อยากให้พี่น้องรักกัน พ่อแม่ต้องรักอย่างเท่าเทียม
พ่อแม่ควรแสดงออกซึ่งความรักอย่างเท่าเทียม
🔹 1. คุณต้องชื่นชมคนโตมากขึ้น และเข้าใจเขามากขึ้น หากคุณมีเวลาไม่มากพอ ยิ่งต้อง “หัดมองให้เห็นข้อดีเพื่อชื่นชมคนพี่” แทนการเล่นกับเขาซึ่งคุณให้ได้ไม่เท่าเดิม
🔸 2. คุณต้องฝึกคนเล็กไม่ให้เอาแต่ใจ “รู้จักขอ” “รู้จักรอ” “รู้จักขอบคุณ” “ไม่แย่งพี่” ต้องฝึกให้ได้จริง ๆ (ถ้าร้องไห้ก็ต้องเบี่ยงเบนหรือเพิกเฉยแล้วค่อยคุย) หากคนเล็กเอาแต่ใจลดลง ไม่แย่งพี่ เคารพพี่จริง ๆ ปัญหาจะลดลงไปมาก
🔹 3. เน้นสอนคนพี่ให้คิดวิธีแก้ปัญหา ทำอย่างไรถึงจะเล่นด้วยกัน เช่น เอาอย่างอื่นไปแลกหรือสอนน้องเล่น คุณพ่อคุณแม่ต้องทำให้พี่รู้สึกว่า เขาเป็นพี่ที่เก่ง คุณพ่อคุณแม่ยังต้องฟังความคิดเขาเลย หากลูกคิดเองไม่ออกช่วยเขาคิด ไม่เป็นไรลูกยังรู้สึกดีอยู่ เพราะแค่โอกาสที่คุณยื่นให้ลูกคิด ลูกก็รู้สึกดีกับคุณมากแล้ว
🔸 4. คุณต้องชื่นชมตอนลูกสองคนเล่นกันได้ดี เด็ก ๆ แบ่งปันกัน ใจดีต่อกัน ดูแลกัน ทำให้มากกกกกที่สุด บ่อยที่สุด คุณจะเห็นเองว่าลูกทั้งสองคนจะดีขึ้น ข้อนี้พ่อแม่ส่วนใหญ่พลาด เมื่อคุณไม่ส่งเสียงดีใจตอนเขาน่ารักกัน แต่กลับส่งเสียดุดัน ตอนลูกทะเลาะกัน ลูกจะชินกับการทำตัวมีปัญหา เพื่อให้คุณตอบสนองออกมา แม้จะเป็นเชิงลบก็ตาม
🔹 5. คุณต้องหมั่นสร้างสถานการณ์ให้พี่เป็นฮีโร่
🔸 6. คุณควรมีเวลาเดี่ยว ๆ ให้แต่ละคน เพื่อให้ลูกแต่ละคนรู้สึกว่า ตนยังเป็นคนพิเศษของพ่อและแม่ คุณจะชวนคนหนึ่งไปซื้อของด้วยกัน ส่วนอีกคนอยู่บ้านกับพ่อ แล้ววันอื่นค่อยสลับกันก็ได้ หรือจะอ่านิทานให้คนพี่ฟัง แล้วคนน้องให้พ่อเล่า แล้วค่อยสลับกันก็ได้ ข้อนี้พ่อแม่ส่วนใหญ่ไม่ทำ ซึ่งหมอพบว่าบ้านที่ทำ รับมือลูกง่ายกว่ามาก
🔹 7. ห้ามเปรียบเทียบลูกเด็ดขาด เน้นย้ำทำเครื่องหมายดอกจัน เช่น “รู้จักทำตัวให้น่ารักเหมือนน้องบ้าง” หรือ “ขนาดน้องยังทำได้เลย ทำไมพี่ไม่ทำ” “ดูซิ พี่เขากินหมดแล้ว กินเร็ว ๆ อย่าชักช้า”
ไม่ว่าจะเปรียบเทียบแบบดุหรือเปรียบเทียบเพื่อให้อีกคนทำตาม โดยไม่ดุก็ตาม ก็ล้วนสร้างความรู้สึกแย่ให้กับลูกได้ ขอให้พ่อแม่ระลึกไว้ว่า ไม่มีใครอยากเหมือนใคร ไม่มีใครอยากได้ยินว่าใครเก่งกว่า “การเปรียบเทียบมักสร้างความรู้สึกแข่งขัน อิจฉากัน มากกว่ารักใคร่ปรองดองกัน” และหลาย ๆ บ้าน พี่น้องรักกันยากมาก ก็เพราะพ่อแม่ชอบเปรียบเทียบนี่แหละค่ะ