ทดแทนการห้ามด้วยการสอน “สิ่งใดทำได้หรือควรทำ”
เมื่อห้ามทำสิ่งใด เราควรบอกให้ชัดเจนว่า “สิ่งใดที่ควรทำ” หรือ “สิ่งใดที่ทำได้"
เด็กจะเรียนรู้การเคารพและให้เกียรติทุกคน เมื่อทุกคนในบ้านให้เกียรติซึ่งกันและกัน ดังนั้นผู้ใหญ่ควรคุยกันเสมอ เพื่อทำความเข้าใจกัน ไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนทุกสิ่ง ขอแค่เจอกันตรงกลางก็พอ
▶︎ 1. เราไม่ควรทะเลาะกันหรือขัดขวางกันและกันต่อหน้าลูก ถ้าหากเราไม่เห็นด้วยกับอีกฝ่าย ให้มาคุยกันทีหลังหรือดีที่สุด เราควรทำข้อตกลงหรือ กติกาภายในบ้านให้ชัดเจนตั้งแต่แรก เพื่อที่เราจะได้รับมือหรือทำสิ่งต่าง ๆ ไปในทิศทางเดียวกัน
▶︎ 2. เราไม่ควรทำลับหลังอีกฝ่ายหรือทำให้ลูกไม่ชอบอีกฝ่าย ยกตัวอย่างเช่น "พ่อให้ดูหนังหนึ่งเรื่อง อย่าบอกแม่นะ" "แม่ให้ขนมหนึ่งชิ้น เราเก็บเป็นความลับนะ” “อย่าบอกแม่นะ ไม่งั้นแม่โกรธพ่อแน่นอน" เป็นต้น เพราะเราจะทำให้ลูกไม่รู้สึกไม่ดีหรือไม่ฟังอีกฝ่าย
▶︎ 3. เราไม่ควรพยายามให้ลูกมาเป็นพวกของเรา "ครอบครัว" ไม่ควรแบ่งฝ่าย "ลูก” ไม่ใช่สมบัติของใคร เขาเป็นสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัวของเรา เวลาพ่อแม่ทะเลาะกัน ควรเป็นเรื่องแค่ระหว่างเราสองคน ไม่ควรนำลูกมาเป็นกรรมการตัดสินการทะเลาะในครั้งนี้ เพราะสำหรับลูกแล้วคนหนึ่งก็พ่อคนหนึ่งก็แม่ของเขา เรา ไม่ควรให้ลูกต้องเลือกฝั่ง
▶︎ 4. เราไม่ควรทำให้อีกฝ่ายอับอาย ด้วยการตำหนิอีกฝ่ายให้เด็กฟัง เช่น “พ่อลูกไม่ได้เรื่อง" “แม่ลูกคิดมากเกินไป” เพราะ เด็กจะอึดอัดกับเราและอีกฝ่าย บ้านก็ไม่น่าอยู่อีกต่อไป
▶︎ 5. เรื่องใดที่ไม่เข้าใจกันหรือมีความคลุมเครือ เราไม่ควรคิดไปเอง “การสื่อสาร” จึงเป็นสิ่งสำคัญภายในครอบครัว คุยกันมาก ๆ ถ้าไม่เข้าใจกันให้ถามด้วยเหตุผล อย่าใช้อารมณ์หรือพูดประชดประชัน เพราะเรื่องจะบานปลายใหญ่โต
▶︎ 6. เราไม่ควรใช้ความเงียบเพื่อแก้ปัญหา หากปราศจากซึ่งการสื่อสาร ครอบครัวจะแตกออกได้เช่นกัน จากสายสัมพันธ์ที่ค่อย ๆ เลือนหายไปจากการไม่พูดไม่จากัน รอยร้าวนั้นไม่ต่างอะไรกับการทะเลาะกัน แต่ความเงียบเป็นรอยร้าวที่ลึก และยากที่จะประสานกว่านัก
▶︎ 7. เราควรฟังให้มาก บ่นให้น้อย และพูดให้ชัดเจน การพูดเยอะ บ่นเยอะ บางครั้งก็ทำให้คนอื่นไม่อยากพูดต่อแล้ว เราจะเสียโอกาสในการรับฟังในสิ่งที่คนอื่นคิด และการแก้ปัญหาของครอบครัวที่ดีจะไม่เกิดขึ้น หากมาจากความคิดของเราแค่คนเดียว
สุดท้ายครอบครัวที่สมบูรณ์แบบอาจจะไม่มีอยู่จริง แต่ครอบครัวที่มีความสุขเกิดขึ้นได้ หากเรายอมรับจุดบกพร่องของกันและกัน และช่วยกันเติมเต็มในส่วนที่อีกฝ่ายทำไม่ได้ ยอมรับ และยินดีช่วยเหลือในสิ่งที่เราทำได้และยินดีให้อีกฝ่ายช่วยเหลือในสิ่งที่เราทำไม่ได้