“พี่น้องไม่ต้องการศาล”
ปัญหาพี่น้องทะเลาะกัน เป็นปัญหากวนใจของใครหลาย ๆ บ้าน
🌟 1. เด็กทุกคนเกิดมาแตกต่างกัน ไม่ควรเปรียบเทียบพี่กับน้อง 🌟
ไม่ว่าจะเป็นคนพี่ คนกลาง คนน้อง หรือ ฝาแฝด แม้จะเป็นลูกของเราทุกคน แต่ลูกของเราเป็นคนละคนกัน นั่นหมายถึงพวกเขามีความแตกต่างกัน อย่าเปรียบ เทียบพวกเขา
🌟 2. ไม่ทำให้เด็กอับอายต่อหน้าพี่หรือน้อง 🌟
พ่อแม่ไม่ควรต่อว่าเด็กต่อหน้าเด็กอีกคนหนึ่งเพราะเด็กจะรู้สึกแย่ต่อตนเอง และอับอายที่ถูกตำหนิต่อหน้าพี่น้อง ของตน สิ่งที่ควรทำเมื่อเด็กทำผิดคือ การเรียกไปสอนในมุมสงบที่มีแค่เรากับเขาสองคน
🌟 3. ของ ๆ เขา ก็คือ ของ ๆ เขา พี่ไม่จำเป็นต้องเสียสละให้น้อง 🌟
เมื่อพ่อแม่ซื้อของให้ลูก ของเป็นของเขา ลูกจะแบ่งหรือไม่แบ่งเป็นสิทธิ์ของเขา ทั้งนี้การแบ่งปัน ขอให้รอเวลาอันสมควร และเกิดจากการที่เด็กพร้อมและอยากให้ด้วยตัวเขาเองดีกว่ามาก ถ้าอยากให้พี่น้องแบ่งปัน พ่อแม่ควรทำให้ลูกมั่นใจว่า เราสามารถช่วยปกป้องสิทธิ์ของเขาเมื่อเขาอยากได้ของคืน จากอีกฝ่ายได้
ในกรณีพ่อแม่ซื้อของมาให้เป็นกองกลาง พ่อแม่ควรทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมกติกา ดูแลให้พี่น้องผลัดกันใช้ผลัดกันเล่น อย่างเหมาะสม บ้านที่มีพี่น้องจึงได้ เรียนรู้การรอคอยและการประนีประนอมมากกว่าบ้านที่มีลูกคนเดียว
🌟 4. ทั้งพี่และน้องควรได้รับการมอบหมายหน้าที่ ไม่ใช่มีใครคนใดคนหนึ่งไม่ต้องทำอะไรเลย 🌟
เวลาเรามอบหมายงานให้เด็ก เราควรให้งานที่เหมาะสมตามวัยและตามศักยภาพของเด็กแต่ละคน เพราะพี่น้อง ควรทำในสิ่งที่ตนทำได้ไม่ควรมีใครต้องแบกรับภาระหน้าที่ไว้แค่เพียงคนเดียว พี่ไม่ควรแบกรับภาระเพียงลำพัง น้องควรได้รับความไว้วางใจในการทำหน้าที่เช่นเดียว
🌟 5. พี่น้องทะเลาะกัน พ่อแม่อย่าด่วนตัดสิน 🌟
รับฟังลูกทั้งสองคน ฟังทีละคน ฟังให้จบ ไม่พูดแทรก ไม่สั่งสอนทันที เมื่อฟังจบแล้ว ทำความเข้าใจ แล้วจึงสอนหากทั้งคู่ทำผิด และให้จบลงด้วยการให้ขอโทษกันและกัน
🌟 6. แม้ความรักเป็นเรื่องความรู้สึก แต่พ่อแม่ควรแสดงออกซึ่งความรักอย่างเท่าเทียม 🌟
เพราะไม่ว่าลูกคนโต ลูกคนกลาง ลูกคนน้อง ทุกคนต่างต้องการเป็นที่รักของพ่อแม่ พ่อแม่ควรหาเวลาให้ลูกแต่ละ คน เวลาที่เราใช้กับเขาสองต่อสองบ้าง “การมีลูกมากกว่าหนึ่งคนเป็นเรื่องดี แต่การเลี้ยงลูกมากกว่าหนึ่งคนเป็นเรื่องที่เหนื่อยและท้าท้าย ถ้าหากเรามีความรัก เวลา และความเข้าใจมากพอสำหรับลูกเราทุกคน เราจะผ่านมันไปได้ดี”