1136
รับมือในวันที่ พี่น้องทะเลาะกัน

รับมือในวันที่ พี่น้องทะเลาะกัน

โพสต์เมื่อวันที่ : October 24, 2022

 

ในวันที่ลูกทะเลาะกัน อย่าเพิ่งด่วนตัดสินลงโทษใครทันที พ่อแม่ควรทำหน้าที่เป็นกรรมการที่ดี ซึ่งหน้าที่ของเราคือการควบคุมกติกาของบ้านที่เราตกลงกันไว้ร่วมกัน เช่น บ้านเราจะไม่ทำผิดกฎ 3 ข้อ ได้แก่...

 

  • ข้อที่ 1 ไม่ทำร้ายตัวเอง
  • ข้อที่ 2 ไม่ทำร้ายผู้อื่น
  • ข้อที่ 3 ไม่ทำลายข้าวของ

 

 

หากพี่น้องทะเลาะกันโดยที่ยังไม่ทำผิดกฎ 3 ข้อนี้ ให้เราถอยออกมาทำหน้าที่ สังเกตการณ์ และให้พี่น้องเรียนรู้การประนีประนอมและแก้ปัญหาร่วมกัน แต่ถ้าพวกเขาเริ่มล้ำเส้นและทำผิดกฎ 3 ข้อ เราจะเข้าไปทำหน้าที่กรรมการทันที พี่น้องทะเลาะกันพ่อแม่รับมือได้ ดังนี้

 

▶︎ แยกพี่น้องไปที่มุมสงบก่อน

หากเป็นเด็กเล็กให้เรานั่งลงตรงกลางระหว่างพี่น้อง ถ้าคนหนึ่งอาละวาดหนักกว่าอีกคน ให้พาคนนั้นไปที่มุมสงบ (ห้องข้าง ๆ หรืออีกฝั่งของห้อง) ก่อน แล้วบอกเด็กอีกคนว่า “เดี๋ยวแม่จะกลับมาหาเรานะ รอแม่ตรงนี้ก่อน” เพื่อให้เขารู้ว่าพ่อแม่ไม่ทิ้งเขาไปเฉย ๆ หากเป็นเด็กโตบอกให้ทั้งคู่แยกกันไปพักที่คนละมุม เมื่อพร้อมเราจะกลับมาพูดคุยกัน

 

 

▶︎ ถ้าใครสงบพร้อมพูด เราจะให้พูดก่อน

ทั้งนี้ระหว่างที่อีกฝ่ายพูดอยู่เราจะไม่พูดแทรก และอีกคนต้องรอให้ถึงตาตัวเองจึงค่อยพูด พ่อแม่สามารถตั้งกติกาได้ว่า “แม่จะฟังลูกพูด แต่เราจะผลัดกันพูดทีละคน ขณะที่คน หนึ่งพูดไม่จบ ห้ามอีกคนพูดแทรก แม้จะอยากพูดแค่ไหนก็ตาม รอถึงตาตัวเอง” ทำวนไปจนหมดเรื่องที่จะพูด ถ้าต่างฝ่ายต่างไม่ยอมหันหน้าคุยกัน เราสามารถเข้าไปคุยกับคนพี่และคนน้องได้ เพื่อรับฟังทั้งสองฝ่ายอย่างเท่าเทียม

 

 

▶︎ ถ้าฟังทั้งคู่พูดจบแล้วเหมือนจะผิดทั้งคู่

ให้ทั้งคู่ขอโทษซึ่งกันและกัน และมาช่วยงาน แม่เสียเลย แต่ถ้ามีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดอย่าเพิ่งตำหนิทันที ถามเขาว่า “ทำไมลูกถึงทำเช่นนั้น ?” และ “ลูกควรจะทำอย่างไรดี ?” ถ้าเขายังไม่พร้อมสำนึกผิด ไม่เป็นไร ไม่ต้องรีบ ให้เราบอกเขาว่า “แม่รอได้ ลูกพร้อมเมื่อไหร่ก็บอกแม่” ถ้าในท้ายที่สุดเด็กไม่รู้ว่าจะต้องพูดขอโทษ เราสามารถถามเชิงแนะนำได้ว่า “เวลามีคน ทำแบบนี้กับลูก ลูกจะรู้สึกอย่างไร ?” “ลูกอยากทำอย่างไรเพื่อให้อีกฝ่ายรู้สึกดีขึ้น ?” ถ้าเขาไม่รู้อีก เราแนะนำได้ว่า “ถ้าอีกฝ่ายทำผิดกับเรา แล้วคนนั้นมาขอโทษและกอดเรา เราจะรู้สึกดีขึ้น”

 

 

▶︎ สอนให้พี่น้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเองเสมอ

เช่น ถ้าทำร้ายกัน ก็ต้องเรียนรู้ที่จะดูแลกันหลังจากนั้น กอด ทายา และทำสิ่งดี ๆ ให้กัน ชดเชยความรู้สึกไม่ดี ถ้าตีกันเพราะแย่งของเล่นส่วนกลาง ของชิ้นนั้นจะถูกยึดไว้ก่อนจนกว่าทั้งคู่จะหาวิธีแบ่งกันเล่นได้ (ผลัดกันเล่น แบ่งกันเล่น) ถ้าทำลายข้าวของเสียหาย ทั้งคู่ต้องเรียนรู้ที่จะซ่อมของชิ้นนั้นเท่าที่จะสามารถทำได้และ ทำงานชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น

 

 

▶︎ แม้การทะเลาะจบลง แต่บทเรียนยังควรย้ำเตือน

การทะเลาะกันในพี่น้องเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้เสมอ และบ่อยครั้ง แต่การทะเลาะกันควรจบด้วยความเข้าใจ พ่อแม่ควรจะใจเย็น ไม่ด่วนตัดสินลงโทษลูกคนใดคนหนึ่ง หรือทั้งสองทันที โดยที่ยัง ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะแม้ว่าจะทำให้เรื่องจบอย่างรวดเร็ว แต่เด็กจะไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย

 

 

พ่อแม่ควรตระหนักอยู่เสมอว่า “เราบังคับให้พี่น้องรักกันไม่ได้ แต่เราสอนให้พวกเขาให้รักกันได้ด้วยการแสดงออกซึ่งความรักต่อพวกเขาทั้งสองอย่างเท่าเทียม และให้โอกาสพวกเขาได้เรียนรู้และเติบโตด้วยกัน โดยที่เราจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับเขาทั้งคู่ ด้วยการยอมรับพวกเขาในแบบที่เขาเป็น”

 

อย่าบังคับให้พี่น้องรักกันหากเขาไม่พร้อม เพราะความรักบังคับกันไม่ได้ อย่าบังคับให้พี่น้องต้องเสียสละ เพราะสิ่งที่เขาเรียนรู้ไม่ใช่ความรัก แม้เด็กจะเสียสละให้อีกฝ่าย แต่เขาอาจจะสูญเสียตัวตนไป และในเด็กบางคนอาจจะพัฒนาความไม่ชอบอีกฝ่ายขึ้นมาแทนที่ความรัก

 

พี่น้องรักกัน เพราะพวกเขาได้ใช้เวลาด้วยกัน ทั้งร่วมสุขร่วมทุกข์ ช่วงเวลาที่เติบโตด้วย กันก่อเกิดเป็นสายสัมพันธ์และความรัก

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง