572
“เด็กติดรางวัล” เมื่อผู้ใหญ่ใช้การติดสินบน

“เด็กติดรางวัล” เมื่อผู้ใหญ่ใช้การติดสินบน

โพสต์เมื่อวันที่ : December 12, 2021

ตัวอย่างเหตุการณ์

เด็กชายวัยอนุบาลคนหนึ่ง เขาจะยอมทำอะไรสักอย่าง ผู้ใหญ่ต้องมีขอแลกเปลี่ยนกับเขา ซึ่งถ้าสิ่งนั้นไม่เป็นที่พอใจ เขาจะไม่ยอมทำเลย วันนี้ก็เป็นอีกวันเช่นกันที่คุณแม่ต้องต่อรองกับเด็กชายเพื่อให้เขาไปโรงเรียน

 

เด็กชาย : ไม่ไปโรงเรียน
แม่ : ถ้าไปโรงเรียนวันนี้ ตอนเย็นแม่จะพาไปกินไอศครีม
เด็กชาย : ไม่เอา จะเอาโปเกมอน จะกินเฟรนซ์ฟราย
แม่ : ได้ ๆ แต่ต้องไปโรงเรียนนะ
เด็กชาย : (ยอมไปโรงเรียน โดยมีรางวัลรอเขาอยู่หลังเลิกเรียน)

 

ไม่ใช่แค่เพียงไปโรงเรียน บางครั้ง แค่ต้องให้เด็กชายยอมนั่งกินข้าวดี ๆ ผู้ใหญ่ต้องมีขอแลกเปลี่ยนกับเขาเสมอ

 

พ่อ : นั่งลงกินข้าวลูก เดี๋ยวพ่อเปิดยูทูปให้ดู
เด็กชาย : (เด็กชายยอมนั่งลงกินข้าว)

 

 

ทั้งหมดทั้งมวล ไม่ว่าจะเป็นการไปโรงเรียน การกินข้าว หรือกิจวัตรประจำวันอื่น ๆ ล้วนแล้วเเต่เป็นสิ่งที่เด็กชายต้องทำอยู่แล้ว เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้คุณภาพชีวิตของเขาดี แต่ผู้ใหญ่สร้างระบบ “สินบน” และ “รางวัล” ขึ้นมากับวินัยเหล่านี้ เขาจึงทำเพื่อรางวัล หรือเมื่อมีคนมาต่อรองกับเขา ไม่ใช่ทำเพราะเป็นหน้าที่ของตน

“เด็กติดรางวัล” หรือ “เด็กติดสินบน” เกิดขึ้นเพราะผู้ใหญ่

ดังนั้นสิ่งสำคัญที่ผู้ใหญ่ควรทำความเข้าใจ

 

การให้รางวัลต่างกับการติดสินบน

“การให้รางวัล” นั้นเป็นวิธีการชื่นชมเด็กทางหนึ่ง แต่เราควรให้รางวัลเมื่อเด็กทำบางสิ่งด้วยความพยายามอย่างเต็มกำลัง กล้าเผชิญหน้ากับความกลัวหรือสิ่งที่ยากสำหรับตน ทำสิ่งดี ๆ เพื่อผู้อื่น ในกรณีเหล่านี้เราสามารถให้รางวัลกับเด็กได้ถ้าเราต้องการ แต่รางวัลที่ดีที่สุดสำหรับเด็กไม่ใช่ของเล่นหรือสิ่งของราคาแพง แต่เป็นความรักและการสนับสนุนจากพ่อแม่ของเขา

 

 

นอกจากนี้ หากต้องการซื้อของให้ลูก บางครั้งที่ไม่ใช่โอกาสพิเศษ อย่างเช่น วันเกิด วันเรียนจบ หรืออื่น ๆ เราอาจจะไม่จำเป็นต้องซื้อให้เขาทุกครั้งที่เขาอยากได้ เพื่อให้เด็กเรียนรู้การรอคอยและการอดออม ที่สำคัญเพื่อให้เขาเห็นคุณค่าของข้าวของที่เขามีอยู่ และเมื่อนานทีพ่อแม่จะซื้อให้หรือเก็บเงินซื้อเอง เด็กมีแนวโน้มจะเห็นคุณค่าของของชิ้นนั้นมากกว่า

 

รางวัลมีไว้สำหรับโอกาสพิเศษและความพยายาม

รางวัลไม่ควรมีไว้สำหรับทุกกิจวัตรประจำวันที่เป็นหน้าที่ของเด็ก เช่น ตื่นนอน ล้างหน้า แปรงฟัน แต่งตัว กินข้าว ใส่รองเท้า ไปโรงเรียน ทำการบ้าน ทำงานบ้าน เข้านอน และอื่น ๆ สิ่งเหล่านี้เราไม่ควรให้รางวัลกับเด็กทุกครั้ง เพราะเด็กควรเรียนรู้ว่า นี่คือ “หน้าที่” ไม่ใช่สิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องมีข้อแลกเปลี่ยน ติดสินบน ให้รางวัล (หรือจ้าง) ให้เขาทำ เราควรชื่นชมทางวาจา หรือการสัมผัสเขาด้วยความรัก (กอด หอม และอื่น ) เมื่อเขาทำได้ ไม่ใช่การให้รางวัลกับเขาตลอดเวลา

 

รางวัลหรือสินบนที่ผู้ใหญ่อาจจะให้เด็กโดยไม่รู้ตัว

การดูยูทูปหรือเล่นหน้าจอ ผู้ใหญ่ติดสินบนด้วยสิ่งนี้เมื่อต้องการให้เขา นิ่ง รอ กินข้าว หรือ แม้กระทั่งแต่งตัว นอกจากนี้ยังมีรางวัลให้รูปแบบของของกินที่เด็กชอบ และของเล่นอื่น ๆ ที่ผู้ใหญ่มักเอามาต่อรองเมื่อต้องการให้เด็กทำ(หน้าที่)อะไรสักอย่าง

 

ด้วยเหตุนี้ ผู้ใหญ่ควรหยุดให้รางวัลและติดสินบนกับเด็ก ในสิ่งที่เด็กควรทำด้วตัวเขาเอง หน้าที่(ตามวัย) คือ สิ่งที่เด็กต้องเรียนรู้ที่จะรับผิดชอบ ไม่ใช่ต้องทำเมื่อมีสิ่งแลกเปลี่ยน ปลายทางของเด็กติดรางวัลหลายคน มักจบลงที่ผู้ใหญ่ไม่สามารถหารางวัลหรือมีข้อต่อรองที่เขาสนใจได้ เด็กจะหยุดทำหน้าที่ของตนทันที เช่น หยุดไปโรงเรียน หยุดทำการบ้านส่งครู หยุดทำงาน และอื่น ๆ

 

การต่อรองกับตกลงกันไว้ก่อนต่างกันอย่างไร

“การตกลงกันไว้ก่อน” ​จะเกิดก่อนเด็กมีพฤติกรรม เช่น ตกลงกันไว้ว่า ถ้ากินข้าวเสร็จลูกสามารถกินขนมได้ อันนี้ไม่ใช่รางวัล แต่เป็นลำดับที่แน่ชัด เด็กรู้ว่าก่อนหลังคืออะไร เขาต้องอดเปรี้ยวไว้กินหวาน

 

ในทางกลับกัน “การติดสินบน”​ จะเกิดขึ้นหลังจากที่เด็กเกิดพฤติกรรมแล้วเราจึงเข้าไปต่อรอง เช่น ลูกไม่ยอมกินข้าว แม่จึงเข้าไปบอลูกว่า กินแล้วได้กินขนมนะคะ นั่นคือการติดสินบน เขาจะทำพฤติกรรมเช่นนี้อีกเพื่อรอให้เราเข้าไปต่อรองเขา

 

สุดท้าย ผู้ใหญ่ไม่มีทางต่อรองหรือให้รางวัลเพื่อให้เด็กทำอะไรสักอย่างไปตลอดชีวิตของเขา เพราะความต้องการของมนุษย์ไม่มีวันสิ้นสุด เราไม่ควรสอนเด็กว่า “เขาควรทำอะไรสักอย่างเมื่อข้อเเลกเปลี่ยนเท่านั้น” เราควรสร้างเด็กที่รู้จักหน้าที่ของตน ในวันที่เขาไม่อยากทำ แต่เขาจะลุกขึ้นมาทำสิ่งนั้นเพื่อตัวเขาเอง

 

...”ผู้ใหญ่เองก็เช่นกัน อย่ารอให้เด็กทำอะไรสักอย่าง เพื่อเราจะแสดงความรักต่อเขา ความรักจากพ่อแม่ไม่ควรมีเงื่อนไขกับลูก ลูกไม่ควรต้องทำอะไรเพื่อได้รับความรักจากเรา”...