
เตรียมความพร้อม ! ทักษะที่ Gen Alpha ต้องมี
การเลี้ยงลูกให้พร้อมรับมือกับโลกยุคใหม่ที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน
“พัฒนาการในวัยเด็ก” คือรากฐานสำคัญที่ส่งผลถึงบุคลิกภาพ ความมั่นใจ และสุขภาพจิตของเราทั้งชีวิต อีริค อีริคสัน นักจิตวิทยาชาวเยอรมัน ได้เสนอทฤษฎีพัฒนาการของมนุษย์ที่แบ่งออกเป็น 8 ขั้น ตั้งแต่เกิดจนถึงวัยชรา ทำความเข้าใจกับ 4 ขั้นแรก ซึ่งครอบคลุมช่วงวัยตั้งแต่แรกเกิดจนถึงก่อนวัยรุ่น
🍼 ขั้นที่ 1: ความไว้วางใจ vs ความหวาดระแวง (Trust vs Mistrust)
เด็กในวัยนี้ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ พ่อแม่จึงเปรียบเสมือนโลกทั้งใบ การตอบสนองพื้นฐาน เช่น ให้นมเมื่อหิว เปลี่ยนผ้าอ้อมเมื่อเปียก หรืออุ้มปลอบเมื่อร้องไห้ คือสิ่งที่หล่อหลอมให้เด็กเกิด "ความไว้วางใจ" ในโลกใบนี้
หากไม่ได้รับการตอบสนองอย่างเหมาะสม เด็กจะค่อย ๆ เรียนรู้ว่าโลกไม่ปลอดภัย ไม่มีใครเห็นคุณค่า บางคนอาจเติบโตมาพร้อมความกลัว ไม่กล้าขอความรัก ไม่กล้าพึ่งพาใคร หรือพยายาม "แข็งแรง" ตลอดเวลาแม้จะเจ็บปวดเพียงใด
..."ความไว้วางใจในวัยนี้ คือบันไดขั้นแรกของการเติบโตที่มั่นคงทางใจ"...
🚶♂️ ขั้นที่ 2: การเป็นตัวของตัวเอง vs ความสงสัยในตนเอง (Autonomy vs Shame & Doubt)
เด็กวัยนี้จะเริ่ม "ลองทำเอง" เดินเอง กินเอง หยิบจับสิ่งของเอง แม้ยังไม่คล่องและอาจทำเลอะเทอะ แต่หากพ่อแม่เปิดโอกาสให้ลอง เด็กจะพัฒนา "ความเชื่อมั่น" ว่าตัวเองทำได้
แต่ถ้าถูกตำหนิหรือห้ามทุกครั้งที่พยายาม เด็กจะเกิด "ความสงสัยในตนเอง" บางคนโตมาแล้วกลัวความผิดพลาด หรือไม่กล้าทำอะไรที่ไม่สมบูรณ์แบบ
..."ความพยายามควรได้รับการยอมรับ ไม่ใช่การจับผิด"...
🎨 ขั้นที่ 3: ความคิดริเริ่ม vs ความรู้สึกผิด (Initiative vs Guilt)
วัยแห่งจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ และความอยากลอง เด็กจะเริ่มคิดสิ่งใหม่ ๆ เล่นบทบาทสมมติ วาดรูป ประดิษฐ์ของเล่น หากพ่อแม่เปิดรับและให้กำลังใจ เด็กจะพัฒนา "ความคิดริเริ่ม" แต่หากสิ่งที่คิดหรือทำนั้นถูกดูแคลน หรือไม่ได้รับการสนับสนุน จะกลายเป็น "ความรู้สึกผิด" และความลังเลในการลงมือทำสิ่งใหม่ ๆ
..."ให้พื้นที่กับจินตนาการของเด็ก แม้มันอาจไม่ได้ตรงกับสิ่งที่เราคาดหวัง"...
🏫 ขั้นที่ 4: ความขยันหมั่นเพียร vs ความรู้สึกด้อย (Industry vs Inferiority)
วัยเรียนรู้เรื่องความพยายามและผลลัพธ์ เด็กจะเริ่มเข้าใจว่า การฝึกฝนทำให้เก่งขึ้น แม้จะไม่ใช่คนเก่งที่สุดในห้อง แต่ถ้าเด็กถูกเปรียบเทียบหรือถูกตัดสินว่า "ไม่ดีพอ" ซ้ำ ๆ
จะพัฒนาเป็น "ความรู้สึกด้อยค่า" และเมื่อโตขึ้น อาจรู้สึกว่า ไม่ว่าจะพยายามแค่ไหน ก็ไม่พอสำหรับใคร
..."ชื่นชมที่ความพยายาม ไม่ใช่แค่ผลลัพธ์ ให้เด็กได้รู้สึกว่า 'เก่งในแบบของเขา' ก็ดีพอแล้ว"...
ความเข้าใจในวัยเด็ก = กุญแจสู่การเข้าใจตัวเองในวันนี้
เมื่อเรารู้จักพัฒนาการในแต่ละขั้น เราจะเข้าใจว่า สิ่งใดสำคัญที่สุดในแต่ละช่วงวัย และจะไม่พลาดที่จะมอบสิ่งนั้นให้กับลูก ถ้าในวัยเด็กของเรา เคยขาดสิ่งใดไป...วันนี้ในฐานะผู้ใหญ่ เรายังสามารถ "เยียวยา" ตัวเองได้ ไม่ต้องดีที่สุดในสายตาใคร แค่เป็นตัวเองในเวอร์ชันที่ดีที่สุด ก็เพียงพอแล้ว ♡
● รับชมรายการ Hook Learning : Introduction to Child Development | เปิดประตูสู่ความรู้จิตวิทยาเด็ก
✱ ติดตามข่าวสารและกิจกรรม Thai PBS Kids ได้ทาง Website | Facebook | Youtube | LINE Official ✱