435
พ่อแม่ต้องอ่าน ! ปฐมวัย 5 ปีแรกคือปีทองของชีวิต

พ่อแม่ต้องอ่าน ! ปฐมวัย 5 ปีแรกคือปีทองของชีวิต

โพสต์เมื่อวันที่ : February 24, 2023

 

ร่างกายของมนุษย์เจริญเติบโตตั้งแต่ครรภ์มารดาจนกระทั่งเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ โดยร่างกายของเด็กจะเติบโตอย่างมากในช่วง 1 ขวบปีแรกอย่างก้าวกระโดด

 

สามารถสังเกตง่าย ๆ ที่น้ำหนักและส่วนสูงของเด็กเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในเวลาเพียงไม่นาน จากนั้นจะเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงปฐมวัย และจะก้าวกระโดดอีกครั้งในแง่ของน้ำหนักและส่วนสูงในช่วงวัยรุ่น แล้วจากนั้นอีกไม่กี่ปีร่างกายของมนุษย์ก็จะหยุดเติบโตแต่สมองของมนุษย์ไม่ได้เติบโตเช่นเดียวกับร่างกาย

 

รู้หรือไม่ ! ช่วงเวลาที่การสร้างเซลล์ประสาท (Neurogenesis) เกิดขึ้นตั้งแต่ในครรภ์ของมารดา และสมองจะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องหลังเกิด โดยพบว่าสมองของมนุษย์เติบโตมากที่สุดในช่วง 3 ปีแรกของชีวิต (โดยน้ำหนักของสมองของเด็กอายุ 3 ปีจะหนักราว 90% ของผู้ใหญ่) และเติบโตเต็มที่เท่าขนาดของสมองผู้ใหญ่เมื่อมีอายุราว 5 ขวบเท่านั้น นักวิทยาศาสตร์ที่ชื่อว่า ‘ซูซาน่า เฮอร์คิวลาโน่ - ฮูเซล’ คาดคะเนจากการศึกษาวิจัยพบว่า “สมองของมนุษย์เราน่าจะมีเซลล์อยู่ราว 8.6 หมื่นล้านเซลล์” นั่นหมายความว่าเซลล์ประสาทจำนวน 8.6 หมื่นล้านเซลล์นี้เกิดขึ้นในช่วง 5 ปีแรกของชีวิต !

 

 

สาเหตุเพราะสมองเป็นศูนย์บัญชาการหลักของร่างกายมนุษย์ หรือเปรียบเสมือน CPU หลักของคอมพิวเตอร์ แม้ว่าเซลล์สมองจะหยุดการแบ่งตัวไปแล้ว แต่การทำงานของเซลล์ประสาทจะถูกพัฒนาขัดเกลา ตัดทอน และส่งเสริมการทำงานอย่างต่อเนื่องจากการเลี้ยงดู การลงมือทำ การฝึกฝน และประสบการณ์ต่าง ๆ ของชีวิตผ่านกระบวนการอีก 3 กระบวนหลัก โดยกล่าวแบบคร่าว ๆ ไม่วิชาการมากนัก ได้แก่...

 

 

กระบวนการการสร้างจุดเชื่อมต่อกระแสประสาท (Synaptogenesis) ที่ทำให้สัญญาณประสาทสื่อสารไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ โดยทักษะที่ถูกขัดเกลาทำซ้ำ ๆ จนเกิดความเชี่ยวชาญชำนาญ กลุ่มของเส้นใยประสาทที่สั่งการทักษะนั้น ๆ จะมีกระบวนการหุ้มปลอกมัยอิลิน (Myelination) ทำให้สัญญาณประสาทสามารถสื่อสารได้เร็วมากขึ้น ในขณะที่ทักษะใดที่ไม่ค่อยได้ใช้งาน ไม่ได้ถูกฝึกฝนทำซ้ำ กลุ่มเส้นใยประสาทจะถูกตัดแต่งตัดทิ้งไปด้วยกระบวนการ Synaptic Pruning โดยกระบวนการหุ้มปลอกมัยอิลินและตัดแต่งเส้นใยประสาทจะดำเนินต่อไปจนอายุราว 20 - 25 ปี ก็จะหยุดลง

 

สิ่งที่ใช้งานบ่อยจะถูกเก็บไว้ และทำให้ดีขึ้น เร็วขึ้น ใช้งานได้ง่ายขึ้น สิ่งที่ไม่ได้ใช้งานก็จะถูกตัดทอนออกไป ทำให้เมื่อเป็นผู้ใหญ่ 20 - 25 ปีแล้ว แต่ละคนจึงมีเอกลักษณ์และวิถีชีวิตตรรกะชีวิตที่ไม่เหมือนกัน ทั้งในแบบที่ดีและไม่ดี ดังนั้นหากพูดถึงการเลี้ยงลูกให้ได้ดีแล้ว เรามักจะพูดถึง 2 ช่วงหลัก ๆ ก็คือ ‘ช่วงปฐมวัย’ และ ‘ช่วงก่อนวัยเป็นผู้ใหญ่’

 

 

ช่วงแรก คือ “การพัฒนาของสมอง” ซึ่งสมองจะโตได้ดีก็ต้องมี “อาหารกาย” และ “อาหารใจ” ที่ดี

 

  • อาหารกาย เริ่มต้นตั้งแต่ในครรภ์มารดา และอาหารชนิดแรกที่ทารกแรกเกิดควรได้รับและดีต่อร่างกายและสมอง คือ ‘นมแม่’ โดยเด็กควรได้รับนมแม่ให้ยาวที่สุดเท่าที่ยาวได้ เมื่อเริ่มกินอาหารก็ต้องครบห้าหมู่ พลังงานต้องพอ สารอาหารต้องครบถ้วน จะมาบังคับให้เด็กกินมังสวิรัติแบบไม่มีการเตรียมการมิได้ (อนึ่งการกินมังสวิรัติก็สามารถได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนได้ แต่ต้องวางแผนการกินให้ดีและควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เสมอ)

 

เด็กต้องการสารอาหารจากผลิตภัณฑ์จากสัตว์โดยเฉพาะ ‘โปรตีน’ และ ‘แร่ธาตุ’ อย่างธาตุเหล็กและสังกะสีที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของทั้งร่างกายและสมองด้วย ขนาดเด็กไทยที่รับประทานเนื้อสัตว์ยังพบว่าเกิดภาวะซีดจากการขาดธาตุเหล็กสูงถึง 10 - 25% เลย และอย่าลืมเรื่องของการนอนที่เพียงพอด้วย

 

 

  • อาหารใจ คือ ความปลอดภัยทางอารมณ์ มีพ่อแม่ที่มีอยู่จริง มีสายสัมพันธ์อันดีต่อกัน ไม่รุนแรง เพราะเมื่อเด็กสามารถเชื่อใจใครสักคนได้ในโลกใบนี้ สมองเด็กจะพัฒนาได้เต็มศักยภาพ ครอบครัวจึงสำคัญที่สุด งานวิจัยพบชัดเจนว่า “เด็กที่เติบโตมาอย่างถูกทอดทิ้งหรืออยู่ท่ามกลางความรุนแรง สมองจะโตไม่เท่าเด็กที่เติบโตมาด้วยความรักความอบอุ่นอย่างชัดเจน”

 

 

หลังจากปฐมวัยไปยันวัยรุ่น เป็นวัยที่เรียนรู้ชีวิต เรียนรู้โลก เรียนรู้วิชา และเรียนรู้ตัวเอง เป็นช่วงที่มีการพัฒนาทักษะทั้งหลายทั้งปวงที่จำเป็นต่อการเป็นผู้ใหญ่ นี่นับรวมทักษะทางวิชาการ วิชาชีพ ความรู้ และยังรวมถึงทักษะทางจิตสังคมต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการเอาตัวรอดและได้ดีในอนาคต ที่เราชอบเรียกมันว่า EF นั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นความจำนำใช้ความควบคุมตัวเอง การแก้ไขปัญหา ความยืดหยุ่นของสมอง และอื่น ๆ จนนำมาถึงการนับถือตัวเอง ความภาคภูมิใจในตัวเอง และอื่น ๆ อีกด้วย

 

 

สิ่งเหล่านี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการเลี้ยงดูในครอบครัวที่เพาะบ่มมาตั้งแต่ช่วง 5 ปีแรก เพราะ 5 ปีแรกเป็นอย่างไร 20 ปีต่อมาจนสมองหยุดตัดแต่งเส้นใยประสาทก็เป็นแบบนั้นนั่นแหละ มันคือเหง้าของครอบครัวนั้น ๆ และนี่คือเหตุผลที่เราควรให้ความสำคัญกับช่วงปฐมวัยนั่นเอง เพื่อเซลล์ประสาท 8.6 หมื่นล้านเซลล์ได้เติบโตอย่างเต็มที่ และแน่นอนว่าเด็กยังต้องได้เล่นอย่างเต็มที่เพื่อเติบโตอีกด้วยนะ