2290
เมื่อลูกกลายเป็นเด็กชอบโกหก !

เมื่อลูกกลายเป็นเด็กชอบโกหก !

โพสต์เมื่อวันที่ : December 11, 2020

พ่อแม่ทุกคนมักจะรู้สึกหงุดหงิดหรือหัวเสียทุกครั้งเมื่อรู้ว่าลูกโกหก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่ลูกทำผิดแล้วไม่ยอมรับผิด ยิ่งถ้ามีใครมาบอกว่าลูกของเราเป็นเด็กขี้โกหก พ่อแม่ย่อมรู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจ ซึ่งอาจนำไปสู่ความโกรธและแสดงพฤติกรรมประเภทอารมณ์นำหน้าก็ได้ 

 

B. DePaulo นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียร์ สหรัฐอเมริกา เคยทำการศึกษาเรื่องการโกหกและถูกนำมาพูดถึงบ่อยครั้ง ระบุว่าได้ศึกษาคน 147 คน ที่มีอายุระหว่าง 18-71 ปี โดยทำให้คนเหล่านั้นบันทึกข้อมูลที่ตนโกหกในเวลา 1 สัปดาห์ พบว่าคนส่วนมากจะโกหกกันวันละครั้งหรือสองครั้ง ชายและหญิงที่สนทนากันนานเกิน 10 นาที มักห้ามใจที่จะไม่โกหกกันไม่ได้ และในกรณีลูกกับพ่อแม่ การโกหกเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงแทบไม่ได้เลย !

โดยเฉพาะช่วงก่อนเข้าวัยรุ่น (Tweens) เป็นช่วงวัยที่เริ่มเปลี่ยนผ่านจากเด็กสู่วัยรุ่น จึงมักขาดเสถียรภาพทางอารมณ์ มีความตึงเครียดต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เข้ามาได้โดยง่าย และเมื่อรู้สึกว่าตนเองไม่สามารถควบคุมสถานการณ์นั้น ๆ ได้ จึงมีปฏิกิริยาตอบสนองโดยการพูดโกหก ซึ่งเป็นสัญญาณว่ากำลังอยู่ในภาวะเครียด 

 

พ่อแม่จึงต้องทำความเข้าใจและควรชี้ให้ลูกเห็นว่าการโกหกไม่ใช่เรื่องดี ชี้ให้เห็นถึงผลเสียที่ตามมาของนิสัยช่างโกหก เช่น ไม่มีใครเชื่อถือ เป็นที่รังเกียจของสังคม ไม่มีใครอยากคบ ชื่อเสียงเสียหาย ฯลฯ โดยอาจยกตัวอย่างจากข่าวคราวของคนที่มีชื่อเสียงเมื่อโกหกแล้วได้รับผลกระทบอะไรบ้าง เพื่อให้เด็กเห็นภาพอย่างเป็นรูปธรรม 

 

การโกหกของคนมีหลายระดับ

 

✚ ระดับที่ 1 'โกหกเพราะกลัวถูกทำโทษ' ✚ มักจะเริ่มตั้งแต่เด็กยังเล็ก และการโกหกครั้งแรก ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเล็ก ๆ แต่เด็กจะคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่และกลัวถูกทำโทษ ยกตัวอย่าง ลูกทำข้าวของเสียหาย แต่กลัวถูกทำโทษ ก็เลยโกหกว่าไม่ได้ทำ ส่วนใหญ่จะเริ่มโกหกพ่อแม่ หรือคนใกล้ชิด 

 

ถ้าการโกหกในครั้งแรก ๆ ได้รับการแก้ไข ผู้ใหญ่สอนให้เขารู้ว่าการโกหกเป็นเรื่องไม่ดี ถ้าลูกพูดความจริงลูกอาจไม่ถูกทำโทษ แต่ถ้าโกหกต้องถูกลงโทษ เขาก็จะได้รับการปลูกฝังว่า ไม่ว่าเขาจะทำอะไรไม่ดี แต่ถ้าเขาพูดความจริง ก็จะทำให้ทุกอย่างแก้ไขได้ แต่ถ้าในระดับนี้ เขาสามารถโกหก โดยที่ไม่ได้รับการอบรมสั่งสอนหรือปล่อยผ่าน เขาก็จะเรียนรู้ว่าการโกหกก็ไม่มีผลอะไร เขาก็จะทำต่อไปจนติดเป็นนิสัย 

✚ ระดับที่ 2 'โกหกและโยนความผิด' ✚ คือการโกหกโดยโยนความผิดให้คนอื่น อาจจะด้วยความที่กลัวความผิด หรือไม่ก็เกิดจากความไม่พอใจคนอื่น และมีการโกหกว่าผู้อื่นเป็นคนทำ เป็นการใส่ร้าย ประเภทนี้อาจเริ่มตั้งแต่เล็กก็ได้เช่นกัน ถ้าผู้ใหญ่รู้เท่าทัน และสามารถเข้าไปจัดการปัญหาทันท่วงที พร้อมทั้งอบรมสั่งสอนด้วยว่า ทำพฤติกรรมแบบนี้ไม่ดีอย่างไร ตอนนี้ลูกยังเป็นเด็ก ลูกทำแบบนี้ อาจจะมีคนให้อภัยได้ แต่ถ้าลูกโตเป็นผู้ใหญ่ อาจจะต้องถึงขั้นถูกดำเนินคดีความก็ได้

 

✚ ระดับที่ 3 'โกหกโดยการสร้างเรื่อง' ✚ เป็นการโกหกเพราะคิดว่าถ้าโกหกแล้วทำให้ตัวเองได้รับการยอมรับมากขึ้น มีผู้คนสนใจตัวเองมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่ คนประเภทนี้มักจะมีพฤติกรรมบางอย่างที่คนรอบข้างจะมองเห็นและจับพฤติกรรมเหล่านี้ได้ไม่ยาก เพราะการแสดงออกต่าง ๆ จะสะท้อนออกมาเอง และท้ายสุดเพื่อน ๆ ก็จะตีตัวออกห่างไปเอง

 

ถ้าพ่อแม่สังเกตว่าลูกมีพฤติกรรมเหล่านี้ตั้งแต่เล็ก ก็ต้องปรับพฤติกรรม ให้เขารู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า อย่าพูดถึงปมด้อย หรือล้อเลียนในเรื่องที่เขาเป็นปัญหา และสอนให้รู้ว่าทุกคนไม่มีใครสมบูรณ์พร้อม คนเรามีปมเด่นปมด้อยกันทุกคน แต่การอยู่ร่วมในสังคมต้องมีองค์ประกอบอื่น ๆ และมีความจริงใจให้ผู้อื่นด้วย

 

 

✚ ระดับที่ 4 'โกหกจนเป็นนิสัย' ✚ ประเภทนี้มีมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเมื่อโกหกแล้วรู้สึกดี และการโกหกประเภทนี้มักจะขยายวงเป็นอยากมีอยากได้ของคนอื่น และนำไปสู่การคดโกง และก่อเหตุไม่ดี ซึ่งท้ายสุดมักจะจบลงด้วยคดีความ การติดคุกติดตาราง และไม่มีใครอยากคบหา พ่อแม่ไม่ควรปล่อยให้ลูกมีพฤติกรรมมาถึงจุดนี้ เพราะจะทำให้ปรับพฤติกรรมได้ยาก และต้องใช้วิธีการอื่น ๆ ร่วมด้วยกับการปรับพฤติกรรม

 

✚ ระดับที่ 5 'โกหกจนเชื่อว่าตัวเองเป็น' ✚ เข้าข่ายเป็นคนลวงโลก และเป็นกลุ่มเสี่ยงที่น่าจะมีปัญหาทางด้านสภาพจิตร่วมด้วย มักมีปมด้อยอย่างใดอย่างหนึ่ง ตอนแรกก็เริ่มจากการสร้างเรื่องก่อน แล้วได้รับการยอมรับก็รู้สึกดี ก็เลยสร้างเรื่องต่อไปเรื่อย ๆ ทำให้ตกเข้าไปอยู่ในกับดักคิดว่าตัวเองเป็นอย่างที่ตัวเองสร้างเรื่องจริง ๆ พยายามลบเรื่องราวในอดีต และเอาเรื่องราวที่ตัวเองสร้างขึ้นมาใหม่ และเชื่อว่าตัวเองเป็นอย่างนั้น โดยไม่สนใจว่าคนที่เกี่ยวข้องในชีวิตจะรับรู้เรื่องราวในอดีต เพราะเขามีความสุขอยู่กับเรื่องราวที่เขาสร้างขึ้นมา คนกลุ่มนี้มักจะมีปัญหาทางด้านครอบครัว และมีปมด้อยบางอย่างที่ไม่ต้องการยอมรับตัวเอง และส่วนใหญ่คนเหล่านี้จะถลำลึกไปเรื่อย ๆ จนท้ายสุดถ้าเรื่องราวถูกเปิดเผยขึ้นมา มักจะจบลงด้วยปัญหาทางสภาพจิต เช่น โรคซึมเศร้า 

 

...ปัญหาเรื่องโกหกเป็นปัญหาหนึ่งทางสังคมที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะสัญชาตญาณของมนุษย์ไม่อยากยอมรับว่าตัวเองไม่ดี ก็ต้องปัดไปสู่ผู้อื่น...

ฉะนั้นถ้าเด็กได้รับการเลี้ยงดูและปลูกฝังตั้งแต่เล็กจากครอบครัว โดยนำเรื่องของศีลธรรมและจริยธรรมสู่เขาตั้งแต่เด็ก ถ้าพ่อแม่จริงจังและไม่ยอมปล่อยผ่านแม้เพียงเรื่องโกหกเล็ก ๆ ก็จะทำให้เขาเรียนรู้ว่าแม้เรื่องเล็ก ๆ ก็เป็นสิ่งไม่ดี และมีคนได้รับผลกระทบได้เช่นกัน

 

ตรงกันข้ามหากพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ปล่อยปละละเลยเรื่องเล็ก ๆ เพราะเห็นว่าเป็นเด็ก ก็เลยไม่ลงโทษ ไม่อบรมสั่งสอน ก็จะทำให้มีนิสัยเหล่านี้ติดตัว เพราะเมื่อโกหกไปแล้ว ก็ไม่เห็นเป็นไร เขาก็จะซึมซับเอาสิ่งเหล่านั้นติดตัวไป 

 

อย่าลืมว่าเมื่อเริ่มโกหกแล้วก็ต้องโกหกไปเรื่อย ๆ แต่ถ้าพูดความจริง ต่อให้ต้องพูดเป็นร้อยครั้งก็พูดเหมือนเดิม

ที่สำคัญควรสอนด้วยความรักความเข้าใจ มิใช่การจับผิดหรือแก้ปัญหาอย่างฉาบฉวยด้วยการลงโทษ แต่ควรสร้างบทลงโทษที่ชัดเจนให้แก่ลูกด้วย พ่อแม่จำเป็นต้องมีมาตรการการลงโทษลูกตามความเหมาะสมในแต่ละช่วงวัย 

 

รวมถึงการสอนด้วยการเป็นแบบอย่างของพ่อแม่เอง ทั้งแบบอย่างของการมีค่านิยมที่ถูกต้องและพฤติกรรมที่แสดงออกมาอย่างสอดคล้องกัน เพื่อสร้างลูกให้เป็นผู้ใหญ่ที่ดีด้วยอุปนิสัยแห่งความสัตย์จริงซึ่งเป็นรากฐานแห่งคุณธรรม สรุปสุดท้ายว่าทางแก้ต้องเริ่มต้นที่พ่อแม่