ข่าวประชาสัมพันธ์ : คิดคลับส์ ชวนเที่ยว Astro Night Family Camp
ชวนคู่พ่อลูก อายุ 6 - 12 ปี มาร่วมสร้างช่วงเวลาแห่งความประทับใจกับกิจกรรม Astro Night Family Camp
...“ลูกไม่ยอมตื่นนอน”...“ลูกกินข้าวช้ามาก ๆ ค่ะ”...
...“ลูกดู Youtube จนดึกเลยค่ะ”...“ลูกไม่ยอมอาบน้ำ ไม่ได้เล่นเกมก่อนทุกครั้ง”...
...“ลูกไม่ยอมทำการบ้าน”...ฯลฯ
ปัญหาข้างต้นนั้นมีรากปัญหามาจาก "บ้านขาดวินัย" ซึ่งบ้านที่ขาดวินัยอาจจะลากยาวไปถึงต้นตอปัญหาที่แท้จริง คือ "การขาดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพ่อแม่กับลูก" ดังนั้นก่อนจะสร้างวินัยให้กับลูก เราต้องสร้างฐานความสัมพันธ์ระหว่างเรากับลูกให้มั่นคงเสียก่อน สำคัญมาก เพราะถ้าเราเป็นพ่อแม่ที่ไม่มีอยู่จริงสำหรับเขา คำสอนเราก็ไม่มีอยู่จริงเช่นกัน
"เวลาคุณภาพ" จำเป็น แม้วันละน้อยนิด แต่มีคุณภาพ มีให้ทุกวัน และมีให้สม่ำเสมอ ความสัมพันธ์สามารถก่อตัวขึ้นได้จริง ถ้าเราเห็นความสำคัญของสิ่งใด เราจะทำให้เรามีเวลาเพื่อสิ่งนั้นเอง เมื่อเรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกแล้ว สิ่งต่อมาที่เราสามารถสอนลูกได้ คือ "วินัย"
☞ 1. หน้าที่ความรับผิดชอบ สิ่งที่จำเป็นต้องทำแม้ไม่อยากทำ เพื่อคุณภาพที่ดีของชีวิต
☞ 2. เวลา กาลเทศะ สิ่งที่กำหนดว่าเราจะต้องทำหน้าที่นั้นที่ไหน เมื่อไหร่ และมีระยะเวลในการทำแค่ไหน
ทั้ง 2 องค์ประกอบนี้ เป็นสิ่งที่พูดง่าย แต่ทำได้ยาก ดังนั้น "ตารางเวลา" จึงเป็นตัวช่วยที่สำคัญในการสร้างวินัยให้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม
สมัยเรียนเราคงคุ้นเคยกับคำว่า "ตารางสอน" มากกว่า ตารางสอนนอกจากจะบอกเราว่าวันนี้มีเรียนอะไร เวลากี่โมงถึงกี่โมง ที่ห้องอะไร เรียนกับใครแล้ว ตารางสอนยังช่วยให้เราจัดของมาเรียนได้ตรงตามวิชา และใส่ชุดมาเรียนได้ตรงตามวันที่มีกิจกรรมพิเศษ
“ตารางเวลา” ก็ทำหน้าที่เช่นเดียวกันกับตารางสอน แต่เปลี่ยนจากวิชาที่ต้องเรียน เป็นสิ่งที่ต้องทำ ดังนั้นตารางเวลาจึงช่วยให้เรารู้ว่าต้องทำอะไรบ้างในแต่ละวัน ต้องทำเมื่อไหร่ และมีใครที่จะทำกับเราบ้าง
บางบ้านบอกว่า “ไม่มีตารางเวลาได้ไหม ?” อย่างที่กล่าวไปข้างต้น “ตารางเวลา” คือ ตัวช่วยในการสร้างวินัย ถ้าหากบ้านเรามีวินัย และทุกคนรู้หน้าที่แล้ว ตารางเวลาอาจจะไม่จำเป็น แต่มีได้เช่นกัน เพื่อจะได้รู้ว่า ในแต่ละวันของเราและคนในบ้านต้องทำอะไรบ้าง
แต่สร้างมาเพื่อคนในครอบครัวให้ปฏิบัติตาม ดังนั้นพ่อแม่ไม่ได้อยู่เหนือลูก และลูกไม่ได้อยู่เหนือพ่อแม่ แต่เป็นตารางเวลา(และกฎ) ของครอบครัวที่อยู่เหนือเราทุกคน ดังนั้นทุกคนในครอบครัวควรเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างตารางร่วมกัน
☺︎ บ้านเรามีงาน หรือ กิจกรรมอะไรบ้างที่ต้องทำในแต่ละวัน เริ่มตั้งแต่ตื่นนอนไปจนถึงการเข้านอน
☺︎ แต่ละคนมีงาน หรือ กิจกรรมส่วนตัวอะไรบ้างที่ต้องรับผิดชอบ (ที่ไม่ใช่งานส่วนรวม)
จากนั้นให้ทำตารางเวลาแบ่งเป็นวัน 7 วัน และเวลาที่เริ่มจากตื่นนอนสิ้นสุดที่เข้านอน ทั้งนี้แต่ละบ้านอาจจะออกแบบโครงสร้างตารางเวลาตามความเหมาะสมกับบ้านของเรา มีตัวอย่างมากมายใน Google แค่เพียง ค้นหาคำว่า "daily schedule" "routine time table" "family time" หรือ ถ้าอยากได้แบบตารางเวลาภาพสำหรับเด็กเล็กสามารถค้นหาคำว่า "visual schedule" ได้ แต่ละบ้านสามารถออกแบบตารางเวลาให้เหมาะกับเราและวัยของลูกได้เอง
☺︎ ให้นำงานหรือกิจกรรมที่จำเป็นต้องทำในเวลาเฉพาะใส่ลงไปในตารางก่อน ได้แก่...
เวลาตื่นนอน : ตื่นเวลาไหน นอนเวลาไหน เช่น เด็กเล็กควรนอน 10-12 ชั่วโมง และควรนอนหลับสนิท 21.00 เพราะ Growth Hormone (ฮอร์โมนที่ทำให้ร่างกายเจริญเติบโต) หลั่งช่วงประมาณ 22.00-02.00 น) ก่อนเข้านอนไม่ควรมีกิจกรรมที่มีสิ่งเร้า เช่น ดูไอแพด ดูทีวี แต่ควรเป็นการอ่านนิทานมากกว่า
เวลากินข้าว : ควรกินเป็นเวลาที่เดิมที่สม่ำเสมอทุกวัน (ควรตั้งระยะเวลาในการกินข้าวไว้ที่ 30 นาที) การทำงานบ้าน การทำการบ้าน : ทำเมื่อกลับถึงบ้านก่อนจะไปเล่นหรือทำอย่างอื่น
ที่สำคัญพ่อแม่ต้องรู้เวลา เพราะเด็ก ๆ อาจจะยังดูเวลาไม่เป็น แต่เมื่อทำไปเรื่อย ๆ เขาจะรู้เวลาอัตโนมัติ
☺︎ แม้ว่าบางอย่างจะเป็นงานของเด็ก เช่น การทำการบ้าน กินข้าว ดูการ์ตูนพักผ่อน หรือ การออกไปวิ่งเล่นนอกบ้าน แต่พ่อแม่ควรทำตามกิจกรรมเหล่านี้ไปพร้อมลูกเช่นกัน เพราะระหว่างลูกทำกิจกรรมเหล่าน้ี เขาต้องการเรา เช่น เวลาลูกทำการบ้าน ถ้าเขาทำได้เองแล้ว เราอาจจะนั่งทำงานใกล้ ๆ เขาไปด้วย เผื่อเวลาที่เขาจะถามเรา เราจะได้ช่วยเหลือเขาได้ ที่สำคัญเด็กจะเลียนแบบเราด้วยว่า ขนาดพ่อแม่ก็มีช่วงเวลาทำงานของตัวเองเช่นกัน เขาก็ควรทำการบ้าน หรือ เวลากินข้าวของลูกก็ควรเป็นเวลากินข้าวของเรา เราควรกินไปพร้อมกันตลอด 30 นาที เรากินของเรา เขากินของเขา และพูดคุยกัน (ไม่ป้อนข้าวลูก หรือ นั่งดูทีวีระหว่างกิน)
ที่สำคัญกิจกรรมการเล่นหรือดูการ์ตูนก็เป็นสิ่งที่ควรทำไปพร้อมกัน เพราะนอกจากจะสร้างความสัมพันธ์ในงอกเงยระหว่างเรากับลูกแล้ว เรายังมีโอกาสทำความรู้จักลูกเรา สอนลูกเรามากขึ้นอีกด้วย
☞ กิจกรรมหลัก คือ กิจกรรมที่ควรทำในช่วงเวลาและสถานที่ดังกล่าว เป็นหน้าท่ี และจำเป็นต้อทำเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี
☞ กิจกรรมรอง คือ กิจกรรมที่เราอยากทำ แต่ไม่จำเป็นหรือไม่ควรทำในเวลาดังกล่าว เช่น เราไม่ควรกินข้าวพร้อมกับดู Youtube หรือ เล่นมือถือไปด้วย เพราะเวลากินข้าว เด็กควรเรียนรู้ว่า เราควรกินข้าว ไม่เช่นนั้นเขาจะเรียนรู้ว่า ถ้ากินข้าวต้องมี Youtube ถึงจะกินได้ เรากำลังติดสินบนให้เด็กกินข้าวอยู่
คือ เรียงลำดับความสำคัญของงานหรือกิจกรรมลงใส่ตารางเรียบร้อย มีเวลากำกับ สถานที่ชัดเจนแล้ว สิ่งสุดท้าย คือ ผลลัพธ์เมื่อเราทำตามตารางเวลาไม่ได้
ยกตัวอย่าง หากเด็ก ๆ ไม่สามารถทำตามตารางได้ เช่น เขาอาจจะไม่ได้ไปทำกิจกรรมที่ชอบ เพราะต้องทำกิจกรรมที่จำเป็นหรือทำงานตามหน้าที่ให้เสร็จทั้งหมดเสียก่อน โดยพ่อแม่จะช่วยในการกำกับดูแล จนเขาสามารถทำได้จนเสร็จ เพราะบ่อยครั้งที่เด็กทำไม่ได้ เนื่องจากเขายังไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ดีพอ ในฐานะพ่อแม่เราควรเข้ามาช่วยเขาควบคุมตนเองก่อน แต่ถ้าลูกสามารถรับผิดชอบต่อหน้าที่และทำตามตารางได้ พ่อแม่ชื่นชมเขาด้วย เพราะกำลังใจดี ๆ ทำให้เราเห็นคุณค่า และมีแรงทำสิ่งนั้นต่อไป
"ตารางเวลา" แม้ว่าช่วงเเรกเราต้องทำให้อยู่ในลักษณะรูปธรรมที่จับต้องได้ (เป็นกระดาษ เขียนบนกระดาน) แต่เมื่อเราทุกคนในครอบครัวทำทุกวันจนกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต เราจะมองดูตารางเวลาน้อยลง เพราะร่างกายเราจดจำได้แล้วว่า เราควรทำอะไรก่อน-หลัง หรือ เราไม่ควรทำอะไร ดังนั้นเมื่อเราถึงจุด ๆ นั้น เด็กและพ่อแม่จะจัดการควบคุมชีวิตของตนเองได้ดีขึ้น แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี และมีเรื่องที่จะทะเลาะกันน้อยลง เพราะต่างคนต่างรู้หน้าที่ ควบคุมตัวเอง ไม่ใช่พ่อแม่ต้องมาควบคุมลูก หรือลูกมาควบคุมพ่อแม่ เพราะตางรางเวลาควบคุมทุกคน
ตารางเวลาที่ดี จึงเป็นเพียงแค่เครื่องหมาย หากแต่ "ความตั้งใจอันแน่วแน่" และ "ความรัก" ในครอบครัวจะทำให้เราทำสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นได้จริง คำสัญญาที่เรามีให้กันผ่านตารางเวลา พ่อแม่ควรเป็นแบบอย่างให้กับลูก โดยการพูดคำไหนคำนั้น ตรงต่อเวลา และทำหน้าที่พ่อแม่ให้ลูกของเรา
สุดท้าย แม้ตารางเวลาจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้างวินัยที่ดี ไม่ใช่แค่สร้างกับลูก แต่สร้างให้กับทุกคนในบ้าน หากบ้านไหนสร้างมันขึ้นมาแต่ไม่ทำตามมัน ตารางเวลาของบ้านนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับเศษกระดาษแผ่นหนึ่ง
...”อยากสร้างความสัมพันธ์ พ่อแม่ต้องมีเวลาคุณภาพให้ลูก”...
...”อยากสร้างวินัย พ่อแม่ต้องลงมือทำไปพร้อมกับเขา”...