วิธีเลือกโรงเรียนอนุบาลสำหรับลูก
เช็คลิสต์ที่บ้านเรายึดเป็นหลักในการเลือกโรงเรียนของลูก
เพราะคุณพ่อคุณแม่หลายคนที่พอมีทุนทรัพย์ก็คงอยากจะเลือกโรงเรียนที่ดีที่สุดในความคิดของเราให้กับลูกกัน เพราะโรงเรียนคือ ‘บ้าน’ หลังที่สองของลูก บ้านที่จะใช้ชีวิตเกือบ 1 ใน 3 ของวันในนั้น บ้านที่ลูกจะได้เติบโต เรียนรู้การเข้าสังคม เรียนรู้วิชาการ เรียนรู้วิธีคิด การใช้ชีวิตและทดลองจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงก่อนที่จะเติบโตไปแก้ไขปัญหาจริง ๆ ในชีวิตจริง
สำหรับคนสมัยก่อนไม่เห็นต้องเลือกอะไรกันมาก สำหรับส่วนตัวผู้เขียนก็เรียนใกล้บ้านมาตลอด ซ้ำชั้นตอนอนุบาล 2 ก็ผ่านมาแล้ว แล้วก็เรียนในระบบเร่งเรียนปกติของไทยมาตลอด แต่วันนี้ไม่เหมือนวันวาน และเรารู้แล้วว่าเด็กแต่ละคนนั้นมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง ในปัจจุบันมันมีตัวเลือกให้เลือกเยอะขึ้นจริง ๆ โดยมีข้อแม้หนึ่งข้อคือ ‘เงิน’ เพราะหากเงินไม่เยอะ ตัวเลือกก็จะถูกจำกัดลงไปในระดับหนึ่ง นี่คือความจริงสำหรับเราครับ แต่เชื่อเถอะครับว่า โรงเรียนนั้นไม่ใช่ทั้งหมดในชีวิตลูก
หากแต่เป็น "พื้นฐานของพัฒนาการ" ซึ่งถูกหล่อหลอมมาจาก "การเลี้ยงดู" ตั้งแต่เกิด จาก "การเล่น" ในช่วงปฐมวัยจาก "การสร้าง EF" ในช่วง 10 ปีแรกของชีวิต และทั้งหมดนี้สร้างได้จากที่บ้าน ไม่ใช่ที่โรงเรียน ดังนั้น หน้าที่ของโรงเรียนจึงเป็นส่วนต่อขยายที่จะเสริมพัฒนาการของลูกต่อจากที่บ้าน เพื่อเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการ สร้างการเข้าสังคม สร้างกลุ่มเพื่อน สร้างการทำงานร่วมกับผู้อื่น ทะเลาะกันบ้าง รักกันบ้าง สร้างงานร่วมกัน สร้างเพื่อน เรียนรู้การแข่งขัน การสอบ และการไปสู่เป้าหมายที่มากกว่าที่บ้านจะมอบให้ได้
เรียนที่ไหน โรงเรียนใด คงขึ้นกับ “ความพอดี” ของแต่ละครอบครัวที่ไม่เหมือนกัน ขอให้แนวทางในการเลือกโรงเรียนของลูกไว้ดังนี้
❤︎ 1. เลือกโรงเรียนในระบบที่พ่อแม่ศรัทธา และมั่นคง ❤︎
ไม่ทำตามคนอื่นเพราะเขาทำแล้วดี บางคนเรียนโรงเรียนทางเลือกเพราะคนอื่นว่าดีแต่ตัวของพ่อแม่เองไม่ได้ศรัทธา สุดท้ายต้องย้ายโรงเรียนเพราะจบอนุบาล ลูกยังอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ พ่อแม่ก็นอนไม่หลับ เครียดที่ลูกอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ เพราะแนวทางของของโรงเรียนทางเลือกนั้นเน้นการเรียนรู้ผ่านการเล่นเป็นหลักและเริ่มจับดินสอเพื่อขีดเขียนตัวหนังสือ-ตัวเลขตอนอายุที่มากขึ้นตามความพร้อมของเด็กนั่นเอง
❤︎ 2. เลือกโรงเรียนที่ ‘ไหว’ ทางการเงินและการเดินทาง ❤︎
บางบ้านเอาเงินทั้งหมดส่งลูกเรียนจนเกิดปัญหาครอบครัว บางบ้านถึงขั้นกู้มาส่งเรียน แบบนี้อันตรายมาก เพราะเงินคือปัจจัยที่สำคัญ เมื่อสุดท้ายพ่อแม่อย่างเรายามแก่เฒ่าก็ต้องใช้เงิน หากส่งลูกเรียนจนเงินหมด ชีวิตสลดทันทียามแก่เฒ่า วางแผนการเงินให้ดี มีส่ง มีใช้ มีเก็บ หรือคิดเสียว่าเก็บเงินบางส่วนไว้ให้ลูกต่อยอดตอน ป. โท หรือ เอก หรือเอาไว้เป็นทุนให้ลูกลงทุนหรือสร้างธุรกิจก็ได้ แต่สุดท้ายคนที่จะพิจารณาคือ ครอบครัวแหละ
เอาที่พอดี ๆ ระยะทางก็สำคัญ บางคนฝ่าเมืองเข้ามาส่งเรียนโรงเรียนดี ๆ (ในความคิดของพ่อแม่) ที่ไกลมากเกินไป ใช้ชีวิตบนรถนานมากเกินไป เสียเวลาที่ลูกจะเอาไปใช้เล่น หรือเรียนรู้อย่างอื่นเกินไป อันนี้ย่อมไม่ดี ส่วนนิยามของคำว่า "ไกล” แค่ไหน ก็คงต้องขึ้นกับความพอดีสำหรับลูกและครอบครัวเช่นกัน
❤︎ 3. เฝ้าติดตามและประเมินลูกอย่างสม่ำเสมอ ❤︎
เพราะเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนชอบเรียนวิชาการ ในขณะที่บางคนทุกข์ทรมานกับการท่องจำและคำนวณ เนื่องจากเขาถนัดอย่างอื่นมากกว่า
ในขณะที่บางคนเรียนโรงเรียนทางเลือกอย่างมีความสุข เรียนได้ดี สอบเข้ามหาวิทยาลัยดี ๆ ได้ ค้นพบตัวเอง ในขณะที่เด็กบางคนรู้สึกว่า "ไม่ใช่" ก็มี เพราะเด็กหลายคนในระบบโรงเรียนทางเลือกก็เห็นต่างและย้ายกลับเข้าระบบการเรียนปกติของไทย
..."เลือกที่พอดี...เลือกที่ศรัทธา...เลือกแล้วติดตามลูก"...
หากไม่เหมาะก็ปรับเปลี่ยนบนพื้นฐานของความพอดีของแต่ละครอบครัวได้ครับ เพราะในวันที่ลูกเริ่มใช้ชีวิต อาชีพและวิถีชีวิตมันคงเปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบันอีกมาก การศึกษานั้นสำคัญ แต่วิธีที่ได้มานั้นสำคัญมากกว่า ทำอย่างไรให้ลูกเป็น ‘นักเรียนรู้ตลอดชีวิต’ (constant learner) และเป็นคนทำงานเป็น นี่น่าจะเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะคนที่จบปริญญาใบเดียวกันมา คนหนึ่งอาจได้ดี อีกคนอาจไม่ได้เรื่อง เป็นเพราะอะไร