ข่าวประชาสัมพันธ์ : คิดคลับส์ ชวนเที่ยว Astro Night Family Camp
ชวนคู่พ่อลูก อายุ 6 - 12 ปี มาร่วมสร้างช่วงเวลาแห่งความประทับใจกับกิจกรรม Astro Night Family Camp
ถ้าพ่อแม่เตือนลูกว่าอย่าเอามือเข้าปากวันละหลายหน ลูกต้องมีปฏิกิริยาต่อต้านแน่ แต่จะไม่ให้เตือนก็คงไม่ได้ วันนี้หมอขอแนะนำวิธีปรับพฤติกรรมลูกแบบไม่ต้องเสียน้ำตามาฝากค่ะ เดิมที่เราเรียกว่า 'ระบบสะสมดาว' แต่เพื่อความสนุกมากขึ้น เราจะเปลี่ยนจากสะสมดาวมาสะสมสติกเกอร์กัน และให้ลูกเป็นคนเลือกลายสติกเกอร์ที่ชอบเอง สร้างแรงจูงใจได้ดีเลย
'ระบบสะสมดาว' ผู้เชี่ยวชาญใช้เป็นตัวช่วยในการปรับพฤติกรรมที่แก้ไขยากของลูก ร่วมกับลูกมีอารมณ์ต่อต้านพ่อแม่มาก ซึ่งแต่ละบ้านก็มีปัญหาแตกต่างกัน เช่น บางบ้านลูกกัดเล็บจนกุด ใช้ทุกวิธีแล้วไม่ได้ผล หรือบางบ้านลูกไม่ยอมอาบน้ำ ไม่ยอมแปรงฟัน ถูกตีบ่อย จนกลายเป็นเด็กดื้อไม้เรียว ฯ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่อ่านแล้วสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบ้านเราได้เลยนะคะ วันนี้หมอขอเลือกปรับพฤติกรรมเอามือหรือของเข้าปาก เพราะนาทีนี้ลูกฉันต้องไม่เอาอะไรเข้าปาก
วิธีปรับพฤติกรรมลูก
❤︎ 1. นำพฤติกรรมที่เลือกมากำหนดเป็นเป้าหมายให้ชัดเจน ❤︎
...“ถ้าลูกไม่เอามือเข้าปากเลยทั้งวัน จะได้สติกเกอร์ 1 ชิ้นเอาไปแปะสะสมนะจ๊ะ”...
น้ำเสียงของพ่อแม่ต้องสนุก ตื่นเต้น ไม่ใช่เสียงขู่หรือต่อรอง ความรู้สึกสนุกจะทำให้ลูกอยากร่วมเล่น เด็กเล็กวัยอนุบาลพ่อแม่แทบไม่ต้องเอาสติกเกอร์ที่สะสมมาแลกเป็นของเล่นเลย
พ่อแม่จะต้องกำหนดเป้าหมายให้สอดคล้องกับความสามารถของลูก เพื่อให้ลูกมีโอกาสได้จริง ๆ เช่น ถ้าลูกเอามือเข้าปากทุก 20 นาที เราจะต้องเปลี่ยนจากไม่เอามือเข้าปากทั้งวันเลย มาเป็นแค่ครึ่งวันก็ได้ 1 สติกเกอร์แล้ว เพราะเราอยากให้เด็กทำได้ จะได้มีความหวังต่อตนเอง มองตนเองในมุมบวกเป็น ถ้าพ่อแม่กำหนดเป้าหมายทั้งวันกับเด็กที่เอาของเข้าปากทุก 20 นาที เมื่อเด็กทำไม่ได้ ความรู้สึกหมดหวังจะทำให้เด็กเลิกสนใจระบบสะสมสติกเกอร์ทันที
ขอให้คุณพ่อคุณแม่ใจเย็น ๆ เราสามารถเพิ่มความยากในการสะสมสติกเกอร์ครั้งต่อไปค่ะ ถ้าเด็กทำได้ในครึ่งวัน เขาจะเริ่มมั่นใจตนเอง รู้สึกว่าตนเองก็ทำได้นะ จนเมื่ออยู่ตัวแล้ว ค่อยขยับเวลาจากครึ่งวันเป็นทั้งวันถึงได้สติกเกอร์ค่ะ โดยบอกลูกว่า ...“แม่ภูมิใจที่ลูกทำได้ดีเยี่ยมมาพักใหญ่ เรามาทำให้ยากขึ้นอีกนะ ลูกแม่จะได้เก่งขึ้น แล้วแม่จะช่วยเหมือนเดิม”... อย่าลืมว่า ถ้าเด็กทำสำเร็จ เขาย่อมมั่นใจในตนเอง และอยากที่จะเก่งมากขึ้น ๆ อีก
❤︎ 2. พ่อแม่มีท่าทีช่วยลูก ไม่ใช่ดุลูก ❤︎
ในวิธีการนี้ เราต้องการให้เด็กมองเห็นความปรารถนาดีของพ่อแม่ ซึ่งจะช่วยลดพฤติกรรมต่อต้าน และยังปรับความสัมพันธ์ให้ดีขึ้นด้วย พ่อแม่จึงควรบอกลูกว่าเราจะช่วยเตือนเขายังไง โดยไม่ให้ลูกเสียหน้า หรือหงุดหงิด เช่น ...“แม่อยากให้ลูกได้สติกเกอร์ แม่จะช่วยลูกนะ หากลูกเผลอ แม่จะเตือนแบบไม่ดุ ถ้าลูกเอามือเข้าปาก พ่อแม่จะแตะที่มือลูกและส่งยิ้มให้ ป็นสัญญาณที่รู้กันสองคนนะ แล้วลูกก็ค่อยเอามือลงเอง”... อย่าลืมส่งยิ้มหวาน
ลองนึกภาพว่า ถ้าลูกไม่ต่อต้าน ลูกก็จะเอามือลงเมื่อเราแตะมือเขาเองแหละค่ะ ลูกก็จะมีโอกาสได้สติกเกอร์สูงมากกกกก เมื่อลูกภูมิใจและมั่นใจขึ้น ก็จะทำดีขึ้นเรื่อย ๆ
❤︎ 3. พ่อแม่ต้องชื่นชมลูกแบบบรรยายพฤติกรรม ❤︎
☺︎ กรณีลูกไม่เอาเข้าปากเลย
...“แม่ภูมิใจลูกนะ ตลอดทั้งวันลูกไม่เอามือเข้าปากเลย”... ในเคสที่เป็นโจทย์ทั้งวัน หรือ เคสที่เป็นโจทย์ครึ่งวัน
☺︎ กรณีลูกเผลอเอาเข้าปาก แต่เอามือลงได้เมื่อแม่แตะมือ
...“ลูกเก่งมากนะ ที่เอามือลงทุกครั้งที่แม่แตะมือ”...
...“แม่ชื่นชมลูกนะ แม่รู้ว่ายากแต่ลูกก็พยายามบังคับใจตัวเองได้ทุกครั้ง”...
คำชื่นชมที่บรรยายให้เด็กเห็นตนเอง และมาจากใจจริงของพ่อแม่ จะก่อตัวเป็น “แรงจูงใจภายใน” ผลักดันให้ลูกติดนิสัยดี ๆ นี้ตลอดไปค่ะ ดังนั้นต้องอย่าลืมชื่นชมลูกตามจริงและจริงใจนะคะ
❤︎ 4. ถ้าลูกทำไม่สำเร็จ พ่อแม่ต้องให้กำลังใจ อย่าซ้ำเติม ❤︎
...“มันยากเนอะที่จะไม่เอามือเข้าปาก ไม่เป็นไรจ้ะ เรามาเริ่มใหม่ พรุ่งนี้ แม่จะเตือนให้ทันนะลูก”...
ระลึกไว้ว่าคำซ้ำเติมอย่างคำว่า "เห็นมั้ย !" "บอกแล้ว!" "ไม่เชื่อแม่เอง !" ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรเลย แถมยังทำให้คนฟังจิตใจห่อเหี่ยวมากขึ้นอีก เด็กที่ตัวเองมีปัญหา เขาก็รู้สึกหมดหวังตัวเองอยู่แล้ว ถ้าพ่อแม่ซ้ำเติมก็จะยิ่งแย่และรู้สึกต่อต้าน จะเลิกสนใจร่วมมือกับพ่อแม่เลยค่ะ
จริง ๆ แล้ว ถ้าพ่อแม่ทำได้ถูกต้องตามที่หมอเขียน ลูกมักจะทำได้นะคะ ดังนั้นถ้าลูกทำไม่สำเร็จ ลองสำรวจตนเองก่อนว่า เราทำเรื่องนี้ให้สนุกหรือเปล่า หน้าตาดุดันมากไปมั้ย โจทย์ยากเกินความสามารถลูกหรือ ? ดุหรือขู่ลูกใช่มั้ย สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นตัวขัดขวางความสำเร็จเลยค่ะ
แม้ลูกจะมีพฤติกรรมที่แก้ไขยาก แต่หากพ่อแม่ไม่ถอดใจ และเปลี่ยนมาใช้วิธีเชิงบวกแทน มีการเตือนลูก, ชื่นชมลูก, ให้กำลังใจลูก แถมสนุกเหมือนได้เล่นกับพ่อแม่อีกต่างหาก เด็ก ๆ ก็ย่อมเปลี่ยนแปลงจนดีขึ้นได้แน่นอนค่ะ