1743
เด็กที่มีความสุข

เด็กที่มีความสุข

โพสต์เมื่อวันที่ : March 22, 2021

หากถามคุณพ่อคุณแม่ว่า...“เป้าหมายของการเลี้ยงลูกของคุณคืออะไร ?”

 

เชื่อเหลือเกินว่า “เด็กที่มีความสุข” ย่อมเป็นหนึ่งในคำตอบที่คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่ตอบ เพราะการเลี้ยงให้เด็กคนหนึ่งเติบโตอย่างมีความสุขไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุขด้วยตนเองและอยู่รอดได้ย่อมเป็น ‘ทักษะชีวิต’ ที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 นี้ เพราะความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอดก็เห็นได้ทั่วไป สำหรับเด็กเล็ก พวกเขามักไม่ปิดบังหรือเสแสร้งความรู้สึก “ทุกข์” หรือ “สุข” ของตัวเองได้ คุณสมบัติของเด็กที่มีความสุขที่พ่อแม่สามารถนำไปสังเกตลูกได้ คือ...

 

 

ลูกเป็นเด็กที่ปกติ “ปกติ” ในที่นี้ก็คือ ใช้ชีวิตได้ตามปกติแบบเดียวกับเด็กทั่วไป กินได้ปกติ นอนได้ปกติ เล่นได้ปกติ และเติบโตได้ตามวัย โดยเราจะพบว่าเด็กป่วยรวมถึงเด็กที่ได้รับผลกระทบทางจิตใจ เช่น ซึมเศร้า เครียด ถูกกลั่นแกล้ง (บุลลี่) ถูกล่วงละเมิดทางเพศ หรือเติบโตท่ามกลางความรุนแรงในครอบครัวจะมีปัญหาเรื่องการกินและการนอน ไม่เล่นตามวัยที่ควรเป็น รวมถึงพัฒนาการที่ถดถอยอีกด้วย

 

ลูกเป็นเด็กที่มีปฏิสัมพันธ์อันดีกับคนรอบข้าง เด็กที่มีความสุขจะมีปฏิสัมพันธ์กับคนใกล้ชิดรอบตัวที่เขาไว้ใจ โดยเฉพาะครอบครัวและเพื่อนสนิท ไม่ว่าจะผ่านการพูดคุย เล่นหรือทำกิจกรรมร่วมกันในพื้นที่ปลอดภัยของตน เน้นย้ำว่าในพื้นที่ปลอดภัยกับคนที่คุ้นเคย เพราะการตอบสนองของเด็กในสถานการณ์อื่นกับบุคคลที่ไม่สนิทนั้นขึ้นกับพื้นอารมณ์ที่แตกต่างกัน

 

เด็กที่พื้นอารมณ์ง่าย (easy child) ก็อาจเข้ากับคนอื่นและปรับตัวเข้ากับสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมที่แปลกใหม่ง่ายกว่า เด็กที่ต้องการเวลาในการสร้างความคุ้นเคย (slow-to-warm up) อาจเฝ้ามองอยู่ห่าง ๆ ในพื้นที่ที่ปลอดภัยของเขา อาจเป็นอ้อมกอดหรือแอบอยู่หลังของพ่อแม่ก่อนสักระยะ ก่อนจะเริ่มทำความเข้าใจและคุ้นเคยกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า เด็กจะค่อย ๆ เข้าไปทำกิจกรรมได้ ในขณะที่เด็กที่พื้นอารมณ์ยาก (Difficult child) อาจไม่เข้าไปร่วมกิจกรรมหรือพูดคุยที่พื้นที่แปลกใหม่ที่ไม่คุ้นเคยก็ได้

 

เพราะเด็กเกิดมาเพื่อเรียนรู้ผ่านการเล่น สื่อสาร สร้างวงสังคม และเล่นกับผู้อื่นในพื้นที่ปลอดภัย เด็กที่มีความสุขจะเล่นและพูดคุยกับคนรอบข้างในแบบของเขา ในขณะที่เด็กที่ขาดความสุช รู้สึกไม่ปลอดภัยก็จะปลีกตัวของออกสังคม ไม่สื่อสารแม้กับคนในครอบครัวนั่นเอง

 

 

การเติบโตมาพร้อมกับการเป็นที่รัก ความรู้สึกปลอดภัยและมีความสุขเป็นพื้นฐานของพัฒนาการตามวัยที่ดีที่จะช่วยให้เด็กสร้างความรู้สึกของตัวตน (Sense of self) มีความเชื่อมั่นในตนเอง เป็นตัวของตัวเอง กล้าที่จะเรียนรู้ กล้าที่จะลงมือทำโดยที่ไม่กลัวความล้มเหลวเพราะเขารู้ว่ายังมีครอบครัวอยู่ข้างหลังที่คอยสนับสนุนเขาอยู่

 

การเลี้ยงลูกให้เป็นเด็กที่มีความสุข เริ่มต้นจาก การมีพ่อแม่และครอบครัวที่มีความสุข สื่อสารกันด้วยถ้อยคำที่ดี มีทัศนคติที่ดี เลี้ยงลูกแบบไม่ปะทะ ไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาทั้งทางร่างกายและคำพูด เปิดโอกาสให้ลูกได้เติบโตในแบบของเขา ให้โอกาสให้ลูกได้ลงมือทำ ชื่นชมในสิ่งที่เขาทำได้ดีในแบบของเขา ชื่นชมในความพยายามและตั้งใจดีมากกว่าตัดสินที่ผลลัพธ์สุดท้ายที่ออกมา เพราะหลายครั้งผลลัพธ์อาจไม่สวยงามและลูกได้พยายามอย่างเต็มที่แล้ว

 

"การชื่นชม" เพื่อให้เขาได้รู้สึกว่าพ่อแม่เห็นถึงความพยายามและความตั้งใจดีของเขา จะทำให้เขาไม่ทุกข์กับผลลัพธ์ที่ออกไม่ได้ดีเลิศและยังเป็นแรงผลักดันให้ลูกรู้สึกอยากทำซ้ำ อยากทำให้ดีขึ้นกว่านี้อีก จับถูกมากกว่าจับผิด พฤติกรรมที่ไม่ดีดุได้อย่างสมเหตุผล ให้เขาได้เรียนรู้ผลของการกระทำที่ไม่ดีของตัวเองบ้าง โดยมีพ่อแม่อยู่เคียงข้างแต่ไม่เข้าข้าง ไม่ทำแทน

 

อย่าลืมเป็นตัวอย่างที่ดีในทุกมุมมองของชีวิตเพื่อให้ลูกซึมซับวิถีการใช้ชีวิตที่ดีจากเราด้วย ไม่มองโลกในแง่ร้ายจนเกินไป มีสติ และที่สำคัญคือ ใช้เวลาคุณภาพร่วมกันเท่าที่สามารถทำได้อย่างสม่ำเสมอโดยเฉพาะในช่วงปฐมวัยซึ่งถือเป็นวัยที่สำคัญที่สำคัญที่สุดในการสร้างสายสัมพันธ์อันดีระหว่างกันและปลูกฝังตัวตนที่ดีให้กับลูก

 

..."เด็กที่มีความสุข คือ เด็กที่พร้อมจะเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพของเขา ซึ่งพ่อแม่อย่างเราสร้างได้ครับ"...