247
เลี้ยงลูกไม่ให้ก้าวร้าว

เลี้ยงลูกไม่ให้ก้าวร้าว

โพสต์เมื่อวันที่ : January 12, 2022

ปัญหาวัยรุ่นก้าวร้าว เป็นปัญหาใหญ่ในสังคม การเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม หลายครั้งเป็นสาเหตุสำคัญของการบ่มเพาะความรุนแรงในตัวเด็ก เรามาดูวิธีการเลี้ยงลูกที่จะทำให้ลูกสามารถลดความก้าวร้าวได้ ที่หลายอย่างมีงานวิจัยรับรองทางวิทยาศาสตร์กันนะคะ

 

❤︎ ให้ความรักโดยเฉพาะใน "ช่วงต้นของชีวิต" ❤︎

พ่อแม่หลายคนเข้าใจผิด ว่าเด็กเล็ก ๆ ยังไม่รู้เรื่องส่งไปให้คนอื่นเลี้ยง ทั้ง ๆ ที่การตอบสนองที่เหมาะสม การเลี้ยงดูใกล้ชิด มีผลต่อความ "เชื่อใจ" (trust) ที่เด็กจะมีให้กับโลก เด็กที่รู้สึกว่าโลกช่างไม่ปลอดภัย พัฒนา"ตัวตน" ในช่วงต้นของชีวิตได้ไม่ดี มีผลต่อการพัฒนาความก้าวร้าวรุนแรง

 

❤︎ เป็นตัวอย่างที่ดี ❤︎

เด็กที่โตมากับความรุนแรง เด็กถูกตี ถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจ เด็กที่โตมากับพ่อแม่ที่ใช้อารมณ์และใช้ความรุนแรงเลี้ยงดู มีผลต่อการพัฒนาความรุนแรง เด็กที่โตมาแบบถูกละเมิดสิทธิ จะไม่เข้าใจสิทธิผู้อื่น

 

 

❤︎ กำหนดกติกา ไม่คอยตามใจ ❤︎

เด็กที่ถูกพ่อแม่ตามใจ อยากได้อะไรก็ได้หมด ไม่เคยฝึกรอคอย ควบคุมอารมณ์และความต้องการ ไม่มีวินัยในชีวิต จะชอบใช้ "ทางลัด" ในการจัดการปัญหาชีวิต

 

❤︎ ไม่คอยแก้ปัญหาให้ ❤︎

พ่อแม่หลายคนไม่ปล่อยให้ลูกได้เรียนรู้ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น คอยเข้าข้างและแก้ปัญหาให้เสมอ ทำให้โตมาแบบคิดไม่ได้ว่าสิ่งที่ทำจะนำมาซึ่งปัญหาอะไรข้างหน้า

 

❤︎ เลี้ยงลูกด้วยการแสดงความ "เข้าใจ" ❤︎

เด็กที่ขาดพ่อแม่ที่คอยเข้าใจ ใส่ใจ ความสุขความทุกข์ในชีวิต เด็กที่ไม่เคยถูก "รับฟัง" ความรู้สึกในชีวิต มีผลต่อการขาดความเห็นใจในความรู้สึกผู้อื่น

 

❤︎ สอนลูกให้รู้จักอารมณ์และจัดการความรู้สึก ❤︎

“แม่เข้าใจเลย ที่หนูรู้สึกโกรธ ที่น้องเข้ามาทำให้ของพัง แต่เราไม่ทำร้ายคนอื่น ถ้าหนูยังโกรธมาก ลองมาขีด ๆ ที่กระดาษนี้ดูมั้ย”

 

 

❤︎ เลือกสื่อเทคโนโลยีที่เหมาะสม ❤︎

สื่อที่มีความรุนแรง เป็น "ความปกติ" (เช่น ละครไทย ข่าว เกมที่มีความรุนแรง) การเสพซ้ำ ๆ ทำให้เกิดความรุนแรงในเด็กบางคนได้

 

❤︎ เลี่ยงการใช้สารเสพติดในครอบครัว ❤︎

เหล้า ยาเสพติดของคนใกล้ชิด มีผลต่อการพัฒนาความรุนแรงในเด็ก

 

❤︎ สร้างความนับถือตัวเอง ❤︎

ทำให้ลูกรู้ว่าลูกเป็นคนที่ใช้ได้ มีความหมาย และเป็นที่รัก 

 

 

❤︎ ไม่มองการแกล้ง แหย่ เป็นเรื่องปกติ ❤︎

มีงานวิจัยพบว่าเด็กที่ชอบแกล้งคนอื่น หรือโตมาแบบรู้สึกว่าการล้อแกล้งกันมันเป็นเรื่องธรรมดา (หรือโตมากับผู้ใหญ่ชอบแกล้ง) มีความสัมพันธ์กับการกลายเป็นผู้ก่ออาชญากรรม

 

❤︎ พาลูกทำจิตอาสา ❤︎

การทำจิตอาสาจะทำให้เราเข้าใจความหมายของตัวเรากับผู้อื่น

 

❤︎ รีบพาลูกพบผู้เชี่ยวชาญในกรณีที่มีปัญหา ❤︎

เด็กบางคนที่มีปัญหาเฉพาะตน เช่น สมาธิสั้น ขาดทักษะทางภาษาและสังคม วิตกกังวล ซึมเศร้า มีความเสี่ยงต่อความก้าวร้าวรุนแรง

 

การเลี้ยงดู สร้างผลลัพธ์จากการถูกหล่อหลอมเสมอ "รักลูก" ไม่อยากให้ลูกลุกขึ้นมาทำร้ายใคร สิ่งหนึ่งที่เราอาจช่วยได้ "การเลี้ยงดูที่ไม่ทำร้ายกัน"