พ่อแม่ต้องอ่าน ! ปฐมวัย 5 ปีแรกคือปีทองของชีวิต
ร่างกายของมนุษย์เจริญเติบโตตั้งแต่ครรภ์มารดาจนกระทั่งเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์
‘ความแตกต่าง’ ในสังคม คือ สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ความแตกต่างไม่ได้หมายถึงแค่เพียงรูปลักษณ์ภายนอก ภาษาที่ใช้สื่อสารเท่านั้น แต่หมายรวมถึง ‘ความเชื่อ’ ‘ทัศนคติ’ ‘การให้คุณค่า’ ‘วิถีชีวิต’ และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งเป็นผลมาจาก ‘พันธุกรรม’ และ ‘สภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดู’
ในเมื่อ ‘พันธุกรรม’ คือปัจจัยทางชีวภาพที่เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่ ‘การเลี้ยงดู’ คือปัจจัยทางสภาพแวดล้อมที่เราสามารถเปลี่ยนแปลงได้ บางคนบอกว่า ...“ไม่จริงเสียหน่อย เพราะตอนที่เขาเป็นเด็กเขาเปลี่ยนพ่อแม่ของเขาไม่ได้”... นั่นก็อาจจะเป็นเรื่องเศร้าของใครหลาย ๆ คน
แต่วันนี้ที่เราเป็นผู้ใหญ่ เมื่อเรารู้ตัวแล้วว่า เราย้อนเวลากลับไปแก้ที่พ่อแม่ของตนเองไม่ได้ เราควรยอมรับ และเดินหน้าต่อไป ที่สำคัญสำหรับใครบางคน ที่วันนี้ได้มีโอกาสเป็นพ่อแม่ของเด็กคนหนึ่ง เราจะเปลี่ยนแปลงตัวเราเพื่อเขาไหม ?
1. พ่อแม่ที่ให้ความรักและการยอมรับลูกอย่างปราศจากเงื่อนไข
ความรักไม่ใช่การตามใจ แต่คือการมีเวลาคุณภาพให้กับลูก อ่านหนังสือนิทาน กล่อมเขานอน เล่นกับเขา กอดเขา สอนเขาทำงานบ้าน และอื่น ๆ การยอมรับในสิ่งที่ลูกเป็น ไม่ว่าลูกจะเป็นอะไร ถ้าหากเขาเป็นตัวเขา ที่ไม่ได้ทำให้ใครหรือตัวเขาเองเดือดร้อน พ่อแม่ควรให้การสนับสนุน และเคียงข้างเขา
2. พ่อแม่ที่สอนให้ลูกช่วยเหลือตัวเองและเปิดโอกาสให้เขาทำอะไรได้ด้วยตนเอง
เมื่อร่างกายของเด็กๆ เติบโตพอที่จะช่วยเหลือตัวเอง เราเปิดโอกาสให้เขาทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง โดยไม่คาดหวังผลลัพธ์ที่ดีเลิศ แต่คาดหวังการเรียนรู้กระบวนการทำสิ่งต่าง ๆ ตามขั้นตอน และฝึกฝนจนกลายเป็นความเชี่ยวชาญ
3. พ่อแม่ที่สอนให้ลูกเคารพกฎ 3 ข้อ
“ไม่ทำร้ายตัวเอง” “ไม่ทำร้ายผู้อื่น” “ไม่ทำลายข้าวของ” กฎสามข้อนี้เป็นกฎพื้นฐานที่ทำให้เด็กเรียนรู้การเคารพตนเองและผู้อื่น
4. พ่อแม่ที่สอนให้ลูกรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเองเมื่อเขาทำผิด
เวลาลูกทำผิดเราไม่ควรทำให้เขากลัวด้วยการลงโทษที่รุนแรงหรือตวาดเขาด้วยอารมณ์ แต่ควรพาเขากลับมารับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น สอนเขา จับมือเขาทำ และสอนเขาให้ขอโทษต่อสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อให้เขาเรียนรู้วิธีการรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ใช่หนีปัญหาเพราะความกลัวที่เราสร้างให้เขาเวลาเขาทำผิด
5. พ่อแม่ที่ปกป้องสิทธิของลูก และสอนให้ลูกเคารพสิทธิของผู้อื่น
เมื่อมีคนมาละเมิดสิทธิของลูกเราในวันที่เขายังปกป้องตัวเองไม่ได้ พ่อแม่ควรทำหน้าที่ปกป้องสิทธินั้นให้ลูกของเรา เช่น เมื่อลูกไม่ชอบให้ใครมาสัมผัสตัวเขา กอด หอม พ่อแม่ควรบอกปฏิเสธให้ลูก ไม่ใช่เกรงใจ และยอมให้ผู้อื่นกระทำสิ่งที่ลูกไม่ชอบต่อไป ร่างกายเป็นของลูก เราควรสอนให้เขาปกป้องร่างกายของเขา และพ่อแม่ก็ควรสอนเขาให้ไม่ไปละเมิดสิทธิของผู้อื่นเช่นกัน เช่น การไปแย่งของคนอื่นมา หรือ ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน
สุดท้าย แม้ว่าจะมีอีกหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อคน ๆ หนึ่ง แต่ ‘การเลี้ยงดู’ เป็นหนึ่งในปัจจัยที่มีอิทธิผลอย่างมากต่อการเติบโตของเด็กสู่การเป็นผู้ใหญ่ ในสังคมที่เต็มไปด้วยความแตกต่าง หากเราสามารถเลี้ยงเด็กคนหนึ่งให้เติบโตขึ้นมาเป็นผู้ยอมรับความแตกต่างอย่างเข้าใจ ไม่ดูถูกผู้อื่นว่าด้อยกว่าตน
ในขณะเดียวกันก็พร้อมที่จะยืนหยัดเพื่อคุณค่าที่ตนเองเชื่อโดยไม่ทำให้ใครเดือดร้อน ในวันที่ลูกมีความคิดเห็นที่แตกต่างไปจากเรา เราควรเลือกที่จะรับฟังเขาก่อน อย่าเพิ่งตั้งกำแพงกับเขา
เพราะหากปราศจากซึ่งการยอมรับแล้ว เราจะพยายามหาข้อผิดพลาดในตัวของอีกฝ่าย จนไม่สามารถเปิดใจยอมรับได้ ในทางกลับกันหากเราพยายาม ‘ยอมรับ’ ก่อน แม้สิ่งนั้นไม่ได้ถูก (ใจ) ไปเสียทั้งหมด แต่นั่นจะนำไปสู่ความเข้าใจได้ เพราะเราจะตั้งใจฟังเขาได้ และยอมรับเขาอย่างแท้จริง
ดังนั้นพ่อแม่ที่ให้การยอมรับลูกอย่างที่เขาเป็นและให้การสนับสนุนเคียงข้างเขาในสิ่งที่เขาทำ โดยมีเงื่อนไขเดียว คือ สิ่งที่ลูกเป็นและสิ่งที่ลูกทำนั้นต้องไม่ได้ทำให้ตัวเขาหรือใครเดือดร้อน เด็กจะมีแนวโน้มเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สามารถยอมรับตัวเขาเอง และยอมรับในความแตกต่างของผู้อื่นได้เป็นอย่างดี