ข่าวประชาสัมพันธ์ : คิดคลับส์ ชวนเที่ยว Astro Night Family Camp
ชวนคู่พ่อลูก อายุ 6 - 12 ปี มาร่วมสร้างช่วงเวลาแห่งความประทับใจกับกิจกรรม Astro Night Family Camp
คุณพ่อคุณแม่หลายท่านเคยอ่านพบว่า หากลูกกรี๊ดเอาแต่ใจตัวเอง ให้วางเฉยกับเสียงโวยวายของลูก รอจนกว่าลูกสงบแล้วค่อยสอนหรือคุย เป็นการฝึกให้ลูกรู้จักตัดใจ ลูกจะไม่ติดเอาแต่ใจ
ข้อมูลที่คุณพ่อคุณแม่ทราบมานี้ไม่ผิดค่ะ แต่เราอาจทราบไม่หมด เราจะใช้เทคนิคเพิกเฉยได้ก็เมื่อเด็กต้องสื่อสารเข้าใจพอได้ และมีปฏิสัมพันธ์เชิงบวกกับพ่อแม่มากพอ ซึ่งก็ควรอายุประมาณ 18 เดือนขึ้นไป
ในวัยที่ลูกยังสื่อสารเป็นคำพูดไม่ได้มาก เช่น ขวบนิด ๆ ที่พูดได้ คำสองคำ หรือวัยที่ยังไม่รู้จักการสื่อสารเลย อย่างวัย 6-8 เดือน พ่อแม่ควรสอนให้เด็กรู้จักฟัง-พูด-สื่อสารให้เป็นเสียก่อน โดยต้องแสดงภาษากายพร้อมภาษาพูด จึงจะช่วยให้เด็กตีความหมายคำพูดนั้นได้ เช่น พ่อแม่ทำตาโต สีหน้ายิ้ม พูดว่า ...“เก่งจังเลย”... แบบนี้แปลว่า พ่อแม่กำลังชมหนู แต่ถ้าพ่อแม่หน้ายิ้มลดลง แต่พูดช้า ๆ ชัด ๆ ว่า “ไป-ข้าง-นอก” ตอนหนูชี้นิ้ว แปลว่า หนูควรจะพูดตามว่า “นอก ๆ”
การอ่านสีหน้า ท่าทางและน้ำเสียงของพ่อแม่ จะช่วยให้ลูกเข้าใจว่าประโยคไหนคืออธิบาย คำไหนจะให้พูดตาม คำไหนคือคำสั่งที่ต้องไปทำ เมื่อได้สื่อสารกับแม่บ่อย ๆ ลูกก็จะพูดบอกความต้องการและพูดตอบคำถามได้ รวมทั้งยังมีคำพูดสื่อความหมายมากขึ้นทุกวัน
สำหรับเด็กน้อยกว่า 18 เดือน การสื่อสารยังไม่พัฒนามาก ลูกอาจไม่เข้าใจประโยคที่แม่บอกว่า ...“รอให้ลูกสงบก่อน ค่อยคุยกัน”... เมื่อลูกไม่เข้าใจก็จะกรี๊ดมากขึ้น คิดไปว่าแม่ทอดทิ้ง ดังนั้นหมอขอแนะนำให้รับมือดังนี้ ฝึกพัฒนาการด้านการสื่อสารตั้งแต่ลูกเล็ก ๆ ซึ่งไม่ได้หมายถึงพูดได้เท่านั้น แต่ต้องฟังเป็นด้วย
✚ เบี่ยงเบนมาเล่นกับพ่อแม่ ✚
เล่นสนุกโดยไม่ต้องใช้สิ่งของ เช่น วิ่งไล่จับ เล่นจั๊กจี้ เป่าพุง เอาให้ลูกหัวเราะเอิ๊กอ๊าก เมื่อลูกสนุกจริง ลูกจะลืมอารมณ์ขัดใจเมื่อสักครู่ และเปลี่ยนมาเล่นกับคุณแม่แทน
✚ เบี่ยงเบนมาคิดหรือทำงานร่วมกับพ่อแม่ ✚
เช่น ชวนลูกคิดว่า “ไหน ๆ ประตูห้องอยู่ไหนคะ ช่วยหาหน่อยย” หรือ ชวนลูกใส่ของ ...“อุ้ย ๆ ยังไม่ได้ใส่ชิ้นนี้เลยนี่นา”... การเบี่ยงเบนให้คิดเรื่องอื่น หรือหางานให้ทำเล็ก ๆ น้อย สมองส่วนคิดของลูกจะทำงานทดแทนสมองส่วนอารมณ์ ช่วยให้ลูกเงียบ
✚ เบี่ยงเบนด้วยของเล่นหรือพาไปที่อื่น ✚
เช่น ชี้ให้ลูกสนใจของเล่นชิ้นใหม่ หรือพาออกไปเดินเล่น ลูกจะลืมไปว่าเมื่อสักครู่โวยวายอะไรอยู่ และสนใจสิ่งเร้าใหม่แทน
หมอขอแนะนำให้ใช้ 3 วิธีสลับกันไป แต่ให้ใช้วิธีเบี่ยงเบนมาเล่นกับพ่อแม่และเบี่ยงเบนมาคิดหรือทำงานร่วมกับพ่อแม่มากกว่า เพราะเป็นวิธีที่พ่อแม่มีตัวตน
พ่อแม่ต้องมีตัวตนมากกว่าของเล่น พ่อแม่ต้องเลือกการเล่นที่สามารถลสบตา และส่งอารมณ์ร่วมกันได้ เช่น ชวนลูกเล่นจ้ะเอ๋ ชวนร้องเพลง เช่น จับปูดำ, โยกเยกเอย, wheel on the bus, ชวนลูกเต้น, ชวนสนุกกับการเล่นสีหน้าหลากหลายของเรา ฯลฯ เกมอะไรก็ได้ที่เน้น “สบตาและสีหน้าท่าทางของพ่อแม่” ไม่ควรเล่นแต่ของเล่นอย่างเดียว โดยเฉพาะเล่นแล้วไม่ได้สบตากัน
ดังนั้น “แม่มีตัวตน” จึงไม่ได้มีความหมายว่าอยู่กับลูกทั้งวัน หรืออ่านนิทานกับลูกทุกคืน พ่อแม่ควรเล่นกับลูกแบบไร้ของเล่นให้เป็นด้วย ลูกจะบันทึกภาพแม่ที่แววตามีความสุขร่วมกันได้ ช่วยทำให้รู้สึกมั่นคงทางจิตใจ
หมอพบว่า ปัญหาเด็กชอบกรี๊ดอายุน้อยลงเรื่อย ๆ บางคน 7-8 เดือน ก็เริ่มกรี๊ดแล้ว สาเหตุส่วนใหญ่มาจาก “พ่อแม่ไม่มีตัวตน” แต่ “ของเล่นมีตัวตนมาก” เราอาจจะมีของเล่นมากและเน้นเล่นเพื่อพัฒนาการลูกโดยละเลยการสบตา “เอาตัวเอง” เป็นของเล่นไปเรื่อย ๆ แม้ลูกโตขึ้นมีของเล่นมากมาย เขาก็ยังชอบอยู่ จนลูกอายุมากกว่า 18 เดือน มีพัฒนาการด้านการสื่อสารสมวัย ก็จะพร้อมสำหรับเทคนิคเพิกเฉยค่ะ