การเติบโตในยุคดิจิทัล
ในปัจจุบัน “หน้าจอ” เข้ามามีบทบาทในชีวิตมาก และแทรกซึมเข้าสู่ทุกครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
พ่อแม่แทบทุกคน ชื่นชมที่ลูกจะเป็นที่รักของคนรอบข้าง แต่พ่อแม่หลายคนสอนให้ลูกต้องทำตัวน่ารักอยู่เสมอ ซึ่งหลายครั้งหมายถึงการสอนลูกให้ “ยอม” อยู่บ่อย ๆ ยอมแชร์ ยอมแบ่งปัน ยอมตามใจ ยอมเสียสละ ยอมเสียเปรียบ ยอมทำให้ ยอมอดทน ยอมที่จะข่มความต้องการของตัวเอง ฯลฯ
...“ยอมให้น้องไปก่อน น้องยังเล็ก”...
...“แบ่งให้เพื่อนไปแค่นี้เอง”...
...“แม่อยากให้หนูใส่ชุดนี้ ทำเพื่อแม่ไม่ได้หรอ”...
...“เลือกเรียนอันนี้เถอะ ถือว่าทำเพื่อพ่อ”...
...“เวลาพ่อเค้าพูด ก็อย่าเถียง พ่อเค้าจะได้ไม่โมโห”...
เด็กหลายคนเติบโตไป ด้วยความเข้าใจ ว่าการ “ยอม” ทำให้ชีวิตไม่เป็นปัญหา ทำให้อะไร ๆ ก็ง่าย ไม่มีความขัดแย้งกับใคร กลายเป็นเด็กที่น่ารักน่าเอ็นดู ซึ่งนั่นกลับนำมาซึ่งปัญหาในการพัฒนาตัวตนของเด็ก และนั่น ไม่ใช่การเติบโตที่ดี ที่ควรจะเป็นของ “มนุษย์”
เด็กทุกคนควรเรียนรู้ที่จะรู้จัก “ความต้องการ” ของตัวเอง เพื่อจะเรียนรู้ “วิธี” ที่จะจัดการความต้องการของตนเอง การ “ยอม” ไป เพื่อจะได้ไม่เป็นปัญหา ทำให้เด็กหลายคนไม่เคยสำรวจใจตนเอง และไม่เคยเรียนรู้ที่จะ “ต่อสู้” เพื่อยืนหยัดความต้องการของตนเอง
เด็กเหล่านี้หลายคนโตมาเป็นวัยรุ่นที่ตามใจเพื่อน ไม่ขัดใจแฟน เลือกเรียนอะไรตามใจของพ่อแม่ ทำอะไรเพื่อให้คนอื่นพอใจ จนไม่เคยเรียนรู้ว่าตัวเองต้องการอะไรในชีวิต อาจจะดีกว่า ที่พ่อแม่จะปล่อยและให้เวลา ที่ลูกจะสำรวจความต้องการของตนเอง และฝึกให้ลูกใช้ทางเลือกที่จะ “สู้” “ยอม” “ต่อรอง” “ประนีประนอม” “ปฏิเสธ” ในแต่ละจังหวะและบริบทของชีวิต
อย่าเลี้ยงลูกให้ต้องเป็นที่รักอยู่เสมอ เพราะการเติบโตมาเป็นเด็กที่ต้องน่ารักในสายตาของใครอยู่ตลอดเวลา ทั้งของพ่อแม่และคนรอบข้าง จนลืมที่จะรักและรู้จักความต้องการของตัวเอง อาจมีอะไรยิ่งใหญ่ที่ต้องแลก ซึ่งนั่นอาจหมายถึง “ความสุขในชีวิตลูก”