248
ดูแลครอบครัวอย่างไรในความไวระดับ 5G

ดูแลครอบครัวอย่างไรในความไวระดับ 5G

โพสต์เมื่อวันที่ : April 3, 2021

หลายครอบครัวใช้สื่อเทคโนโลยีในการเชื่อมโยงสัมพันธภาพ ส่งไลน์บอกรัก วิดีโอคอลเชื่อมสัมพันธ์ ใช้โซเชียลมีเดียในการอัพเดตชีวิตให้กับญาติที่อยู่ไกลได้เห็นความเป็นไปของคนในครอบครัว สื่อเทคโนโลยี จึงเข้ามามีบทบาททำให้ไกลกลายเป็นใกล้ แต่ในขณะเดียวกัน "สื่อเทคโนโลยี" ก็กลับกลายเป็นตัวกลางคั่นระหว่างความสัมพันธ์

 

เราพบคนก้มหน้าบนโต๊ะอาหาร มากกว่าการพูดคุยถามสารทุกข์สุขดิบ เราพบคนเดินจับมือกัน แต่มืออีกข้างและตาคู่นั้นกลับอยู่กับสิ่งอื่น เราพบพ่อแม่ ที่เวลาอันน้อยนิดอันมีค่า กลับถูกนำไปใช้กับโลกออนไลน์ ไม่ใช่ “โลกที่เป็นของลูก” เราอ่านข่าวที่นำมาซึ่งความเศร้าสลด

...“แม่มัวก้มหน้าเล่นมือถือ ลูกจมน้ำตายไร้คนช่วยเหลือ”...

...“พ่อเล่นมือถือขณะข้ามถนน เด็กไม่เห็นรถ ถูกชนดับอนาถ”...

...“พ่อโมโหเล่นเกมแพ้ ทุ่มลูกสองขวบดับคาที่”...

 

ในยุคที่ความรวดเร็วและความเร้าใจในโลกออนไลน์เข้ามามีความหมายกับชีวิตครอบครัว การเปิดใจ การเข้าใจ และการฝึกใจ จึงมีความหมายกับความสัมพันธ์ หมอแนะนำพ่อแม่เรื่องการใช้เทคโนโลยีแบบนี้นะคะ

 

✩ เปิดใจ ว่าสื่อเทคโนโลยีไม่ได้มีแต่เรื่องเลวร้าย หลายบ้านปิดกั้นกันจนอึดอัดใจ “ห้ามเล่นเกม” "ห้ามดูทีวีเด็ดขาด” มองสื่อเทคโนโลยีด้วยมุมมองที่เป็นลบ จนตามมาด้วยความสัมพันธ์เชิงลบ การเปิดใจว่าเทคโนโลยีสามารถช่วยให้เราพัฒนาขึ้นได้หลากหลายด้าน เปิดโอกาสเราและลูกใช้โดยควบคุมมันได้ ดีกว่าปิดกั้นโลกของลูกไม่ให้รู้จักสิ่งนั้นเลย

✩ เข้าใจ แม้สื่อเทคโนโลยีจะมีประโยชน์มากมาย แต่มันก็เป็นมหันตภัยที่ยิ่งใหญ่ได้ เพราะการใช้ที่มากไป ก็ทำให้ติดแบบเลิกไม่ได้ไม่ต่างอะไรกับการติดยา สื่อเทคโนโลยีไม่ได้ส่งผลเฉพาะแง่ดีกับสมอง แต่ส่งผลลบ ทั้งปัญหาด้านอารมณ์ วิตกกังวล ซึมเศร้า สมาธิไม่ดี ก้าวร้าวรุนแรง ขาดการใช้เวลาไปพัฒนาทักษะด้านอื่นในชีวิต การเข้าใจ และรู้เท่าทันที่จะควบคุมตัวเอง ไม่ให้สื่อหรือหน้าจอเข้ามามีบทบาทมากเกินไปในชีวิต จะช่วยให้เราได้รับพิษจากสื่อเทคโนโลยีแบบที่เรายังจัดการได้

 

✩ ฝึกใจ การฝึกใจ ที่จะควบคุมการใช้สื่อเทคโนโลยี หลีกเลี่ยงการใช้สื่อขณะที่เป็นเวลาของครอบครัว ไม่เล่นโทรศัพท์ขณะกินข้าว ไม่ก้มดูหน้าจอไปเล่นกับลูกไป ไม่ใช้เวลาที่ควรจะได้พูดคุยกันส่วนใหญ่ไปกับใครที่ไม่ใช่คนในบ้าน การฝึกใจที่จะเคารพกติกาเพื่อการสร้างวินัยและเป็นตัวอย่างแก่กันและกันที่ดี

 

สำหรับพ่อแม่ที่มีลูกในครอบครัว หมอมีคำแนะนำดังนี้นะคะ

  • ไม่แนะนำให้เด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี เล่นสื่ออิเล็กทรอนิกส์ถ้าไม่จำเป็น
  • เด็กอายุ 3-6 ปี เล่นหน้าจอใด ๆ ควรอยู่ภายใต้การดูแลใกล้ชิดของผู้ปกครอง
  • เด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี ไม่ควรมีสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก, อินสตาแกรม เป็นของตนเอง
  • พ่อแม่ควรช่วยลูกควบคุมเรื่องกติกาในการเล่น เวลาหน้าจอปกติไม่ควรเกินวันละ 1-2 ชั่วโมง ในวันธรรมดา และ 2-3 ชั่วโมงในวันหยุด ควรเล่นหลังทำงานที่ต้องทำเสร็จ เช่น การบ้าน และงานบ้าน และไม่ควรให้เล่นหน้าจอก่อนเวลานอนอย่างน้อย 1 ชั่วโมง

  • ตั้งกติกาของบ้าน ที่จะ “ไม่มีหน้าจอ” ซึ่งรวม ทีวี โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ ไว้ในห้องนอนลูก และสถานที่ที่ควรใช้เวลาร่วมกัน เช่น บนโต๊ะอาหาร ห้องโถงกลาง หรือห้องรับแขก
  • มีกติกาที่กำหนดจริงจัง ว่าถ้าไม่ทำตามกติกา จะเกิดอะไรขึ้น เช่น หยุดพักการใช้ไปก่อนกี่วัน
  • มีกิจกรรมอื่นทดแทน เช่น การเล่นกับพ่อแม่

 

เราทุกคนล้วนอยากมีความหมาย อยากเป็นคนสำคัญ อยากมีความสุข อยากสนุก และหลายครั้งสื่อเทคโนโลยี ก็ตอบสนองต่อสิ่งเหล่านั้นได้เป็นอย่างดี คงจะดี ที่เราจะใช้ “สัมพันธภาพที่ดี” ที่เรามีต่อกัน ตอบโจทย์เหล่านี้...แทนการใช้หน้าจอ