
เพราะเด็กไม่ใช่ผ้าขาวเสมอไป : เข้าใจพื้นฐานทางอารมณ์ กุญแจสำคัญสู่การเติบโตอย่างมีความสุข
การเข้าใจพื้นฐานทางอารมณ์ของเด็กช่วยให้การเติบโตไปด้วยกันง่ายขึ้น
หากลูกมีประสบการณ์ฟังนิทานจนจบ จะทำให้ลูกรู้ว่าอ่านให้ "จบเล่ม" คือยังไง และครั้งต่อไป เมื่อพ่อแม่บอกว่า “อ่านเล่มนี้ให้จบก่อนค่อยเปลี่ยนเล่ม” ลูกจะเข้าใจง่ายขึ้น
อย่าลืมว่า เด็กเล็กไม่สามารถเข้าใจคำพูดของผู้ใหญ่ได้โดยอัตโนมัติประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเองต่างหากที่จะช่วยให้ลูกเข้าใจความหมายที่พ่อแม่บอกได้ ดังนั้น คำว่า “อ่านให้จบเล่ม” ของพ่อแม่ เด็กควรเข้าใจว่าพ่อแม่หมายถึง “เราจะพลิกจนถึงหน้าสุดท้าย และทุก ๆ หน้าลูกก็ต้องตั้งใจฟัง ไม่ใช่พลิกอย่างเดียว”
“การฟังนิทานจนจบเล่ม” จะช่วยสร้างสมาธิและทักษะการฟังลูก หากลูกของคุณพ่อคุณแม่ ไม่ค่อยอยู่นิ่ง ชอบเปลี่ยนเล่มก่อนจบทุกที เรามาช่วยลูกมีประสบการณ์ฟังนิทานจนจบดีกว่า แต่มีเงื่อนไขสำคัญ คือ ห้ามบังคับ ห้ามดุ และไม่ต้องเตือนให้จบเล่มด้วยนะคะ
วิธีเล่านิทานให้ลูกสนใจฟังจนจบเล่ม
❤︎ 1. เปลี่ยนจากอ่านทีละตัว มาเล่าเรื่องตามภาพ ❤︎
อย่าลืมนะคะว่า เด็กมองภาพ ไม่ได้มองตัวอักษร หากพ่อแม่เล่าเรื่องตามภาพจะดึงดูดให้เด็กสนใจมากกว่า เพราะเด็กรู้สึกว่าภาพที่เขากำลังมองถูกตอบสนองด้วยเสียงเล่าของพ่อแม่
❤︎ 2. เล่าให้สนุก ถ้ายังไม่สนใจอีก สนุกขึ้นไปอีก ❤︎
สีหน้าท่าทาง รวมทั้งน้ำเสียงของคุณพ่อคุณแม่จะดึงดูดให้เด็กสนใจได้ดี ซึ่งเด็กบางคนก็ต้องเล่นใหญ่เลยนะคะ
❤︎ 3. เก็บของเล่นรอบตัวเด็กใส่กล่องมิดชิด ❤︎
ของเล่นต้องไม่อยู่ใกล้มือ ลดการวอกแวก ไม่เช่นนั้น ลูกจะคอยเดินไปเล่นของเล่น และแนะนำให้ลูกหยิบหนังสือมาอ่านทีละเล่ม อ่านเสร็จก็ไปเก็บ แล้วค่อยหยิบเล่มใหม่ อย่ากองไว้เยอะ ๆใกล้ตัว เพราะเด็กอาจจ้องเล่มใหม่ แทนที่จะสนใจฟังเล่มเดิมให้จบ
ถ้ามีลูกหลายคน คนที่ไม่ค่อยอยู่ฟัง พ่อแม่จะต้องช่วยเขาโดยมีเวลามาอ่านนิทานกับเขาเดี่ยว ๆ เพราะคนที่สนใจฟังดีมักพูดเยอะ,ถามเยอะ ทำให้คนที่ไม่สนใจวอกแวก และเลิกสนใจฟังนิทานได้
❤︎ 4. ชวนลูกตอบเรื่องราวในนิทาน ❤︎
การดึงให้ลูกให้มีส่วนร่วม จะทำให้ลูกจดจ่อมากขึ้น เพราะรู้สึกอินกับเรื่องมากกว่านั่งฟังอย่างเดียว และหากลูกตอบไม่ได้ ก็ควรใบ้หรือเฉลย เพื่อให้ความสนใจของลูกได้รับการตอบสนองต่อเนื่อง ลูกจะอยากฟังต่อค่ะ
❤︎ 5. จับนิ้วลูกมาชี้ภาพแทนนิ้วเรา ❤︎
บ่อยครั้งเลยค่ะ ที่เด็กเริ่มสนใจนิทาน เพราะนิ้วของเขาจิ้มไปที่ตัวการ์ตูนในภาพ พ่อแม่ก็เล่าสนุกสนานไปตามเดิม เพียงแต่ให้นิ้วลูกช่วยเดินเรื่องแทนนิ้วเรา
❤︎ 6. พยายามเล่าให้จบ ❤︎
พ่อแม่ควรให้ความสำคัญกับการอ่านให้จบ เพื่อให้ลูกรู้จักคำว่า “อ่านจบเล่ม” เมื่อลูกชินแล้ว ค่อยโฟกัสความเข้าใจในนิทานก็ได้ ไม่ได้สายเกินไป เพราะถ้าลูกมีสมาธิในการฟัง จะช่วยให้ลูกทำความเข้าใจเรื่องราวได้ง่ายกว่ากรณีไม่มีสมาธิฟัง
❤︎ 7. อย่าบังคับให้อ่านจบเล่ม ❤︎
อย่าบ่น อย่าเซ้าซี้ เพราะประสบการณ์ที่ไม่ดี จะทำให้ลูกหนีช่วงเวลาอ่านนิทาน พ่อแม่ต้องพยายามทำข้อ 1-5 ต่อเนื่องไปจนจบเล่มนะคะ
เราจะเก็บเกี่ยวประโยชน์จากนิทานได้มากมาย ทั้งกระตุ้นให้ลูกพัฒนาความคิด, ทำความเข้าใจเรื่อง, ทำความเข้าใจตัวละคร, เห็นความเชื่อมโยงของแต่ละตัวละคร.. เป็นเด็กช่างสงสัย.ช่างสังเกต พ่อแม่ก็ต้องฝึกให้ลูกมีสมาธิในการฟังจนให้ได้ก่อน เราถึงจะพาลูกท่องโลกนิทานที่ซับซ้อนมากขึ้นๆได้
*****เงื่อนไขสำคัญ*****
อย่าบังคับลูก อย่าทำให้ลูกรู้สึกต่อต้าน อย่าทำให้ลูกรู้สึกแย่ต่อการฟังนิทาน ทำตามวิธี 1-5 นะคะ หากไม่สำเร็จวันนี้ ก็ต้องสำเร็จสักวันค่ะ