
ครอบครัวที่พูด “หลายภาษา” ลูกจะสับสนไหม ?
การเริ่มใส่ภาษาที่ 2 หรือ 3 ให้ลูก สามารถทำได้ตั้งแต่เมื่อไร ?
ในทุกวันนี้ที่ทุกอย่างในโลกของเรากำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทั้งเรื่องเทคโนโลยี สังคม หรือแม้แต่ความคิดและความเชื่อ นุ่นเชื่อว่า ไม่มีพ่อแม่คนไหนอีกแล้วที่คิดว่า "ภาษาที่สอง" โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ไม่มีความสำคัญกับลูก จริงไหมคะ ?
เพราะทุกคนต่างเข้าใจดีแล้วว่า ภาษาอังกฤษไม่ใช่แค่ภาษาในการสื่อสาร แต่ยังเป็นกุญแจที่ปลดล็อกข้อมูลและความรู้มากมายในโลกไร้ขอบเขตนี้ แถมยังเพิ่มโอกาสทางการศึกษาและการทำงานที่กว้างขึ้นในอนาคตสำหรับตัวเขาด้วย
พูดง่าย ๆ เลยก็คือ พ่อแม่ทุกคนอยากให้ลูกเก่งภาษาอังกฤษ แต่หลายคนอาจยังไม่รู้วิธีที่จะไปถึงเป้าหมายนั้น เพราะฉะนั้น ในซีรีส์บทความนี้ นุ่นจะขอพาคุณพ่อคุณแม่ค่อย ๆ เรียนรู้และทำความเข้าใจ ทุกเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการเลี้ยงลูกให้เป็นเด็กสองภาษา กันค่ะ
เริ่มต้นที่คำถามที่นุ่นถูกถามบ่อยที่สุดก่อนเลย นั่นก็คือ “เริ่มให้ลูกเรียนภาษาตอนไหนดี?” หรือ “เริ่มสอนลูกได้ตั้งแต่กี่ขวบ ?”
คำตอบ: ถ้าดีที่สุดคือ เริ่มตั้งแต่ลูกอยู่ในท้องค่ะ และถ้าคนไหนไม่ทันตอนนั้น เวลาที่ดีรองลงมาก็คือ เริ่มตอนนี้ !
จากการศึกษาพบว่า ช่วงอายุ 0 - 7 ขวบ คือช่วงเวลาที่สมองของเด็กเปิดกว้างที่สุดในการเรียนรู้ภาษาใหม่ ๆ เด็ก ๆ สามารถรับรู้และแยกแยะเสียงจากภาษาต่าง ๆ ได้อย่างเป็นธรรมชาติ รวมถึงเริ่มเรียนรู้ไวยากรณ์ คำศัพท์ และโครงสร้างของภาษาที่สอง ซึ่งจะกลายเป็นสิ่งที่ยากขึ้นสำหรับผู้ที่เริ่มเรียนภาษาตอนโตแล้ว
ขอยกตัวอย่างงานวิจัยที่น่าสนใจค่ะ นักวิจัยได้ศึกษาทักษะการแยกแยะเสียงของเด็ก ๆ จากครอบครัวที่พูดภาษาแตกต่างกัน เช่น กลุ่มเด็กญี่ปุ่นและกลุ่มเด็กอเมริกัน ผลการศึกษาพบว่า เด็กทุกคนจากทั้งสองชาติสามารถรับรู้ความแตกต่างของเสียงแต่ละเสียงได้ และสามารถแยกแยะเสียง ตัว R (ที่มีการม้วนลิ้น) และตัว L (ที่ลิ้นแตะเพดานปาก) ในภาษาอังกฤษได้ก่อนอายุ 7 ขวบเลยทีเดียว
(ลองทำตามและออกเสียงไปพร้อมกันดูนะคะ 😊)
(ภาพจากรายการ วันละนิด English ตอน ภาษาอังกฤษน่าสนใจในทุ่งนา)
● บทความที่เกี่ยวข้อง : ลูกพูด “ไทยคำ - อังกฤษคำ” แก้อย่างไร ?
แต่เมื่อเด็ก ๆ โตขึ้นและไม่ได้รับการฝึกฝนภาษาอังกฤษบ่อย ๆ พวกเขาจะเริ่มสูญเสียความสามารถในการแยกเสียง R และ L ไป เพราะสมองของเด็ก ๆ จะเริ่มคัดกรองการได้ยินเสียงตามภาษาแม่ที่พวกเขาได้ยินบ่อย ๆ พูดง่าย ๆ ก็คือเหมือนมีการใส่ filter กรองให้ได้ยินแต่เสียงที่คุ้นเคยนั่นเองค่ะ
ซึ่งตรงนี้เองที่นักวิชาการเรียกว่า กระบวนการที่ทำให้เด็ก ๆ กลายเป็น “Culture Bound” หรือการจำกัดตัวเองไว้ในขอบเขตของภาษาและวัฒนธรรมที่พวกเขาคุ้นเคยมากที่สุด และเมื่อสูญเสียความสามารถนี้ไปแล้ว ก็เป็นเรื่องยากมากที่จะฝึกฝนเพื่อเอา ‘สกิลนี้’ กลับคืนมาได้ นี่เป็นเหตุผลที่เราเห็นชาวต่างชาติหลายคน ที่แม้ว่าจะอยู่เมืองไทยมานานเป็นสิบ ๆ ปี ก็ยังพูดภาษาไทยได้ไม่ชัดเท่าเด็กไทยอายุ 10 ขวบ
จากตัวอย่างข้างต้น ทำให้เราได้เข้าใจว่า ช่วงเวลาสั้น ๆ ที่ลูกพร้อมเรียนรู้ภาษาที่สุด เป็นช่วงเวลาที่จำกัดมาก สำหรับโอกาสทองนี้ ถ้าเรามัวชักช้าไม่รีบคว้าเอาไว้ มันก็อาจจะหลุดมือเราไปตลอดกาล
ถึงตรงนี้แล้ว นุ่นจึงอยากแนะนำทุก ๆ ครอบครัวว่า ควรให้ลูกได้ฝึกฝนและสัมผัสกับภาษาที่สองตั้งแต่ยังเล็ก เพราะไม่เพียงแต่จะช่วยให้พวกเขามีทักษะทางภาษาที่แข็งแรงเท่านั้น แต่ยังเป็นการเปิดโอกาสให้พวกเขาได้เชื่อมโยงกับโลกภายนอก และสร้างความสามารถในการเข้าใจวัฒนธรรมที่หลากหลายอีกด้วย การเรียนภาษาอังกฤษในวัยที่เหมาะสมจึงเป็นการลงทุนที่มีค่า และจะส่งผลต่อความสำเร็จในอนาคตของลูก ๆ ของเราทุกคนค่ะ
แล้วจะเริ่มอย่างไรดี ? หรือถ้าคุณพ่อคุณแม่บางคนไม่เก่งภาษาอังกฤษ จะเป็นไปได้ไหมที่จะสร้างลูกให้เป็นเด็กสองภาษา ? (ขอตอบตรงนี้ก่อนเลยค่ะ นุ่นเชื่อว่าทุกบ้านสามารถทำได้ !) ไว้นุ่นจะหยิบมาเล่าเพิ่มเติมในบทความต่อ ๆ ไปในซีรีส์นี้นะคะ
✱ ติดตามข่าวสารและกิจกรรม Thai PBS Kids ได้ทาง Website | Facebook | Youtube | LINE Official ✱