เชื่อมโยงสายใยผ่านเรื่องเล่า
มีหนังสือมากมายที่แม่ ๆ สามารถอ่านร่วมกับลูก ๆ เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันใกล้ชิด
เด็กน้อยนั่งเล่นตัวต่ออยู่ที่พื้น เขาจะตั้งใจจัดเรียงบล็อกให้กลายเป็นหอคอยสูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ หรือเวลาเด็กเล่นบทบาทสมมติกับของเล่น หรือเพื่อนในจินตนาการ การพูดคุยตอบโต้เต็มไปด้วยจินตนาการ "รู้มั้ยคะ...ว่าการเล่นอิสระของลูกไม่ได้เป็นแค่การเล่นสนุก ๆ แต่ยังเป็นการฝึกทักษะคณิตศาสตร์อย่างลึกซึ้งด้วย"
คือการที่เด็ก ๆ ได้เล่นในแบบที่พวกเขาคิดและสร้างสรรค์เอง โดยไม่มีข้อบังคับหรือกติกาที่ตายตัว การเล่นอิสระ ไม่ได้หมายถึง การปล่อยให้เด็กๆเล่นคนเดียว คุณพ่อคุณแม่สามารถร่วมเล่นกับลูกได้ แต่ต้องเป็นผู้ร่วมเล่นที่ดี ห้ามแทรกแซง ให้ลูกเป็นเจ้าของการเล่น และเป็นเจ้าของการเรียนรู้ เช่น การเล่นตัวต่อ บล็อกไม้ การขีดเขียน ระบายสี เล่าเรื่อง การเล่นเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาทักษะทางคณิตศาสตร์โดยธรรมชาติที่พ่อแม่หลายคนอาจไม่เคยคิดถึง
การเล่นอิสระกับทักษะทางคณิตศาสตร์
งานวิจัยหลายชิ้นชี้ให้เห็นว่า การเล่นอิสระมีผลดีต่อการพัฒนาทักษะคณิตศาสตร์ของเด็ก ๆ มากกว่าที่เราคิด ดร.ลอเรน เซอร์เบิร์ก (Lauren Storkburg) ศาสตราจารย์ด้านพัฒนาการเด็กจากมหาวิทยาลัยจอห์นส์ฮอปกินส์ ได้กล่าวว่า การเล่นที่ไม่มีกรอบแน่นอนช่วยกระตุ้นให้สมองของเด็กเกิดการเชื่อมโยงระหว่างแนวคิดทางคณิตศาสตร์ต่าง ๆ เช่น การคิดเชิงปริมาณ (Quantitative reasoning) การจดจำรูปแบบ (Pattern recognition) และการเรียนรู้เรื่องมิติและพื้นที่ (Spatial awareness)
ตัวอย่างเช่น
การเล่นบล็อกไม้ เด็กจะได้เรียนรู้เรื่องรูปทรงและความสัมพันธ์ระหว่างขนาดเมื่อพยายามจัดเรียงบล็อกให้เป็นรูปทรงที่พวกเขาต้องการ การเล่นต่อจิ๊กซอว์ที่เด็ก ๆ จะต้องคิดวิเคราะห์ว่าชิ้นส่วนใดเข้ากันได้บ้าง ซึ่งเป็นการฝึกฝนทักษะการแก้ปัญหาเชิงตรรกะไปในตัว การเล่นทราย ก่อให้เป็นรูปร่าง เด็กๆต้องวางโครงสร้างว่าต้องการก่อทรายเป็นรูปร่างอะไร ก่อทรายขึ้นไปสูงแค่ไหนปราสาททรายถึงจะไม่พังทลายลงมา นี่ก็ต้องใช้ความรู้เรื่องรูปทรง สมดุล มิติสัมพันธ์ เป็นต้น
การเล่นคือการเรียนรู้ คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจจะกังวลว่าลูกจะไม่เก่งคณิตศาสตร์ถ้าไม่ได้ฝึกทำโจทย์บ่อย ๆ แต่อันที่จริงแล้ว การเล่นอิสระอาจจะเป็นวิธีที่ทำให้เด็ก ๆ ซึมซับแนวคิดทางคณิตศาสตร์ได้โดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวัยอนุบาลที่สมองของเด็กกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว
ดร.เซอร์เบิร์ก (Lauren Storkburg) ยังระบุด้วยว่า "การเล่นเป็นกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาเส้นทางการเชื่อมต่อในสมองของเด็ก ๆ ในลักษณะที่การเรียนแบบการนั่งฟังอย่างเดียวทำไม่ได้" เธอกล่าวว่าการให้เด็กได้มีโอกาสคิดเอง สร้างเอง ทำให้พวกเขาพัฒนาทักษะเชิงคณิตศาสตร์โดยอัตโนมัติ
การเล่นที่ส่งเสริมคณิตศาสตร์
นอกจากการเล่นตัวต่อหรือบล็อกแล้ว ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ ที่ช่วยเสริมสร้างทักษะคณิตศาสตร์ได้ เช่น การเล่นกับทรายหรือดินน้ำมัน เด็กจะได้ฝึกการคำนวณน้ำหนักหรือปริมาตรโดยไม่รู้ตัว การวาดรูปหรือระบายสีก็ช่วยให้พวกเขาเรียนรู้เรื่องรูปทรงเรขาคณิต (geometry) และความสมดุล
พ่อแม่สามารถส่งเสริมการเล่นอิสระเหล่านี้ได้ง่าย ๆ เพียงแค่เปิดพื้นที่ให้ลูกได้คิดสร้างสรรค์เอง ไม่ต้องเร่งรีบสอน แต่ปล่อยให้เขาค้นพบด้วยตัวเอง การเล่นไม่เพียงแต่ทำให้ลูกสนุก แต่ยังช่วยเตรียมพื้นฐานที่แข็งแรงสำหรับการเรียนคณิตศาสตร์ในอนาคตด้วยค่ะ
ท้ายที่สุดแล้ว การเรียนคณิตศาสตร์ไม่ใช่แค่การฝึกทำโจทย์ในหนังสือ แต่เป็นเรื่องของการให้เด็กได้สัมผัสและเข้าใจแนวคิดพื้นฐานผ่านการเล่นอิสระ เมื่อเราปล่อยให้เด็กได้ใช้จินตนาการและทักษะเชิงตรรกะในการเล่น พวกเขากำลังเรียนรู้คณิตศาสตร์โดยธรรมชาติ ซึ่งเป็นการสร้างพื้นฐานการเรียนรู้ที่ยั่งยืนในระยะยาว
ดังนั้นครั้งต่อไปเมื่อเห็นลูกเล่นบล็อกหรือจิ๊กซอว์อยู่ ก็อย่าเพิ่งคิดว่าพวกเขากำลังเสียเวลา แต่พวกเขากำลังพัฒนาทักษะทางคณิตศาสตร์ที่สำคัญอย่างยิ่งในการใช้ชีวิตในอนาคตอยู่ค่ะ