237
ทดแทนการห้ามด้วยการสอน “สิ่งใดทำได้หรือควรทำ”

ทดแทนการห้ามด้วยการสอน “สิ่งใดทำได้หรือควรทำ”

โพสต์เมื่อวันที่ : April 16, 2023

 

1. เมื่อห้ามทำสิ่งใด ควรบอกให้ชัดเจนว่า “สิ่งใดที่ควรทำ” “สิ่งใดที่ทำได้"

สำหรับเด็กแล้ว เขาต้องการทางออกและทางเลือก หากเขาถูกห้ามไม่ให้ทำสิ่งนั้นหรือเขาทำสิ่งนั้นไม่ได้แล้ว “อะไรคือสิ่งที่เขาควรทำ" "เขาจะทำสิ่งนั้นได้เมื่อไหร่" หรือ "ทำแบบไหนถึงจะเหมาะสม" การห้ามไม่ให้ทำสิ่งที่เขาทำอยู่ แต่ไม่ได้บอกว่าแล้วที่ถูกหรือเหมาะสมคืออะไร เด็กอาจจะสับสน สุดท้ายเมื่อไม่มี ทางออกให้กับเขา เด็ก มักจะเลือกกลับไปทำพฤติกรรมแบบเดิม 

 

ยกตัวย่างเช่น 

แทนการบอกว่า “อย่าเขียนโต๊ะ” เป็น ✅ “เขียนบนกระดาษ” หรือ “เราเขียนในกระดาษ” 
แทนการบอกว่า “อย่าเพิ่งหยิบ” เป็น ✅ “ไปล้างมือก่อน” หรือ “จับ/จูงมือแม่ไว้” 
แทนการบอกว่า “ห้ามโยนของ” เป็น ✅“เราวางเบา ๆ” หรือ “ถ้าอยากโยน เราไปเล่นโยนบอลกัน” 
แทนการบอกว่า “หยุดวิ่ง” เป็น ✅ “เราเดินในบ้าน” หรือ “เราวิ่งในสนาม” 
แทนการบอกว่า “หยุดพูด” เป็น ✅ “ฟังก่อน แม่พูดจบแล้วตาเราพูดนะ” หรือ “เราผลัดกันพูดนะ” 
แทนการบอกว่า “ไม่แกล้งน้องอย่าดึงผมน้อง” เป็น ✅ “ลูบผมน้องเบาๆ” หรือ “ชวนหวีผมให้น้องแทน” 
แทนการบอกว่า "ไม่เดินไปกินไป" เป็น ✅ "มานั่งกินด้วยกัน" หรือ "ถ้าเดินเราจะเดิน ถ้าจะกินเราควรนั่ง" 
แทนการบอกว่า “ไม่ทำแบบนั้น” เป็น ✅ “ควรทำแบบไหน” 

 

 

 

2. มอบทางเลือกและให้เด็กรับผิดชอบต่อการเลือกนั้น

นอกจากนี้การที่เด็กเลือกจะไม่ทำพฤติกรรมที่เหมาะสม แม้ว่าเราจะมีทางออกหรือทางเลือกให้กับเขาแล้ว ผู้ใหญ่สามารถบอกกับเขาได้ว่า “วันนี้ลูกไม่พร้อมทำกิจกรรมนี้ต่อเพราะลูกเลือกที่จะไม่ทำตามกติกา” 

 

แทนการสั่ง เราได้มอบทางเลือกให้กับเด็ก เมื่อเด็กเป็นคนเลือกที่จะทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม แปลว่าเขาต้องรับ ผิดชอบต่อการกระทำของตนเองด้วยการไม่ได้ทำสิ่งนั้นต่อ สิ่งสำคัญเราจะไม่ปล่อยให้เด็กทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่อเราจะเข้าไปยุติทันทีโดยเราจะทำหน้าที่ควบคุม กติกาที่เราตกลงร่วมกัน 

 

 

3. เมื่อเด็กทำพฤติกรรมที่เหมาะสม ให้การชื่นชมต่อพฤติกรรมนั้นในทันที

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราบอกลูก ๆ ว่า “เล่นทรายในบ่อ” “ทรายอยู่ในบ่อ” ลูก ๆ เล่นทรายในบ่อไม่โยนทรายออกนอกบ่อเหมือนที่ผ่านมา ให้เรารีบชมทันทีว่า “ลูก ๆ ดูแลทรายดีมากเลย ขอบคุณนะคะ” หรือ “วันนี้ลูก ๆ เล่นทรายกันดีมาก ๆ เลย” 

 

เมื่อพี่เล่นกับน้องดี ๆ เราสามารถชมเขาได้ว่า “วันนี้พี่น้องเล่นกันดีมาก ๆ เลย ขอบคุณนะคะ” บ่อยครั้งเรามักพบว่า เมื่อเด็กทำพฤติกรรมที่ดีแต่ผู้ใหญ่มักละเลย หรือมองว่าเป็นเรื่องปกติ แต่เมื่อเด็กทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ผู้ใหญ่จะเพ่งเล็ง และมองว่าเป็นเรื่องใหญ่(มาก)ทันที

 

เรามักจะตอบสนองกับเด็กเวลาที่เขาทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเข้มข้นกว่าเวลาที่เขาทำพฤติกรรมที่เหมาะสม ดังนั้นให้ผู้ใหญ่เพิ่มการให้ความสนใจด้วยการชื่นชม เพื่อให้เด็กมองเห็นพฤติกรรมที่ดีของตัวเอง และมีกำลังใจ ในการทำสิ่งนั้นต่อไป

 

เพราะสำหรับเด็กแล้ว “ความสนใจ” จากพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ที่เขารัก คือ สิ่งสำคัญที่เขาต้องการ ดังนั้นการที่เราให้ความสนใจกับสิ่งใด พฤติกรรมใด เด็ก ๆ จะมีแนวโน้มทำพฤติกรรมนั้น แม้ว่าความสนใจที่เรา มอบให้จะเป็นไปในเชิงลบก็ตาม เช่น การบ่น การตำหนิกรี๊ด หรืออื่น ๆ ด้วยเหตุนี้เวลาที่เด็ก ๆ ทำพฤติกรรมไม่ เหมาะสม

 

การตอบสนองที่ดีที่สุด คือ การตอบสนองด้วยความสงบและมั่นคง พูดด้วยน้ำเสียงโทนต่ำและชัดเจน ตัดเรื่องอารมณ์และคำสร้อย บอกเขาให้ชัด ๆ ว่า “ต้องการให้เขาทำอะไร” หรือ “พาเขาไปสงบด้วยกัน” เคียงข้าง และรอการสอนหลังอารมณ์สงบ ทั้งเรากับลูก แต่ถ้าหากเราให้ความสนใจและตอบสนองกับพฤติกรรมที่เหมาะสมของเด็กมากพอเขาจะตระหนักถึงความ สำคัญในการทำพฤติกรรมนั้นมากกว่าการทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม

 

 

4. บางครั้งเด็กทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเพียงเพราะ “เขาต้องการความสนใจจากพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ที่เขารัก”

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า สำหรับเด็กแล้ว “ความสนใจ” สำคัญมากสำหรับเขา เพราะสำหรับเด็กการได้รับความ สนใจ หมายถึง “การเป็นคนสำคัญของบุคคลนั้น” เด็กต้องการเป็นที่รักและถูกรัก เขาต้องการได้รับการยืนยัน คุณค่า เพื่อที่ตัวเขาจะสามารถเติบโตอย่างมั่นใจว่า “ตัวเขาเป็นที่ต้องการของพ่อแม่" 

 

ดังนั้นช่วงใดที่เด็กทำพฤติกรรมไม่เหมาะสม (มากกว่าปกติ) พ่อแม่หรือผู้ใหญ่ควรกลับมาทบทวนถึงความ สัมพันธ์ระหว่างเรากับเด็ก และเวลาที่เรามีให้กับเขาว่ามีมากพอหรือไม่ เพราะบ่อยครั้ง เมื่อเด็กไม่ได้รับความ สนใจที่เพียงพอเขามีแนวโน้มที่จะโหยหา และพยายามทำให้เราสนใจเขามากขึ้น 

 

 

5. แบบอย่างสำคัญกว่าคำสอน

บางครั้งพฤติกรรมที่เด็กทำ มักเกิดจากการเลียนแบบผู้ใหญ่ใกล้ตัว บางอย่างเราไม่ตั้งใจทำ แต่เมื่อเด็กเห็น เขาอาจจะเลียนแบบการกระทำของเราในทันที ทั้งคำพูด การแสดงออก สีหน้า ท่าทางอารมณ์ ดังนั้นเมื่อเราต้องการให้เด็กทำสิ่งใด เราควรทำสิ่งนั้น และเป็นแบบอย่างให้กับเขาเสียก่อน

 

“การป้องกันก่อนเกิดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม” คือ สิ่งที่ควรทำและทำได้ง่ายกว่าการต้องมารับมือกับพฤติกรรมที่ ไม่เหมาะสมทีหลัง การป้องกันก่อนเกิดที่ดีที่สุดคือ “การทำข้อตกลงและการบอกกติกาในการอยู่ร่วมกันให้ชัดเจน” หากเด็กๆ ทำผิดกติกาหรือไม่ทำตามข้อตกลง พวกเขาต้องเรียนรู้ที่จะรับผิดชอบต่อการกระทำของตน เช่น การไม่ได้ทำกิจกรรมนั้นต่อ หรือ ต้องทำบางสิ่งเพื่อชดเชยกับการกระทำที่ไม่เหมาะสมของตนเอง

 

 

ตัวอย่างกติกาที่ทุกบ้านควรมีได้แก่ “กฎ 3 ข้อ” ไม่ทำร้ายตัวเอง ไม่ทำร้ายผู้อื่น ไม่ทำลายข้าวของ นอกจากนี้เด็กๆ ต้องเรียนรู้กติกาของแต่ละที่ที่พวกเขาเข้าอยู่ร่วม ในวัยที่เด็ก ๆ ยังไม่สามารถควบคุมยับยั่งช่างใจตัวเองได้พ่อแม่และผู้ใหญ่จำเป็นต้องเข้าไปแทรกแซง ให้การ แนะนำ และดูแล เมื่อเด็กๆ ทำผิดกติกา แปลว่า “เขาไม่พร้อมจะอยู่ในที่นี้ต่อ” และ “เราควรพาเขาออกมาเพื่อ สอนเขาก่อน” 

 

เด็กทุกคนเพิ่งเกิดมาบนโลกใบนี้ไม่กี่ปีพวกเขายังต้องเรียนรู้สำรวจ ค้นหา และทดลองสิ่งที่พวกเขาสนใจอีกมากมาย เด็ก ๆ จึงควรได้รับโอกาสในการทำสิ่งต่าง ๆ และเรียนรู้ให้มากที่สุด ซึ่งอิสระในการลงมือทำและเรียนรู้นั้นจำเป็น ต้องอยู่ภายใต้กติกาและขอบเขตที่เหมาะสม เพื่อไม่ทำให้ตัวเขาหรือใครหรือสิ่งใด เดือดร้อนและเสียหาย ผู้ใหญ่ คือ ผู้ที่ทำหน้าที่ควบคุมกติกา ไม่ใช่ผู้ที่คอยสั่งการหรือควบคุมบังคับเด็ก ๆ เพราะกติกาเป็นสิ่งท่ีทำหน้าที่นั้นแล้ว เรามีหน้าท่ีต้องมั่นคงต่อการกระทำและคำพูดของเรา หรือเรียกอีกนัยว่า “ใจดีแต่ไม่ใจอ่อน” นั่นเอง

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง