1135
7 ทักษะลูกควรมีก่อนวัยประถม

7 ทักษะลูกควรมีก่อนวัยประถม

โพสต์เมื่อวันที่ : October 18, 2023

 

การเตรียมความพร้อมลูกสู่วัยประถมและสิ่งที่ควรพัฒนาฝึกต่อเนื่องตลอดช่วงวัยประถม 

 

1. การดูแลตัวเองขั้นพื้นฐาน 

  • กินข้าวเอง ใช้ช้อนส้อมเป็น
  • เข้าห้องน้ำ ล้างก้น ล้างมือ 
  • ทำความสะอาดร่างกายตัวเอง อาบน้ำ สระผม
  • แต่งตัว ใส่เสื้อผ้า ใส่ถุงเท้า รองเท้า และมัดผมด้วยตัวเอง
  • เช็ดเหงื่อ เช็ดขี้มูก ด้วยผ้าเช็ดหน้าหรือกระดาษทิชชู

 

เด็กที่มีปัญหาการเข้าห้องน้ำด้วยตัวเอง เช่น ยังล้างก้นเองไม่เป็น ไม่กล้าเข้าห้องน้ำด้วยตัวเอง มักจะตามมาด้วยปัญหาการกลั้นอึ กลั้นฉี่ งผลให้ไม่มีสมาธิเวลาเรียน มีความกังวลสูง 

และสุดท้ายเขาจะไม่มีความมั่นใจในตัวเอง

 

 

...“ฝึกฝนที่บ้านจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้เด็ก ๆ มั่นใจที่จะไปทำเองที่โรงเรียน"...

 

 

2. การทำตามตารางเวลา

  • ตื่นนอน - เข้านอน
  • กินข้าว - ล้างจาน
  • ทำการบ้านให้เสร็จก่อนไปเล่น
  • จัดตารางสอนก่อนนอน
  • เตรียมเสื้อผ้าสำหรับวันพรุ่งนี้

 

เด็ก ๆ ที่เรียนรู้ตารางเวลาที่บ้าน จะสามารถปรับตัวกับตารางสอนของโรงเรียนได้ง่ายขึ้น ที่สำคัญเด็ก ๆ จะเรียนรู้สองสิ่งสำคัญจากการทำตามตารางเวลา 1. การเรียงลำดับความสำคัญ-ทำตามขั้นตอน 2. การอดทนทำสิ่งจำเป็นก่อนสิ่งที่อยากทำ

 

 

3. ฝึกทำกิจกรรมบนโต๊ะ 

  • ออกกำลังกายเพื่อให้กล้ามเนื้อมัดใหญ่แข็งแรงเพื่อจะได้นั่งโต๊ะได้นานขึ้น เน้นแกนกลางลำตัว แขน ขา เช่น วิ่ง ว่ายน้ำ กระโดด ปั่นจักรยาน 
  • ออกกำลังกายกล้ามเนื้อมัดเล็กเพื่อให้นิ้วมือแข็งแรงพอจะจับอุปกรณ์ในการเรียน (ดินสอ กรรไกร) เพื่อให้เด็กๆ เขียน-ระบายสีได้นานขึ้น เช่น คีบ หนีบ ระบายสี ปั้น ร้อย ปัก กด
  • ทำกิจกรรมที่ใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก - สายตาบนโต๊ะเพื่อจะได้มีสมาธินานขึ้น เช่น วาดรูป ระบายสี ปั้นดินน้ำมัน ร้อยลูกปัด อ่านหนังสือ เริ่มต้นที่ 5 นาทีต่อเนื่องไปจนถึง 10 นาที และพัฒนาไปที่ 15-20 นาที สุดท้ายคือ 30-45 นาที (หนึ่งคาบเรียน)

 

 

4. เล่นและทำตามกติกา

ฝึกลูกเล่นตามกติกา เล่นบอร์ดเกมตามกติกา ถ้าเล่นผิดกติกา ให้กล่าวเตือนก่อน ถ้าตั้งใจทำผิดกติกาอีกครั้งหยุดเล่นก่อน วันนี้ไม่พร้อมเล่นแล้ว เมื่อลูก 'พ่ายแพ้' ให้เขาเรียนรู้ว่า “ไม่เป็นไร เสียใจได้ แต่ให้ลองใหม่ครั้งหน้า” ถ้าแพ้แล้วพาลหรือล้มกระดาน ให้พาเขาออกมานั้่งสงบสติก่อน เมื่อดีแล้วให้สอนว่า “การแพ้เป็นเรื่องปกติ สิ่งสำคัญกว่าเราได้เล่นสนุกด้วยกัน แพ้ได้ ชนะได้ แต่วันนี้เราทำผิดแล้ว เราจะเล่นใหม่ครั้งหน้า” แล้วให้เขาไปขอโทษอีกฝ่ายด้วย

 

เมือลูกเล่นชนะ ให้เขาเรียนรู้ว่า “ยินดีกับตัวเอง แล้วอย่าลืมให้กำลังใจอีกฝ่ายด้วย” ถ้าชนะแล้วโอ้อวด ข่มอีกฝ่าย ให้พาเขาออกมาสอนว่า “ทุกคนอยากชนะ และการที่เขาชนะ เขาควรให้กำลังใจอีกฝ่ายไม่ใช่พูดโอ้อวด ทำร้ายจิตใจคนอื่น” แล้วให้เขาไปขอโทษอีกฝ่ายด้วย กว่าเด็ก ๆ จะเข้าใจแพ้ชนะ และทำตามกติกา ต้องอาศัยเวลา และการฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ

 

 

5. การ "พูดสื่อสาร" และการ "ฟัง"

พูดทักทาย “สวัสดี” เมื่อเจอเพื่อนหรือคนใหม่ ๆ พูด “ขอบคุณ” เมื่อมีคนทำอะไรให้ พูด “ขอโทษ” เมื่อทำผิดต่อใคร พูด “ขอดี ๆ” เมื่อต้องการบางสิ่งจากใคร พูดถามหรือประนีประนอม โดยไม่ใช้คำสั่งกับคนอื่น

 

▶︎ พูด

  • กล้าถามเมื่อสงสัย
  • กล้าขอความช่วยเหลือเมื่อจำเป็น
  • กล้ายืนหยัดเมื่อมีใครจะมาเอาเปรียบ
  • กล้าพูดเสียงดังในสิ่งที่ถูกต้องและเหมาะสม

▶︎ ฟัง

  • ตั้งใจฟังเมื่อคนอื่นพูด
  • ฟังให้จบก่อนถาม และไม่พูดแทรก
  • ฟังให้เข้าใจ จดจำ แล้วทำตามได้

 

 

6. รับผิดชอบตัวเองและสิ่งรอบตัว

  • ดูแลตัวเอง ร่างกายสะอาด สุขภาพแข็งแรง
  • ทำการบ้านเสร็จ จัดกระเป๋าไปโรงเรียน
  • ทำงานบ้านที่ได้รับมอบหมายเสร็จ ก่อนไปเล่น
  • รักษาของ ๆ ตัวเอง ของไม่หาย 
  • ใช้พื้นที่ใดเสร็จ เก็บเรียบร้อย ทำความสะอาดก่อนลุกไป เช่น กินข้าวเสร็จแล้ว เก็บเศษอาหาร และเช็ดโต๊ะที่เลอะ หรือใช้โต๊ะทำงานแล้ว เก็บเศษกระดาษไปทิ้ง เช็ดสี หรือ คราบกาวที่เลอะ

 

 

7. ทำงานร่วมกับผู้อื่น

เริ่มจากช่วยงานที่บ้านง่าย ๆ เช่น ตากผ้า ล้างจาน ให้อาหารสัตว์เลี้ยง พัฒนาไปสู่การทำงานกับเพื่อน ๆ ที่โรงเรียน เช่น งานกลุ่ม เล่นกีฬาทีม และเวรทำความสะอาดห้องเรียน เด็ก ๆ ต้องเรียนรู้การแบ่งหน้าที่ และทำตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย พวกเขาต้องประนีประนอม และช่วยเหลือกันเพื่อให้ภารกิจสำเร็จ หรือ ชนะไปด้วยกัน

 

 

เด็กประถมที่มีความมั่นใจในตัวเองจะเป็นที่ยอมรับของเพื่อน มีเพื่อนสนิทหรือมีแก็งค์ของตัวเอง เขาไม่จำเป็นต้องเก่งทุกด้านหรือเก่งที่สุด แต่เขาจำเป็นต้องมองเห็นสิ่งที่ตัวเองทำได้ดีและคุณค่าในตัวเขา ซึ่งมักจะเกิดจากการลงมือทำอย่างสม่ำเสมอ จนสามารถยืนยันความสามารถนั้นด้วยตัวเขาเองได้ นอกจากนี้สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยคือเด็ก ๆ ต้องมองเห็นผู้อื่นด้วย 

 

"พ่อแม่" คือสังคมแรกในชีวิตของเด็ก หากเรามอบความไว้วางใจให้เด็ก ๆ ทำสิ่งต่าง ๆ พ่อแม่ให้การสอนและให้โอกาส เด็กจะเรียนรู้ความสามารถของตัวเอง ในวันที่ลูกท้อและทำไม่ได้ ขอให้เราเป็นที่พึ่งทางใจของเขา ให้กำลังใจ และให้การเคียงข้าง จนเขาสามารถทำสิ่งนั้นได้ในที่สุด

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง