งที่เดินทางหรือทำกิจกรรมทางน้ำ

 

 

ตะโกน - โยน - ยื่น

  1. ตะโกน ตะโกนเสียงดัง เรียกให้คนมาช่วย และโทรแจ้ง 1669
  2. โยน สิ่งของให้คนจมน้ำเพื่อลอยตัว เช่น ขวดแกลลอน โฟม ห่วงชูชีพ ขวดน้ำพลาสติก หรือลูกมะพร้าว
  3. ยื่น หาอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวให้คนตกน้ำจับ และดึงเข้าหาฝั่ง เช่น เชือก ท่อ PVC แท่งไม้ เสื้อ เข็มขัด

 

 

พี่แฮปปี้ย้ำเด็ก ๆ นะว่าถึงจะว่ายน้ำเป็นแล้ว แต่อย่าเพิ่งรีบกระโดดลงไปช่วยเมื่อเห็นคนตกน้ำเด็ดขาด ให้ใช้หลักการ “ตะโกน - โยน - ยื่น” ตะโกนให้เสียงดัง “ช่วยด้วยมีคนตกน้ำ” โยนขวดน้ำแกลลอนหรือห่วงชูชีพ ยื่นอุปกรณ์ใกล้ตัวยื่นแนวราบให้คนตกน้ำเกาะ