
อย่าเลี้ยงลูกให้เป็นที่รักอยู่เสมอ
พ่อแม่แทบทุกคน ชื่นชมที่ลูกจะเป็นที่รักของคนรอบข้าง
แม่ : ...“ไม่ไปเล่นเหรอลูก ?”...
เด็กน้อย : ...“อยากเล่นแต่กลัวเลอะ”...
แม่ : ...“เลอะก็ไม่เป็นไร เราอาบน้ำได้ลูก ไปเล่นเถอะ”...
เด็ก : ...“แม่ไปเล่นกับหนูได้ไหม”...
แม่ : ...“เอางี้แม่เดินไปเป็นเพื่อนนะ”...
เด็กน้อย : ...“แม่เล่นด้วย”...
แม่ : ...“ลูกก็ไปเล่นสิ แม่ไปเป็นเพื่อน"...
เด็กน้อย : ...“ไม่เอา จะให้แม่เล่นด้วย”... (เริ่มโวยวาย)
แม่ : ...“หนูไปเล่นนะ แม่รอใกล้ ๆ”...
เด็กน้อย : ...“ไม่เอา หนูอยากให้แม่เล่นด้วย ไม่งั้นไม่เล่น จะกลับบ้านแล้ว”...
แม่ : ...“งั้นไม่ต้องเล่นแล้ว กลับบ้าน”...
เหตุการณ์นี้จบลงที่เด็กน้อยไม่ลงไปเล่น แม้จะอยากลงไปก็ตาม โดยปกติ เมื่อเด็ก ๆ ต้องเผชิญสิ่งใหม่ หรือ อะไรที่พวกเขาไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน เด็ก ๆ บางคนอาจจะรู้สึกเป็นกังวลและต้องการความเชื่อมั่นจากผู้ใหญ่ที่พวกเขาไว้ใจว่า "สิ่งนั้นปลอดภัย" "เขาสามารถทำสิ่งนั้นได้"
ในบางครั้งเด็ก ๆ ต้องการ "การเคียงข้างด้วยการลงมือทำไปกับเขา" ถ้าพ่อแม่เข้าใจว่า “ครั้งนี้เป็นครั้งแรกของลูก” และ "ตัดสินใจเผชิญหรือลงมือทำสิ่งนั้นกับเขา" ลูกและเราอาจจะได้เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งประสบการณ์
นอกจากนี้ วิธีการที่พ่อแม่ปฏิสัมพันธ์และตอบสนองต่อโลกมีผลกับลูก เพราะลูกมีแนวโน้มจะเลียนแบบวิธีการของเรา เด็ก ๆ ที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับพ่อแม่ของพวกเขา เด็ก ๆ จะเรียนรู้ที่จะสังเกตปฏิกิริยาการตอบสนองของเราต่อสิ่งเร้าเสมอ เช่น สีหน้า ท่าทาง หรือ วิธีที่เราปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น และสภาพแวดล้อม
ถ้าหากเด็ก ๆ ต้องเผชิญกับเหตุการ์ที่ไม่เคยประสบมาก่อน สถานการณ์ที่ความกำกวม และตัวเขาไม่สามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง เด็ก ๆ จะหันกลับไปหาพ่อแม่ของเขาเพื่อเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจว่า “ควรจะเผชิญสิ่งนั้น” หรือ “ควรหลีกเลี่ยง/หลีกหนี”
ยกตัวอย่างเหตุการณ์ เด็กน้อยคนหนึ่งไม่เคยเล่นสไลเดอร์มาก่อน เขาไม่กล้าปล่อยมือเพื่อสไลด์ตัวเองลงมา เด็กน้อยมองไปที่พ่อแม่ของเขาที่รออยู่ด้านล่าง ถ้าพ่อแม่แสดงสีหน้าและท่าทางที่ผ่อนคลาย เด็กจะมีแนวโน้มที่ประเมินสถานการณ์ว่า “ไม่เป็นไร ทุกอย่างปลอดภัยดี เขาสามารถปล่อยมือและสไลด์ลงไปหาพ่อแม่ได้ พ่อแม่รอรับเขาอยู่” ในทางกลับกันถ้าพ่อแม่แสดงสีหน้าท่าทางที่เป็นกังวล หรือ ขัดแย้งกันเอง เด็กจะมีแนวโน้มประเมินสถานการณ์ว่า “มีบางอย่างไม่ปลอดภัย และเขาไม่ควรสไลด์ลงไป”
"สิ่งที่พ่อแม่สามารถช่วยให้ลูกเผชิญสิ่งใหม่ ๆ ได้ดีขึ้น" ถ้าเด็ก ๆ รู้สึกกังวล และไม่มั่นใจในสิ่งที่เขากำลังเผชิญ พ่อแม่สามารถเข้าไปเป็นเพื่อนเขา เพื่อเคียงข้าง และทำไปกับเขา
1. “การทำด้วยกัน” ไม่เท่ากับ “การทำให้” ให้ความมั่นใจกับลูกด้วยการทำไปด้วยกันและการสนับสนุน แต่ไม่ใช่การทำให้ เช่น เมื่อลูกไม่กล้าเข้าไปขอของเล่นจากเพื่อน พ่อแม่ไปเป็นเพื่อนเขา และสอนเขาว่า ควรเริ่มต้นพูดอย่างไรดี แต่ไม่ใช่การไปขอของเล่นนั้นมาจากเพื่อนของลูกมาให้เขาเลยทันที ไม่ใช่แค่เพียงเด็กเล็ก ๆ สำหรับเด็กโต บางครั้งการทำงานที่ยาก โดยมีพ่อแม่ทำไปกับเขา จะช่วยให้เด็ก ๆ มีความมั่นใจที่จะเอาชนะอุปสรรคเหล่านั้นมากขึ้น
2. เมื่อเด็ก ๆ ทำได้ในครั้งแรกกับเรา ค่อย ๆ ลดการช่วยเหลือ และค่อย ๆ ถอยออกมาในครั้งที่สอง และครั้งต่อ ๆ มา
3. สีหน้าและท่าทางของพ่อแม่ ส่งผลต่อการรับรู้และการตัดสินใจของลูก ถ้าพ่อแม่มั่นใจว่า “ลูกสามารถทำสิ่งนี้ได้” เราควรแสดงสีหน้าท่าทางที่ผ่อนคลาย และให้การสนับสนุนกับลูกผ่านการพูดให้กำลังใจ และการอยู่ตรงนั้นเพื่อเคียงข้าง
สุดท้าย “พ่อแม่” จึงเป็นเหมือนครูคนแรกของลูก ที่จะพาเขาไปรู้จักโลก เด็กจะรับรู้และตีความสถานการณ์สภาพแวดล้อมนั้นอย่างไร พ่อแม่เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญที่ช่วยกำหนดวิธีการการรับรู้และมองโลกของเขา
...“ลงมือทำไปด้วยกัน เติบโตไปด้วยกัน”...