ข่าวประชาสัมพันธ์ : คิดคลับส์ ชวนเที่ยว Astro Night Family Camp
ชวนคู่พ่อลูก อายุ 6 - 12 ปี มาร่วมสร้างช่วงเวลาแห่งความประทับใจกับกิจกรรม Astro Night Family Camp
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) มีการคาดการณ์ว่าจำนวนประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 3 ต่อปี โดยในปี พ.ศ. 2573 คาดว่าจะมีจำนวนประชากรสูงอายุมากถึงประมาณ 1.4 พันล้านคน
สำหรับประเทศไทยนั้น จำนวนผู้สูงอายุมีตัวเลขเทียบเท่ากับประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศซึ่งถือว่ามีอัตราการเติบโตเป็นอันดับ 3 ในทวีปเอเชีย รองมาจากประเทศเกาหลีใต้ และประเทศญี่ปุ่น
ขณะที่ตัวเลขของกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2562 พบว่า ประเทศไทยมีประชากรทั้งสิ้น 66.5 ล้านคน เฉพาะผู้สูงอายุมีมากถึง 11.1 ล้านคนหรือคิดเป็น 16.73 %
ส่วนสำนักงานสถิติแห่งชาติ คาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัวในปี พ.ศ.2565 และในปี พ.ศ. 2573 จะมีสัดส่วนประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 26.9 ของประชากรทั้งประเทศ
...สรุปก็คือประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว...
ในขณะที่อัตราการเกิดของเด็กน้อยลง ตัวเลขจากกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ข้อมูลทางสถิติย้อนหลัง 3 ปี พบว่า ปี 2563 จำนวนการเกิดของเด็กไทย ลดต่ำกว่า 600,000 คนเป็นครั้งแรก และมีแนวโน้มจะลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง
สรุปก็คือโอกาสที่เด็กและผู้สูงวัยจะได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันภายในครอบครัวจะมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งก็น่าจะเป็นเรื่องยินดี และเป็นเรื่องปกติ แต่ที่ไม่ปกติก็เพราะมักจะมีปัญหากันเสมอระหว่างคน 2 รุ่น โดยเฉพาะผู้สูงวัยกับเด็กวัยรุ่น อันเนื่องมาจากยุคสมัยที่แตกต่างกัน วัย ความรับรู้ ประสบการณ์ และการถูกบ่มเพาะเลี้ยงดูในแต่ละยุคสมัยที่เติบโตขึ้นมาก็แตกต่างกัน ผู้สูงวัยอยู่ในยุคอนาล็อค ในขณะที่เด็กยุคนี้เติบโตขึ้นมากับเทคโนโลยี แล้วจะทำอย่างไรให้คนข้ามรุ่นสามารถอยู่ร่วมกันได้แบบสันติสุขและมีความสุข
โดยธรรมชาติคนที่เป็นปู่ย่าตายายมักจะรักและห่วงใยหลานมากกว่าลูกเสียอีก ความรักเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติหรือสัญชาติญาณมนุษย์ ยิ่งถ้าหลานเอาอกเอาใจ ท่านก็จะยิ่งแสดงความรักมากขึ้นไปอีก
แต่ด้วยวัยก็อาจทำให้ท่านมีท่าทีหรือการแสดงออกที่ทำให้หลานไม่อยากเข้าใกล้ ในขณะที่หลานเองที่ต้องการความอิสระ ไม่ชอบการแสดงออกในรูปแบบที่ปู่ย่าตายายแสดงออกได้ จึงทำให้เกิดปัญหาไม่อยากเข้าใกล้ หรือกลายเป็นไม้เบื่อไม้เบาก็มี
ด้วยความไม่เข้าใจกันระหว่างผู้สูงอายุและลูกหลาน ซึ่งปัญหาเหล่านี้ ดูเหมือนจะเป็นเรื่องเล็ก แต่ทำให้ขัดแย้งกันบ่อย ทำให้เครียด ไม่มีความสุขด้วยกันทุกฝ่าย จึงเป็นเรื่องของคนเป็นพ่อแม่ หรือลูก ที่ควรทำหน้าที่เป็นเหมือนตัวเชื่อมให้ปู่ย่าตายายและหลานได้สร้างสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน มีความเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน โดยเริ่มจากการทำความเข้าใจให้หลานได้เข้าใจผู้สูงวัย
❤︎ ขี้น้อยใจ อาการหนึ่งที่ผู้สูงอายุมักเป็นแบบที่ลูกหลานไม่รู้ก็คือ ขี้น้อยใจ เพราะบางทีพฤติกรรมของหลานบางประการที่ทำให้ผู้สูงวัยไม่ชอบใจ เช่น พูดไม่ฟัง และเมื่อแสดงออกมา แล้วลูกหลานมีท่าทีไม่พอใจ หรือดุท่าน ท่านก็จะมีพฤติกรรมน้อยใจ
❤︎ จู้จี้จุกจิกขี้บ่น แทบเป็นเรื่องปกติของผู้สูงวัยที่มักจะติดนิสัยขี้บ่น หรือจู้จี้จุกจิกหลาน ยิ่งถ้าหลานไม่ได้ดั่งใจท่านก็อาจจะมีอาการมากหน่อย
❤︎ ถูกใจยาก ยุคสมัยเปลี่ยนไป แต่ท่านยังติดพฤติกรรมบางอย่างที่เคยชิน เคยทำเป็นประจำ ฉะนั้น เวลามีสิ่งใหม่ ๆ ท่านมักจะปฏิเสธ และถูกใจกับเรื่องต่าง ๆ ยาก หรือชอบปฏิเสธไว้ก่อน โดยเฉพาะคำว่าไม่ มักจะบอกว่า ไม่เป็นไร ไม่ปวด ไม่… ฯลฯ ที่เป็นเช่นนี้เพราะกลัวลูกจะเสียเงิน หรือเสียเวลา ประมาณว่าเกรงใจลูกนั่นแหละ
❤︎ อวัยวะร่างกายเริ่มเสื่อม ด้วยวัยก็แน่นอนว่าอวัยวะในร่างกายก็จะค่อย ๆ เสื่อมถอย เช่น เดินได้ช้าลง หูไม่ค่อยได้ยิน เพราะปราสาทหูเริ่มเสื่อม บางทีหลานพูดด้วย ท่านอาจถามหลายครั้ง ถ้าหลานไม่เข้าใจแล้วดุท่าน ก็อาจทำให้ท่านน้อยใจได้
อาการเหล่านี้เกิดขึ้นกับผู้สูงวัยแน่นอน เป็นเรื่องที่คนเป็นลูก หรือคนเป็นพ่อแม่ที่ต้องสื่อสารกับลูกหรือรุ่นหลานให้ได้เข้าใจถึงวัยของท่าน และพยายามสื่อสารให้เด็กเข้าใจ ว่าวันหนึ่งพ่อแม่ก็อาจมีอาการดังกล่าวได้
ขณะเดียวกันคนรุ่นพ่อแม่ก็ต้องพยายามสื่อสารให้ปู่ย่าตายายได้เข้าใจยุคสมัยของหลานด้วย และบอกถึงลักษณะของหลานให้เข้าใจว่ามีพฤติกรรมที่อาจทำให้ท่านไม่สบายใจได้บ้าง แล้วพ่อแม่ก็พยายามหากิจกรรมที่สามารถทำร่วมกันได้ทั้งสามรุ่นเพื่อเชื่อมสัมพันธภาพ เช่น ทำอาหาร
ที่สำคัญพ่อแม่ควรพยายามโน้มน้าวให้หลานเข้าใจผู้สูงวัย และเป็นฝ่ายปรับตัวเข้าหาท่าน ถ้ามีการฝึกมาตั้งแต่เล็ก ก็จะทำให้การอยู่ร่วมกันปกติสุข แต่ถ้าหลานโตแล้ว ก็อาจต้องใช้ความพยายามมากหน่อยในการทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการสื่อสาร ทำกิจกรรมสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นในครอบครัวที่มีคนสามรุ่นอยู่ด้วยกัน อย่าลืมว่าทั้งปู่ย่าตายายและลูกของเราก็ล้วนแล้วเป็นแก้วตาดวงใจของเรา ถ้าต้องใช้ความพยายามในการเชื่อมสัมพันธภาพก็เป็นเรื่องที่ดีต่อทุกคนมิใช่หรือ !