2010
"ลูกพูดแทรก" ฉันต้องรีแอกยังไง ?

"ลูกพูดแทรก" ฉันต้องรีแอกยังไง ?

โพสต์เมื่อวันที่ : November 23, 2023

 

...“ทำไมลูกถึงชอบพูดแทรกครับ ?”...

...“เวลาพ่อแม่คุยกับเพื่อน หรือคนในบ้านคนอื่น ลูกจะชอบพูดแทรกขึ้นมาตลอด ต้องทำอย่างไรดีคะ ?”...

 

นี่เป็นคำถามที่เป็นปัญหาที่พบไม่น้อยสำหรับหลายครอบครัวที่มีเด็กช่วงปฐมวัยหรือแม้กระทั่งวัยประถมฯ ต้นชอบพูดแทรกขึ้นมากลางบทสนทนาของพ่อแม่

 

อาจเป็นการให้ความคิดเห็นของตัวเองในบทสนทนาของพ่อแม่ที่กำลังพูดอยู่อย่าง “เพราะรถไฟมันชนกันครับ มันเลยระเบิดตู้ม ! รถก็เลยติดยาวเลย” ขณะที่เรากำลังบ่นเรื่องรถติดกับเพื่อนที่มาหาที่บ้าน หรือแทรกขึ้นมาแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ยเพื่อดึงความสนใจของพ่อแม่ไปหาเขาอย่าง “แม่ดูนี่สิ” “แม่มาเล่นขายของกัน” หรือนึกอยากจะถามอะไรก็ถามขึ้นมาโพล่ง ๆ ไม่สนใจว่าใครกำลังคุยกันอยู่

 

สำหรับพ่อแม่แล้วนี่คือปัญหาเรื่องของ ‘มารยาท’ ที่เด็กไม่ควรแทรกขึ้นมาตอนผู้ใหญ่คุยกัน แต่สำหรับเด็ก นี่คือ เรื่องของพัฒนาการตามวัยที่ปกติที่พบได้ และปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมได้ครับ

 

 

ทำไมเด็กจึงชอบพูดแทรก ?

ตอบคำถามด้วยคำง่าย ๆ ก็คือ “เขาเบื่อ”

 

โดยเฉพาะเด็กเล็กที่กำลังพัฒนาตัวตน ความเป็นตัวของตัวเอง โดยที่ยังควบคุมตนเองได้ไม่ดีและมีสมาธิจดจ่อไม่มาก ดังนั้นการจะให้เด็กนั่งฟังบทสนทนาที่ตนเองไม่มีส่วนร่วมด้วยจึงเป็นเรื่องที่แสนน่าเบื่อสำหรับเขา สามนาทีที่ผู้ใหญ่คุยกันอาจให้ความรู้สึกเหมือนครึ่งชัวโมงสำหรับลูกเลยครับ นั่นเป็นเหตุให้เขาต้อง ‘พูดแทรก’ เพื่อดึงความสนใจกลับมาที่ตนเองและทำให้ตัวเองมีส่วนร่วมในนั้นนั่นเอง

 

การพูดแทรก ส่วนหนึ่งเกิดจาก ‘ความไม่รู้’ ว่าเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมนักในเรื่องของมารยาท และอีกส่วนหนึ่งเกิดจากพัฒนาการตามวัยที่ยังควบคุมความยับยั้งชั่งใจของตนเองไม่ได้ ดังนั้นสิ่งที่ผู้ปกครองต้องสอนให้ลูกเรียนรู้ก็คือ...

 

▶︎ มารยาทของการสนทนา การพูดแทรกหรือถามคำถามขึ้นมากลางบทสนทนาที่คนอื่นกำลังพูดอยู่เป็นเรื่องที่เสียมารยาท เราควรฟังคนอื่นให้จบก่อนแล้วจึงพูดหรือถาม

 

 

▶︎ การอดทนรอคอย เป็นเรื่องพื้นฐานในการสร้างสมองส่วนหน้าที่เราเรียกว่า Executive Function หรือ EF โดยการอดทนรอคอยที่จะ ‘รับฟัง’ ผู้อื่นพูด และ ‘พูด’ เพื่อถามหรือแสดงความคิดเห็นในบทสนทนาอย่างเหมาะสมนั้นไม่ต่างอะไรกับการสอนลูกให้เข้าแถวเวลาซื้อของ หรือรอขึ้นรถสาธารณะครับ นี่เป็นเรื่องที่สอนและฝึกฝนกันได้ 

 

 

สิ่งที่ผู้ปกครองสามารถทำได้ เพื่อสอนให้ลูกลดการพูดแทรกผู้อื่น

❤︎ เป็นตัวอย่างที่ดี โดยเฉพาะเวลาคุยกับลูก พ่อแม่ไม่ควรพูดแทรกลูกเวลาลูกพูด *** เป็นผู้ฟังที่ดี ในทางปฏิบัติ หากต้องการแทรกการพูดของลูก (ที่ดูจะเนิ่นนานและยืดเยื้อ) เช่น ต้องการให้ลูกเอารองเท้าขึ้นชั้นวางก่อน หรือให้นั่งดี ๆ ก่อนจะคุยกัน ฯลฯ ก็ต้องทำด้วยความอ่อนโยนไม่ดุ ไม่ว่ากล่าว เช่น “เดี๋ยวพ่อขัดตรงนี้นิดนึงนะครับ เรานั่งลงดี ๆ ก่อนแล้วค่อยพูดต่อดีกว่าครับ” เป็นต้น หรือเมื่อต้องไปทำอย่างอื่นที่เป็นกิจวัตรที่ควรจะเป็นอย่างอาบน้ำ แปรงฟัน หรือเข้านอน เราสามารถบอกเขาตามตรงได้ว่า “ตอนนี้เวลาจะหมดแล้วลูก เราต้องเข้านอนแล้ว เดี๋ยวพรุ่งนี้ค่อยเล่าต่อนะครับ” เป็นต้น

 

 

❤︎ สร้างมาตรฐานของบทสนทนา ‘การฟัง’ ถือเป็นการให้เกียรติผู้พูด เราควรสร้างมาตรฐานในการสนทนาระหว่างกันที่ต้องฟังกันก่อนแล้วจึงพูด ดังนั้นเมื่อลูกพูดแทรกขณะที่เรากำลังพูดก็บอกลูกแบบกระชับและตรงไปตรงมา เช่น “ฟังแม่พูดให้จบก่อนนะคะ” “พ่อกำลังพูดอยู่ครับ ฟังก่อนนะ ลูก” หรือ “พ่อขอคุยกับน้าเขาก่อนนะครับ เดี๋ยวพ่อไปเล่นด้วย รอหน่อยนะครับ” เป็นต้น ซึ่งเราอาจจะต้องชัดเจนว่า พ่อแม่จะหันไปคุยด้วยแต่ต้องรออีกนิดเท่านั้นเอง

 

 

❤︎ ลดการตอบสนองต่อการพูดแทรกของลูกลง ไม่ว่าจะเป็นเชิงลบอย่างการดุ การว่า การสั่งสอน หรือเชิงบวกอย่างการหยุดบทสนทนานเพื่อหันไปสนใจกับสิ่งที่ลูกพูดหรือถามทันที กรณีแบบนี้เด็กอาจยิ่งพูดแทรกมากขึ้น เพราะเราให้ความสนใจกับพฤติกรรมการพูดแทรกอย่างชัดเจน อย่างที่กล่าวไปว่า เราควรชัดเจนว่า “ให้อดทนรออีกนิด” ก่อนพ่อแม่จะหันไปคุยกับเขาเนื่องจากยังพูดคุยอยู่นั่นเอง หรือในบางครั้งเราอาจต้องเพิกเฉยกับการพูดแทรกของลูกบ้างก็ได้ตามความเหมาะสม

 

แล้วอย่าลืมชมลูกด้วยนะครับ หากเขาเป็นผู้ฟังที่ดี สามารถอดทนรอคอยที่จะพูดหรือถามอย่างเหมาะสมได้ แล้วการพูดแทรกจะค่อย ๆ ลดลงตามวัยและความสามารถของสมองในการยับยั้งชั่งใจตามกาละเทศะและมารยาทที่เหมาะสม

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง