เวลาคุณภาพ
ครอบครัว อาจหมายถึง สถานที่และผู้คนที่มาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน
สิ่งสำคัญสำหรับการเลี้ยงลูกคืออะไร ? คุณพ่อคุณแม่หลายคงตอบว่า อาหารที่ดี ครอบครัวที่อบอุ่น โรงเรียนดี ๆ สักแห่งที่มาพร้อมโอกาสทางการศึกษาที่ดีให้กับลูก
จึงไม่แปลกใจที่พ่อแม่มักให้ความสำคัญกับโภชนาการที่ดี จิตวิทยาการเลี้ยงลูกเชิงบวก และการหาโรงเรียนที่เหมาะสมกับลูกของเราอย่างพิถีพิถัน จนหลายคนอาจลืมสิ่งที่สำคัญอีกอย่างที่กำลังถูกลดทอนลงไปจนน่าเป็นห่วงสำหรับวัยเด็กของลูก นั่นก็คือ “การเล่น”
เด็กในปัจจุบันถูกผลักเข้าสู่ระบบการศึกษาอย่างรวดเร็ว หลายครอบครัวส่งลูกไปโรงเรียนตั้งแต่เตรียมอนุบาลมในวัยไม่ถึง 2-3 ขวบ ในวัยอนุบาลของระบบการศึกษาไทยส่วนใหญ่ยังเน้นวิชาการที่เด็กเล็กต้องอ่านออกเขียนได้ รู้จักตัวเลขและการคำนวณ ผ่านการเรียนรู้ในห้องเรียนที่เด็กต้องนั่งอยู่กับโต๊ะเรียนเป็นระยะเวลานาน เลิกเรียนแล้วก็อาจมีการบ้านที่ต้องนั่งขีดเขียน-โยงเส้น-คำนวณอีก
วันหยุดสุดสัปดาห์ของหลายครอบครัวก็ไม่ได้ปล่อยให้ลูกได้พัก ยังมีกิจกรรมนอกเวลาอีกมากให้เลือกลงทะเบียนเรียน ไม่ว่าจะเป็นดนตรี กีฬา ศิลปะ หรือกระทั่งการร้องเพลงเต้นรำ ทำให้เวลาเล่นของเด็ก ณ ปัจจุบันนั้นลดน้อยลงอย่างมากในช่วงปฐมวัย ทั้งที่การเล่นเป็นพื้นฐานของพัฒนาการที่ดีที่สุดสำหรับเด็กในวัยนี้ วันนี้มาทำความเข้าใจกัน
คุณพ่อคุณแม่คงเคยได้ยินว่า “งานของเด็ก คือ การเล่น” เนื่องจากการเล่น เป็นกิจกรรมที่สนุก น่าสนใจ และสร้างความจดจ่อกับเด็กได้มากกว่า ไม่ว่าจะเป็นการต่อบล็อก วิ่งเล่น ปีนป่าย เล่นดินทราย ปั่นจักรยาน วาดรูป ร้องเล่นเต้นรำ รวมถึงการเล่นบทบาทสมมติ เหล่านี้หล่อหลอมทักษะชีวิตอย่างรอบด้านให้กับเด็ก ไม่ว่าจะเป็นทักษะการสื่อสาร ทักษะชีวิต ทักษะการแก้ไขปัญหา และการสร้างสายสัมพันธ์อันดีระหว่างเพื่อน พ่อแม่ และบุคคลอื่นที่เข้ามาร่วมกับการเล่นของเขา และที่สำคัญที่สุดก็คือ การสร้างความสงสัยใคร่รู้และการปลูกฝังการเป็นนักเรียนรู้ที่ดีให้กับลูกตั้งแต่เล็กโดยไม่ต้องบังคับฝืนใจลูกให้ใฝ่เรียน
การเล่นสร้างทักษะการสื่อสารผ่านจินตนาการ
เพราะเด็กเล็กมักเล่นบทบาทสมมติผ่านการเล่น เป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นคนขับรถไฟ เป็นเจ้าหญิง เจ้าชาย อัศวิน การเล่นบทบาทเหล่านี้สร้างบทสนทนา ทบทวนคำศัพท์ การสื่อสาร การแสดงออกของอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครในจินตนาการของเขาเลียนแบบประสบการณ์จริงที่เขาพบในชีวิตประจำวัน เช่น รถชนกันเกิดเสียงดังอย่างไร คนขับเจ็บอย่างไร มีรถพยาบาลวิ่งเข้ามาช่วยคนเจ็บ ส่งโรงพยาบาล ฯลฯ นอกจากนี้เมื่อต้องเล่นร่วมกับคนอื่นก็ทำให้เกิดการสื่อสารสองทางที่ดีต่อการสื่อสารในระยะยาว พ่อแม่สามารถปลูกฝังการเป็นผู้พูดที่ดี การเป็นผู้ฟังที่ดี ผ่านบทสนทนาระหว่างการเล่นกับลูกได้
การเล่นสอนทักษะการแก้ไขปัญหาและทักษะชีวิตจริง
โดยเฉพาะการเล่นปลายเปิดที่ไม่มีงื่อนไข (Unstructured Play) ที่ด้นสดไปตามหน้างาน เนื่องจากความคิดสร้างสรรค์ การปะติดปะต่อเรื่องราวเป็นทักษะของสมองขั้นสูงอย่างหนึ่ง นอกจากนั้นยังสอนเรื่องการควบคุมตัวเอง รวมถึงเป็นการระบายความรู้สึกหรือความคับข้องใจของเด็กได้อีกด้วย เพราะเมื่อเด็กเครียดหรือรู้สึกไม่ปลอดภัย เด็กมักจะไม่ได้พูดระบายความรู้สึกของเขาออกมาตรง ๆ เหมือนผู้ใหญ่ แต่พวกเขาจะ “เล่น” และ “ระบาย” สิ่งที่คับข้องใจและพลังงานที่ไม่ดีของพวกเขาออกมาผ่านการเล่น นอกจากนั้นยังทบทวนความจำนำใช้ (Working Memory) ที่เป็นหนึ่งใน Exective Function (EF) ของสมองอีกด้วย เช่น รถวิ่งมา ไม้กั้นลง คนต้องอดทนรอก่อนนะ เดี๋ยวเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงตรรกะอื่น ๆ ในการใช้ชีวิตอีกด้วย
การเล่นเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการใช้ ‘เวลาคุณภาพ’ ร่วมกัน
เป็นเวลาสร้างสายสัมพันธ์อันดีระหว่างคนในครอบครัว เด็กจะได้ใช้เวลาร่วมกับพ่อแม่มากขึ้น ในขณะเดียวกันพ่อแม่ก็ได้เรียนรู้ตัวตนของลูกมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของบุคลิก การมองโลก การแก้ไขปัญหา อารมณ์และทัศนคติ โดยเฉพาะการเล่นแบบ 1 ต่อ 1 กับลูกแบบไม่มีกฎกติกาและไม่มีสิ่งเบี่ยงเบนความสนใจอย่างน้อย 15 นาทีต่อวันก็ดีมากต่อความสัมพันธ์ระหว่างกันแล้วครับ
การเล่นสร้างนักเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learner)
เพราะการเล่นเป็นบันไดสู่ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาในอนาคต และช่วยทำให้เด็กสามารถปรับตัวในโรงเรียนได้ดีขึ้นอีกด้วย เพราะการเล่นนำไปสู่การตั้งคำถามและค้นพบสิ่งที่อยู่ภายในและภายนอกรอบตัวของเด็กผ่านประสาทสัมผัส จินตนาการ ศิลปะ ภาษาและคณิตศาสตร์อย่างแยบยล น่าทำซ้ำและน่าเรียนรู้ นั่นคือพื้นฐานของการเรียน ก็คือ เรียนรู้ ทำซ้ำและเก่งขึ้นนั่นเอง
เด็กหลายคนนับเลขและบวกลบเลขได้ผ่านการเล่นสมมติทำอาหาร นับแครอต นับไข่ นับจานอาหาร การขายอาหาร จ่ายเงินสมมติ โดยไม่ต้องรู้จักว่าตัวเลข 1, 2, 3 เขียนอย่างไร ไม่ต้องนั่งเก้าอี้เพื่อเรียนเลด้วยซ้ำ
..."เพราะเล่นจึงเรียนรู้"...
..."จงอย่าให้ลูกหยุดเล่น เพราะนั่นคือพื้นฐานของพัฒนาการที่ดีทั้งในระยะสั้นและระยะยาวของลูกครับ"...