518
“ลูกขี้อาย-ลูกไม่มั่นใจ-ลูกกังวล” สาเหตุและการช่วยเหลือ

“ลูกขี้อาย-ลูกไม่มั่นใจ-ลูกกังวล” สาเหตุและการช่วยเหลือ

โพสต์เมื่อวันที่ : February 25, 2022

เด็กวัยอนุบาลเรายังพบเห็นความขี้อายได้เป็นเรื่องปกติ เด็กอาจอายเวลาพบคนที่ไม่รู้จัก โดยจะยืนอยู่ข้างหลังแม่ หรือเมื่อเริ่มเข้าโรงเรียน ก็จะไม่เข้าไปเล่นกับเพื่อน อยู่ในห้องก็จะพูดน้อย ไม่กล้าตอบคุณครู 

 

โดยทั่วไปความขี้อายนี้จะค่อย ๆ ดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป 1-2 เดือน เด็กจะค่อย ๆ ปรับตัวให้คุ้นเคยกับสิ่งแวดล้อมใหม่ ครูใหม่ เพื่อนใหม่ได้ แต่หากพบว่าเด็กยังมีปัญหาไม่ค่อยพูด ไม่ค่อยเล่นกับเพื่อน มีโลกส่วนตัวอยู่ แปลว่าเด็กไม่ได้เป็นกลุ่ม slow to warm up ที่จะค่อย ๆ ปรับตัวได้ในที่สุด เด็กอาจมีปัญหาอย่างอื่นที่เรายังไม่ได้แก้ไข 

 

เช่น เด็กอาจมีความรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเองน้อย (self esteem ต่ำ) เมื่อรู้สึกไม่มั่นใจ, ไม่รู้สึกว่าตัวเองมีความสามารถเป็นที่ยอมรับ ก็จะคงพฤติกรรมขี้อาย พูดน้อยและไม่ค่อยตอบคำถามคุณครู

 

 

ส่วนใหญ่สาเหตุนี้ก็เกิดจากการเลี้ยงดู เด็กมักถูกบ่น ถูกว่า ถูกห้ามเป็นประจำ ทำให้เด็กไม่รับรู้ว่าตนเองมีความสามารถ และผู้ปกครองก็ไม่ค่อยมีเวลาเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาที่เด็กกำลังเผชิญอยู่ 

 

เช่น ทะเลาะกับพี่แล้วต้องแก้ปัญหาเอง ทั้ง ๆ ก็ไม่ได้มีทักษะในการแก้ปัญหา จึงต้องยอมบ่อย ๆ หรือในทางตรงกันข้าม ก็ใช้อารมณ์แก้ปัญหา จนทำให้พ่อแม่ต้องเข้ามาดุแล้วก็เกิดความรู้สึกแย่กับตนเองอีก การจมอยู่กับปัญหาเดิม ๆ แก้ไขไม่ได้และโดนดุซ้ำ ทำให้เด็กรู้สึกว่าตนเองไม่มีความสามารถ และไม่มีคุณค่าได้นะคะ 

หมอพบเด็กกลุ่มนี้บ่อย ๆ ค่ะ ช่วงเวลาแรก ๆ เด็กจะไม่ปฏิสัมพันธ์กับหมอเลย ใช้เวลาครู่ใหญ่เลยทีเดียว เด็กถึงจะเข้ามาใกล้และเริ่มสนใจของเล่นที่หมอเล่นอยู่ กว่าเด็กจะเอ่ยปากคุยกับหมอก็ใช้เวลานาน เวลาออกเสียงก็จะพูดน้อย พูดเบาไม่มั่นใจ เพราะกังวลว่าจะพูดอะไรผิด หรือทำอะไรผิดหรือเปล่า

 

เด็กกลุ่มนี้น่าเห็นใจนะคะ ตัวเด็กเองก็ต้องการเล่นกับเพื่อนไม่แตกต่างจากเด็กคนอื่น แต่ความไม่มั่นใจเป็นกำแพงที่กั้นเขาอยู่ ความไม่มั่นใจก็มาจากการมองตนเองว่าทำผิดบ่อย ไม่ค่อยมีความสามารถ หากพ่อแม่ไม่เข้าใจ บังคับเด็กให้พูด บังคับให้เล่นกับเพื่อน เด็กก็จะยิ่งกังวลมากขึ้น  

 

 

ปัญหาจริง ๆ จึงไม่ได้อยู่ที่เด็กไม่อยากเล่นกับเพื่อน หรือไม่อยากคุยกับครู ปัญหาอยู่ที่จิตใจข้างในลึก ๆ เราจึงต้องช่วยเด็กในระดับลึก ให้เด็กมีความรู้สึกมั่นใจในตัวเอง ให้เด็กรับรู้ว่าเขาก็มีศักยภาพมากพอ และสามารถแก้ไขปัญหาหลาย ๆ อย่างได้ พ่อแม่จึงต้องลงมาช่วยเด็กผ่านการเลี้ยงดูในชีวิตประจำวันค่ะ

 

❤︎ ลดการห้ามและคำบ่น ❤︎

คำบ่นต่าง ๆ ที่ไม่ช่วยให้เด็กดีขึ้น ถ้าจะสั่งเด็กก็ควรต้องเผื่อวิธีการที่จะช่วยให้เด็กทำตามสั่งได้ด้วย เช่น จะสั่งให้เด็กเก็บของเล่นก็ต้องคิดเผื่อว่า ถ้าเด็กไม่เก็บของเล่นเราจะเข้าไปช่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ ด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อให้เด็กรู้สึกภูมิใจที่สามารถทำได้ และถ้าอยู่บ้านแล้วโดนห้ามบ่อย ๆ ก็ต้องหาพื้นที่ให้เด็กปลดปล่อย ให้เด็กวิ่งเล่น ปีนป่ายได้ โดยเราไม่ต้องห้าม 

 

...”อยากให้ลูกมองตนเองมีคุณค่า ก็ต้องลดคำห้ามและสอนให้ทำเป็นจนสำเร็จนะคะ”...

❤︎ พ่อแม่ต้องให้เด็กช่วยเหลือตนเอง ❤︎

มอบงานที่เด็กสามารถทำได้ทุกวัน และพ่อแม่ต้องอยู่ช่วยจนทำสำเร็จด้วยเพื่อให้เด็กเรียนรู้วิธีแก้ปัญหาจากอุปสรรคต่าง ๆ จนสร้างความมั่นใจให้ลูกได้

 

งานบ้านดีที่สุด เพราะมีมากมายและทำทุกวัน เช่น มอบหมายให้เด็กล้างจาน พ่อแม่ก็ต้องช่วยสอนให้เด็กทำเป็น (ดูอายุลูกด้วยนะคะ) และทำจนเสร็จด้วย ข้อนี้เราเน้นสร้างความมั่นใจ

 

ดังนั้นพ่อแม่จึงต้องซอยงานที่ยากเกินอายุ ให้ทำในส่วนที่เด็กทำได้จนสำเร็จก่อน เช่น ล้างน้ำเปล่าให้สะอาดจนเป็นก่อน วันถัด ๆ ไป ค่อยสอนล้างด้วยน้ำยาล้างจาน พ่อแม่ต้องไม่บ่นและไม่กดดันในระหว่างที่สอน ใจเย็น ๆ หมั่นชื่นชมเป็นระยะ ๆ ชมในความพยายามและความสำเร็จของลูก 

 

...”อยากให้ลูกมั่นใจ ต้องให้ลูกมีประสบการณ์ทำงานทั้งที่ชอบและไม่ชอบจนสำเร็จ และควรยากขึ้น ๆ ไปเรื่อย ๆ (ของง่าย ๆ ทำแป๊บเดียวเสร็จ ทำเป็นประจำแล้ว มักจะไม่ช่วยสร้างความภูมิใจเท่าไรค่ะ)”...

 

❤︎ ไม่บังคับให้เด็กเข้าสังคม แต่ต้องสนับสนุนให้เกิดโอกาส ❤︎

หมายความว่าเราไม่ยอมรับการให้ลูกเล่นคนเดียวตลอดเวลา ควรชวนลูกไปเล่นกับเพื่อน จะกลุ่มใหญ่ กลุ่มเล็กก็ไปเถอะค่ะ และให้เวลาเด็กปรับตัว ไม่บังคับ ไม่ขู่ สอนคำพูดง่าย ๆ เพื่อให้เด็กใช้คุยกับเพื่อนได้ เช่น “เล่นด้วยนะ” “ขอบคุณนะ” ข้อนี้สำคัญตรงโอกาสที่เด็กจะได้พบเจอเด็กอื่น, ได้คุณชินกับบรรยากาศที่มีเด็กเยอะแยะ 

 

...”อยากให้ลูกเข้าสังคมกับเพื่อนได้ ก็ต้องเน้นสร้างโอกาสบ่อย ๆ แต่ไม่เน้นบังคับ”...

 

อย่าคาดหวังว่าทำข้อ 3 อย่างเดียวแล้ว ลูกจะสามารถเล่นกับเพื่อนได้ โอกาสเป็นไปได้น้อยมากค่ะ หากข้อ 1 และข้อ 2 ยังไม่ได้ถูกแก้ไข พ่อแม่อย่าโฟกัสแต่เรื่อง “ขี้อาย” ซึ่งเกิดนอกบ้าน ทำให้หลอกตาพ่อแม่ว่าต้องแก้ไขนอกบ้าน จริง ๆ ปัญหาหลักมาจากจิตใจของลูกที่เกิดจากการเลี้ยงดูในบ้าน

 

เคสส่วนใหญ่ ถ้าทำครบ 3 ข้อก็มักจะตอบสนองดี ลูกจะค่อย ๆ ดีขึ้น ปรับตัวได้ คุยและเล่นกับเพื่อนได้ปกติ ถ้าเกิดว่าไปที่โรงเรียนแล้วก็จะให้คุณครูร่วมมือด้วย แต่หากพ่อแม่ไม่เข้าใจ ใช้วิธีบังคับเด็ก ขู่เด็ก และยังคงวิธีเลี้ยงแบบดุห้าม บ่น เหมือนเดิม ก็จะยิ่งทำให้เด็กมีความวิตกกังวลมากขึ้น กลายเป็นเด็กมีความวิตกกังวลสูง หากเรื้อรังก็จะพัฒนาเป็นโรควิตกกังวลในวัยรุ่นได้

 

*****หมายเหตุ***** มีบางเคสที่มีสาเหตุจากอย่างอื่น เช่น เด็กมีปัญหาการสื่อสารบกพร่อง เมื่อสื่อสารได้น้อย เวลาพูดคุยกับเพื่อน ก็เกิดความไม่เข้าใจ ลูกเราอาจไม่เข้าใจเพื่อน หรือเพื่อนอาจไม่เข้าใจลูก ก็ลดโอกาสเล่นด้วยกัน หรือบางเคสก็พบว่าเป็นโรคออทิสติก ซึ่งการรักษาเคสเหล่านี้ มีรายละเอียดอย่างอื่นเพิ่มเติมค่ะ

 

...”ลูกขี้อาย วิตกกังวล แก้ไขด้วยความเข้าใจและสร้างความมั่นใจค่ะ”...