164
ครอบครัวที่พูด “หลายภาษา” ลูกจะสับสนไหม ?

ครอบครัวที่พูด “หลายภาษา” ลูกจะสับสนไหม ?

โพสต์เมื่อวันที่ : March 8, 2025

 

การเริ่มใส่ภาษาที่ 2 หรือ 3 ให้ลูก สามารถทำได้ตั้งแต่เมื่อไร และการเริ่มเร็วจะส่งผลให้ลูกพูดช้าหรือสับสนหรือไม่

 

เคยมีคนมาปรึกษานุ่นด้วยความไม่สบายใจ เพราะโดนญาติผู้ใหญ่ทักปนตำหนิว่า “ก็พูดกับลูกด้วยหลายภาษา เด็กก็เลยงง ก็เลยไม่พูดสักที” นี่เป็นความเชื่อกันมาช้านานว่าการที่พ่อแม่พูดกับลูกด้วยหลายภาษา ทั้งไทย ทั้งอังกฤษ (บางครั้งมีจีนด้วย) ทำให้ลูกเล็กไม่ยอมพูดสักที

 

นุ่นขอบอกตรงนี้เลยว่า ใช่ค่ะ ! การที่ลูกได้เรียนรู้หลายภาษาอาจทำให้ลูก “พูดช้า” ในช่วงแรกของพัฒนาการ ซึ่งเป็นเรื่องปกติและไม่ใช่สิ่งที่ต้องกังวลใจ เพราะการเรียนรู้ภาษาหลายภาษามีความซับซ้อนกว่าเด็กที่เรียนรู้ภาษาเดียว (Monolingual) แต่ในระยะยาว เด็กสองภาษาหรือหลายภาษา (Bilingual/Multilingual) จะได้รับข้อดีมากมายที่ส่งผลต่อพัฒนาการโดยรวมของเขาเองค่ะ

 

 

● บทความที่เกี่ยวข้อง : ชวนลูกพูดภาษาอังกฤษ แต่ลูกตอบกลับเป็นภาษาไทย

 

ทำไมเด็กถึงพูดช้าเมื่อเรียนหลายภาษา ?

❶ ข้อมูลที่มากขึ้น : เด็กที่เรียนหลายภาษาต้องใช้เวลาในการเรียนรู้คำศัพท์ ไวยากรณ์ และโครงสร้างประโยคในแต่ละภาษา สมองของเด็กต้อง “แยกแยะ” และ “จัดระบบ” ความรู้มากกว่าเด็กที่ได้ฟังเพียงภาษาเดียวค่ะ

 

 

❷ การใช้คำสลับภาษา : เด็กสองภาษามักมีพฤติกรรม Code-Switching หรือการสลับภาษาไปมา ซึ่งทำให้ดูเหมือนพูดช้า หรือพูดไม่รู้เรื่อง เพราะพวกเขากำลังดึงคำศัพท์จากหลายภาษาเข้ามาประกอบกันในประโยค เช่น “I want ข้าว.” หรือ “แม่ where is my รองเท้า ?” พฤติกรรมนี้ไม่ใช่สิ่งที่ต้องกังวล แต่เป็นสัญญาณที่ดีที่กำลังบอกให้รู้ว่าลูกกำลังเรียนรู้ และพยายามใช้ภาษาที่เขารู้ในการสื่อสารความต้องการออกมา

 

 

❸ กระบวนการเรียนรู้ที่ซับซ้อน : ในเด็กสองภาษา พัฒนาการทางภาษาจะเน้นไปที่ “ความเข้าใจ” ก่อน “การพูด” เช่น เด็กอาจเข้าใจคำสั่งในสองภาษาได้ดี แต่ยังเลือกใช้คำพูดที่เขารู้สึกมั่นใจมากที่สุดเท่านั้นในช่วงแรก เหมือนที่เคยเล่าให้คุณพ่อคุณแม่ฟังไปในบทก่อน ๆ ค่ะ

 

พอเข้าใจแบบนี้แล้ว แต่นุ่นก็เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่หลายคนก็คงยังไม่วางใจ งั้นเรามาต่อกันในคำถามที่ว่า “การพูดช้าจะส่งผลเสียหรือไม่ ?” คำตอบคือ “ไม่ค่ะ !” การพูดช้าในเด็กสองภาษาหรือหลายภาษา ไม่ได้หมายความว่าเด็กมีปัญหาทางด้านพัฒนาการ แต่เป็นการที่สมองของเด็กเหล่านี้กำลังพัฒนาความสามารถในการแยกแยะข้อมูล ทั้งคำศัพท์ การออกเสียง และวิธีการใช้ภาษาต่าง ๆ ซึ่งจะกลายเป็นทักษะสำคัญเมื่อพวกเขาโตขึ้นค่ะ

 

รู้แบบนี้แล้ว ก็อยากให้คุณพ่อคุณแม่ที่ตั้งใจสอนลูกด้วย 2 ภาษา (หรือมากกว่า) สบายใจได้ว่า การที่ลูกอาจพูดช้าเป็นเรื่องปกติและไม่ใช่สิ่งที่ต้องกังวล เพราะนอกจากลูกจะมีข้อได้เปรียบที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต คือการสื่อสารได้หลายภาษาแล้ว สมองของเด็กหลายภาษายังได้รับการฝึกฝนให้ยืดหยุ่นและสามารถปรับตัวได้เก่งอีกด้วยนะคะ

 

 

ที่สำคัญ อย่าลืมสนับสนุนการเรียนรู้ของลูกด้วยบรรยากาศที่สนุกและผ่อนคลาย ให้เวลาเขาเรียนรู้และปรับตัว เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ลูกจะสามารถใช้หลายภาษาได้อย่างคล่องแคล่วและมั่นใจแน่นอนค่ะ

 

“อย่าเพิ่งหยุดพยายามกันนะคะ เพื่ออนาคตของลูกรักของเรา ❤️”

 

ติดตามข่าวสารและกิจกรรม Thai PBS Kids ได้ทาง Website | Facebook | Youtube | LINE Official